กรมปศุสัตว์ ชี้แจงข่าวไข่ไก่เสื่อมคุณภาพ

18 ส.ค. 2564 | 10:47 น.

อธิบดีกรมปศุสัตว์ แกะรอยล้งใหญ่นครปฐม เผยผลตรวจสอบไม่พบไข่ไก่เน่าเสียเสื่อมคุณภาพ ชี้ต้นเหตุสันนิษฐานเป็นผู้ค้าหน้าใหม่ แนะผู้บริโภคมั่นใจ เลือกซื้อไข่ไก่ เก็บรักษาไข่ไก่อย่างถูกสุขอนามัย

ตามที่มีกระแสข่าวว่าพบ "ไข่ไก่" เสื่อมคุณภาพ เน่าเสีย ออกมาจำหน่ายจากผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่งผลให้ผู้ค้าไข่ไก่และผู้บริโภคมีความกังวลต่อสุขอนามัยของการผลิตไข่ไก่นั้น

ตรวจสอบย้อนกลับ บิ๊กไข่ไก่ นครปฐม

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการประสานแหล่งข่าวและลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสถานที่รวบรวมไข่ไก่ของผู้ผลิตไข่ไก่รายใหญ่ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ไม่พบมีการจำหน่ายไข่ไก่เสื่อมคุณภาพหรือเน่าเสียตามที่ปรากฏในข่าว และพบว่าสถานที่รวบรวมไข่ไก่ดังกล่าวมีระบบการผลิตที่ถูกสุขอนามัย ตามข้อกำหนดของมาตรฐาน GMP ที่กรมปศุสัตว์รับรอง และสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของไข่ไก่ได้

 

บุกลงนครปฐม

 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันไข่ไก่มีราคาดีและเป็นที่ต้องการของตลาดจากภาวะการระบาดของโควิด – 19 ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่สามารถออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้บ่อยครั้ง และประชาชนต้องอยู่บ้านมากขึ้นและมีการกักตุนไข่ไก่ไว้บริโภคในครัวเรือน จึงทำให้มีลูกค้าหน้าใหม่สนใจซื้อไข่ไก่ไปจำหน่ายในลักษณะค้าส่งและค้าปลีกมากขึ้น

นายสัตวแพทย์สรวิศ  กล่าวว่า สันนิษฐานว่าเป็นผู้ค้าหน้าใหม่ซึ่งอาจยังไม่มีความรู้เรื่องการเก็บรักษาไข่ไก่อย่างเหมาะสม ทำให้ไข่ไก่เสียหายและเสียความสดอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์จึงได้แจ้งเตือนและเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการรักษาสุขอนามัยในการผลิตไข่ไก่และให้มีการแนะนำผู้ค้ารายใหม่ให้ทราบถึงวิธีการเก็บรักษาไข่ไก่ที่ถูกสุขลักษณะเพื่อรักษาความสดของไข่และลดการเสียหายด้วย

ตรวจสอบ

ปัจจุบันไข่ไก่เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการซื้อหาไว้บริโภคในครัวเรือนจำนวนมาก เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก และมีคุณภาพดี กรมปศุสัตว์ได้มีการติดตามระบบการผลิตไข่ไก่ของประเทศทั้งในด้านปริมาณการผลิตและด้านสุขอนามัย ทั้งนี้ ขอให้ผู้บริโภคมีการเลือกซื้อสินค้าไข่ไก่สดจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ โดยมองหาตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” และหากประชาชนพบข่าวหรือข้อมูลใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรมปศุสัตว์สามารถแจ้งหรือขอข้อมูลที่ถูกต้องจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่หรือแจ้งสายด่วนของกรมปศุสัตว์ โทร. 063-225-6888 หรือผ่านแอปพลิเคชั่น DLD 4.0 ได้ทันที