มนัญญา ลุย “แก้ปุ๋ยเคมี” ราคาแพง ตามนโยบาย "บิ๊กตู่" สั่ง ยังไร้ข้อสรุป

19 ก.ค. 2564 | 11:09 น.

“มนัญญา” เรียก 7 พ่อค้าปุ๋ย “แก้ปุ๋ยเคมี” ราคาแพง ตามคำสั่ง "บิ๊กตู่" นายกรัฐมนตรี หวังช่วยเหลือเกษตรกรในช่วง โควิด-19 ยังไร้ข้อสรุป ขณะที่ วงในเปิดปากพร้อมให้ความร่วมมือ ทุกรูปแบบ

 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  มีความเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จึงมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น จะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร มีความคืบหน้าตามลำดับแล้ว  

 

มนัญญา ไทยเศรษฐ์

 

นางสาว มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้ผลกระทบจากสถานการณ์ราคาปุ๋ยปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนปัจจัยการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้น พร้อมด้วย 7 บริษัทผู้ประกอบการนำเข้าปุ๋ย เข้าร่วมผ่านระบบ ZOOM MEETING  ซึ่งการหารือร่วมกันเบื้องต้น ได้ขอความร่วมมือกับบริษัทผู้นำเข้าปุ๋ย ซึ่งทุกฝ่ายยินดีรับฟังความคิดเห็น เพื่อหาทางออกร่วมกันให้เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้ โดยจะรายงานให้นายกรัฐมนตรีฯ รับทราบต่อไป

 

"ยอมรับว่าขณะนี้ปริมาณการใช้ปุ๋ยมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา และราคาปุ๋ยในท้องตลาดปรับตัวสูงขึ้นเกษตรกรมีความต้องการใช้ปุ๋ย ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกรโดยตรง จะทำอย่างไรให้เกษตรกรได้ซื้อปุ๋ยในราคาเป็นธรรมในช่วงวิกฤตินี้"

 

สำหรับภาพรวมการนำเข้าปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 ระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2564 กรมวิชาการเกษตร รายงานว่า มีปริมาณนำเข้า ปี 2563 จำนวน 1.065 ล้านตัน ปี 2564 จำนวน 1.234 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15.90% มูลค่านำเข้า ปี 2563 จำนวน 8,667.920 ล้านบาท

 

ปี 2564 จำนวน 14,015.532 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.69% อีกทั้ง ราคาเฉลี่ยต่อตัน ปี 2563 จำนวน 8,138.65 บาท ปี 2564 จำนวน 11,354.38 บาท เพิ่มขึ้น 39.51% ในส่วนของราคานำเข้า ปี 2564 ราคาสูงสุด 12,075.22 บาทต่อตัน  และราคาต่ำสุด 10,195.10 บาทต่อตัน


 

ปริมาณการนำเข้าปุ๋ยเคมีของไทย 7 ปี ย้อนหลัง

 

ด้านแหล่งข่าว 1 ใน 7 บริษัทผู้ประกอบการนำเข้าปุ๋ย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ว่า  ในเรื่องการขอความร่วมมือขอให้ช่วยเกษตรกร ทางภาคเอกชนก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับทางกระทรวง กรมวิชาการเกษตร ในการที่จะช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องคุณภาพ ราคาเป็นธรรม กล่าวคือ "ถ้าเกษตรกรอยู่ได้ พวกเราก็อยู่ได้"

 

“อย่างไรก็ดีก็ต้องขอขอบคุณรัฐมนตรี /อธิบดี/ที่ปรึกษาฯ ท่านก็เข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันที่ได้รายงานไปทั้งหมด รวมทั้งการคาดการณ์ในอนาคตของตลาดปุ๋ยเคมีจะเป็นอย่างไร ก็ยืนยันว่าพร้อมให้ความร่วมมือทุกรูปแบบ แต่วันนี้ยังไม่มีข้อสรุป ”

 

อนึ่ง บริษัทเอกชนที่หารือ  7 บริษัท ประกอบด้วย 1.บริษัท เจี๋ยไต๋  จำกัด  2.บริษัท พีซีเอ็ม(ประเทศไทย) จำกัด 3. บริษัท ปุ๋ยไวกิ้ง จำกัด 4. บริษัทไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน) 5. บริษัท เทอราโก เฟอร์ติไลเซอร์ จำกัด 6.  บริษัท ไอ ซี พี  อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 7. บริษัท ปุ๋ยมหาวงศ์ จำกัด