เริ่มแล้ว เอกชน 8 ราย ซื้อซองประมูล “สายสีม่วงใต้”

19 ส.ค. 2564 | 14:18 น.

รฟม.เดินหน้าประมูลสายสีม่วงใต้ วงเงิน 8.23 หมื่นล้านบาท เอกชนบุกซื้อซอง 8 ราย คาดได้ผู้ชนะประมูลปลายปี 64 ยันไม่ได้ล็อกสเปคเอกชนในไทย เผยใช้เกณฑ์ทีโออาร์70-30 เหตุแผนก่อสร้างด้านเทคนิคสูง-ดึงผู้มีประสบการณ์ร่วมทุน

นายภคพงศ์  ศิริกันทรมาศ  ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาพิเศษ) ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 8.23 หมื่นล้านบาท ว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการประกวดราคา (ประมูล) โดย รฟม. ได้เปิดจำหน่ายเอกสารการประมูลมาตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม- 7 ตุลาคมนี้ โดยปัจจุบันมีผู้ที่สนใจซื้อเอกสารประกวดราคาฯ แล้วทั้งสิ้น 8 ราย โดยแบ่งเป็นบริษัทสัญชาติไทย 6 ราย และต่างชาติ 2 ราย หลังจากสิ้นสุดการเปิดขายซองฯแล้ว จากนั้นจะให้ยื่นข้อเสนอในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 และคาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลปลายปี 2564 ลงนามสัญญาประมาณเดือนมกราคม 2565 เริ่มก่อสร้างปี 2565 และเปิดให้บริการปี 2570 

 

สำหรับกรอบเวลาการดำเนินงานยังคงเป็นไปตามแผนที่วางไว้ และเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีผู้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ โดยเฉพาะประเด็นการประมูลโดยวิธีประกวดราคานานาชาติ (ไอซีบี) แต่ รฟม. ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงไปยังผู้ตั้งข้อสังเกตแล้ว และยืนยันว่า รฟม. ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 รวมถึงกฎกระทรวง ประกาศและหนังสือเวียน ที่ออกตาม พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว

 

 

“ส่วนประเด็นที่หลักเกณฑ์ในการพิจารณากีดกันต่างชาติหรือไม่นั้น ยืนยันว่าไม่ได้กีดกัน เพราะปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติมาซื้อซองฯแล้ว 2 ราย แต่ที่ใช้เกณฑ์ใช้เกณฑ์ด้านเทคนิคประกอบเกณฑ์ราคาในสัดส่วน 30 ต่อ 70 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ มีแนวเส้นทางผ่านสถานที่สำคัญและอ่อนไหวหลายแห่ง จึงจำเป็นต้องใช้เทคนิคทางวิศวกรรมในการออกแบบและก่อสร้างขั้นสูงจากผู้รับจ้างที่มีประสบการณ์และมีสมรรถนะสูงเพียงพอเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดและสามารถดำเนินงานก่อสร้างให้สำเร็จลุล่วงเป็นไปตามแผน” 
 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เป็นโครงการรถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างนนทบุรี กับ กทม. ฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี รวมถึงสมุทรปราการเข้าด้วยกัน มีระยะทางรวม 23.6 กม. เป็นทางวิ่งใต้ดิน 13.6 กม. 10 สถานี และทางวิ่งยกระดับ 10 กม. 7 สถานี วงเงินรวม 8.23 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างงานโยธา 7.73 หมื่นล้านบาท, ค่าก่อสร้างทดแทนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ 1.33 พันล้านบาท และวงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาด 3.58 พันล้านบาท