โรงงานสมุทรสาครโวยตั้งFAI1,500แห่งขาดหมอดูแล

22 ส.ค. 2564 | 14:40 น.

โรงงานสมุทรสาครมึน ตั้งFAIได้กว่า 1,500แห่ง แต่ขาดหมอ-พยาบาลดูแล จะใช้พนักงานด้วยกันก็ไม่มีใครอยากเสี่ยง เตรียมขอหารือจังหวัดอีกรอบ

สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 จังหวัดสมุทรสาครยังหนัก จากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19รายใหม่แต่ละวันยังอยู่ในระดับสูง แถมไม่แน่ชัดอนาคตผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นใคร เมื่อนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าฯคนปัจจุบัน ยื่นหนังสือลาออก หลังโผโยกย้ายข้าราชการกระทรวงมหาดไทยต้นเดือนตุลาคมนี้ ไม่ได้ถูกปรับย้ายไปอยู่พื้นที่ที่เบาแรงขึ้นในการรับมือโควิด-19 ตามที่เจ้าตัวร้องขอ เพื่อให้เหมาะกับสุขภาพ

ขณะที่นโยบายจัดตั้งสถานที่กักรักษาในโรงงาน(Factory Accommodation Isolation -FAI)ในโรงงานทุกแห่งที่มีลูกจ้างมากกว่า 50 คนขึ้นไป ก็กำลังมีข้อติดขัดขาดหมอพยาบาล คนดูแลหายากไม่มีใครอยากเสี่ยง การจัดสรรวัคซีนจากรัฐให้พื้นที่ 300,000 โดสในเดือนก.ค.ไม่เป็นไปตามเป้า แบกภาระหนักชุดตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง  (Antigen test kits -ATK )หายากราคาแพง เป็นต้น  

นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า   ขณะนี้ในจังหวัดสมุทรสาคร  มีโรงพยาบาลสนามในสถานประกอบการ หรือ FAI  ที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วทั้ง 3  อำเภอ  ประมาณ  1,514  แห่ง (ตัวเลข ณ กลางส.ค.2564)  และมีเตียงสำหรับให้ผู้ป่วยกักรักษาตัวรวมประมาณ  43,530  เตียง  แต่ก็พบปัญหาเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้ามาดูแล  FAI  แต่ละแห่งมีไม่เพียงพอ  

เนื่องจากตามแนวทางการจัดตั้ง  FAI  ได้ตกลงให้โรงพยาบาลที่โรงงานแต่ละแห่ง มีความผูกพันในการทำประกันสังคมให้กับคนงาน  ต้องมาเป็นโรงพยาบาลพี่เลี้ยงให้  FAI  ของโรงงานที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมนั้น ๆ ด้วย  
นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม(ส.อ.ท.)จังหวัดสมุทรสาคร

โรงงานสมุทรสาครโวยตั้งFAI1,500แห่งขาดหมอดูแล

แต่เมื่อทางโรงงานจัดตั้ง FAI ขึ้นในโรงงานแล้ว โรงพยาบาลคู่สัญญาประกันสังคมแทบทุกแห่ง ไม่สามารถจัดหาบุคลากรฯ มาดูแล  FAI  ให้ได้เพียงพอ  ดังนั้น จึงต้องเตรียมหารือกับที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครเป็นประธาน  ว่า  จะดำเนินการและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ต่อไปอย่างไร

ด้านนายแพทย์นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร  ได้เปิดเผยว่า   ปัจจุบันเป็นเรื่องยากมากในการจัดหาแพทย์  ไปคอยดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทั่วประเทศ  ดังนั้นจึงต้องเน้นการให้โรงงานเข้ามาช่วยดูแลกันเอง  โดยพัฒนาทีมดูแลผู้ป่วยของทางโรงงาน  ให้มาประจำที่  FAI  และมีโรงพยาบาลพี่เลี้ยงที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ  FAI  ของโรงงานนั้น ๆ  มาคอยให้คำปรึกษา-ดูแลการส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการหนัก  

การแก้ปัญหาผู้ป่วยเชื้อโควิด-19 ขณะนี้  มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการทางสังคมมาร่วมด้วย  ทั้งในเรื่องการปรับตัวของผู้ป่วย  การทำเตียงให้ผู้ป่วยในโรงงาน-ในชุมชน  ซึ่งระบบนี้จะมีประสิทธิภาพก็ต้องทำให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้  50%  โดยไม่ต้องเป็นภาระของแพทย์มากนัก  เพื่อให้ผู้ป่วยบางส่วนสามารถอยู่บ้านได้  เมื่อมีอาการหนักจึงส่งตัวมาที่โรงพยาบาลซึ่งเป็นศูนย์การรักษา    

“ส่วนเรื่องการจัดสรรวัคซีนชนิดต่าง ๆ  มาให้นั้น  ในช่วงต้นเดือนสค. 2564  ทางจังหวัดสมุทรสาครได้รับวัคซีนมาแล้วจำนวน  30,000 โดส  จากนั้นในช่วงกลางเดือนสค. 2564  จะได้รับวัคซีนมาเพิ่มอีก  18,000  โดส  รวมจำนวน 48,000  โดส”นายแพทย์นเรศฤทธิ์ กล่าว   
โรงงานสมุทรสาครโวยตั้งFAI1,500แห่งขาดหมอดูแล

 

ด้านนายเฉลิมพล  เนียมสกุล  แรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ได้เปิดเผยว่า  สถานที่กักตัว หรือจุดพักคอยของผู้ป่วยโรคโควิด-19  หรือโรงพยาบาลสนามในสถานประกอบการ ( Factory Accommodation Isolation : FAI )  ดำเนินการตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครได้สั่งการ ให้สถานประกอบการทุกแห่งที่มีคนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป หรือใช้เครื่องจักร 50 แรงม้าขึ้นไป ต้องจัดทำพื้นที่รองรับการกักตัวผู้ติดเชื้อของโรงงาน ให้มีเตียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และต้องเพียงพอต่อจำนวน และการแยกกักตัวของผู้ติดเชื้อในโรงงาน ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข  

โดยจะใช้บุคลากรของโรงงาน  เช่น  เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล  เจ้าหน้าที่ซึ่งดูแลคนงาน  เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัย  หรือเจ้าหน้าที่ห้องพยาบาลของโรงงาน  มาอบรมให้ความรู้ในการเข้าไปร่วมดูแลผู้ป่วยระยะสีเขียว  

โดยมีโรงพยาบาลพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษา  คอยรับการแจ้งขอความช่วยเหลือด้านการรักษา    และเมื่อผู้ป่วยที่ถูกกักตัวมีอาการหนักขึ้น  หรือเปลี่ยนสภาพเป็นผู้ป่วยสีเหลือง  ผู้ดูแลก็จะต้องติดต่อกับโรงพยาบาล หรือส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาล  ตามกระบวนการส่งต่อที่ทางจังหวัดได้กำหนดเอาไว้  

ซึ่ง FAI จะจัดตั้งในโรงงาน หรือหลายโรงงานรวมตัวกันไปจัดตั้ง ณ สถานที่ภายนอกก็ได้  เช่น  FAI ของนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร  ซึ่งอยู่ที่อาคารสถานที่จัดเลี้ยงเดิม  ย่านถนนท่าปรง  ในตำบลมหาชัย  หรือ  FAI ของนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร  ที่จัดตั้งในโรงงานว่างภายในนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร

“โดยเมื่อวันที่ 5 สค.64  ทางจังหวัดสมุทรสาคร  ได้เปิดโรงพยาบาลสนามสีเหลืองแห่งแรก  ซึ่งสามารถให้ออกซิเจนกับผู้ป่วยได้จำนวน  200  เตียง  ณ ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 10  หรือโรงพยาบาลสนามเชิงสะพานท่าจีน  ทั้งเตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามสีเหลืองอีก 2  แห่งที่  อำเภอกระทุ่มแบน  และที่อำเภอบ้านแพ้ว” นายเฉลิมพล  กล่าว