โควิดลาม 591 โรงงาน จับตา “ซัพพลาย ดิสรัปชั่น” สินค้าขาดตลาด

06 ส.ค. 2564 | 05:02 น.

โควิดยังลามคลัสเตอร์โรงงานหนัก ตัวเลขสะสมกว่า 591 โรงงาน สภาอุตฯ ชี้เริ่มกระทบห่วงโซ่การผลิตสะดุดในหลายอุตสาหกรรมในวงกว้าง จับตา “ซัพพลาย ดิสรัปชั่น” ทำสินค้าในประเทศขาดแคลน กระทบส่งออก แนะรัฐบาลอุดหนุนชุดตรวจโควิด กดราคาไม่เกิน 100 บาทช่วยลดภาระประชาชน

 

สถานการณ์การของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ยังแพร่เชื้อเร็วและแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค.64 เป็นต้นมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งหลัก1-2 หมื่นคนต่อวัน (สูงสุด 6 ส.ค. ที่ 21,379 คน) และมีผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุด ศบค.ต้องขยายเวลาล็อกดาวน์โดยเพิ่มจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เป็น 29 จังหวัดโดยขยายเวลาออกไปอีก 14 วัน(นับแต่วันที่ 3 ส.ค.) หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นจะขยายเวลาล็อกดาวน์ออกไปอีก หอการค้าไทยประเมินล็อกดาวน์รอบใหม่จะกระทบเศรษฐกิจเสียหาย 3-4 แสนล้านบาทต่อเดือน

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย.2564 ตัวเลขสะสมถึงวันที่ 29 ก.ค.2564 พบมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานทั่วประเทศ 518 แห่ง คนงานติดเชื้อ 36,861 คน ครอบคลุมพื้นที่ 49 จังหวัด โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาหาร, อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องนุ่งห่ม, โลหะ และพลาสติก (กราฟิกประกอบ) โดยพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 1,000 คน ใน 15 จังหวัด, ติดเชื้อ 501-999 คนใน 5 จังหวัด และ ติดเชื้อน้อยกว่า 500 คน ใน 29 จังหวัด

 

(อัพเดตล่าสุดข้อมูลสะสมตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.2564 ถึงวันที่ 4 ส.ค.2564 พบมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานทั่วประเทศ 591 แห่ง คนงานติดเชื้อ 42,608 คน ครอบคลุมพื้นที่ใน 51 จังหวัด โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาหาร, อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องนุ่งห่ม, โลหะ และพลาสติก  โดยพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 1,000 คน ใน 17 จังหวัด, ติดเชื้อ 501-999 คนใน 5 จังหวัด และ ติดเชื้อน้อยกว่า 500 คน ใน 29 จังหวัด)

 

โควิดลาม 591 โรงงาน จับตา “ซัพพลาย ดิสรัปชั่น” สินค้าขาดตลาด

 

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้เชื้อโควิดได้ลามเข้าสู่คลัสเตอร์โรงงานทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่มากขึ้น ทั้งโรงงานผลิตอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และอื่น ๆ ในวงกว้าง ขณะที่เวลานี้แรงงานส่วนใหญ่ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ยกเว้นบางโรงที่ผู้บริหารได้สั่งวัคซีนทางเลือกไปฉีดให้พนักงานโดยรับภาระค่าใช้จ่ายเอง

 

“สิ่งที่ผู้ประกอบการกังวล หากสถานการณ์โควิดยังเป็นอย่างนี้ จะทำให้เกิด Supply Disruption ทำให้แต่ละโรงงานอาจต้องหยุดการผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงงานที่ป้อนวัตถุดิบ หรือชิ้นส่วนต่าง ๆ มีผู้ติดเชื้อโควิดจนไม่สามารถส่งสินค้าได้ตรงเวลา เช่นที่เกิดขึ้นแล้วกับค่ายรถยนต์โตโยต้าที่ต้องปิดไลน์ผลิต 3 โรงงานชั่วคราว ซึ่งอันนี้เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่ง ในข้อเท็จจริงยังมีโรงงานอีกจำนวนมากที่เกิดปัญหาในลักษณะเดียวกัน หากสถานการณ์โควิดยังไม่สามารถกดตัวเลขลงได้  คาดในเดือนสิงหาคมนี้จะเริ่มมีปัญหาซัพพลาย ดิสรัปชั่น

 

ทั้งนี้สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาหาร รวมถึงสินค้าอุปโภค-บริโภคต่าง ๆ อาจขาดตลาด และไม่มีบนชั้นวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านสะดวกซื้อ รวมถึงกระทบสินค้าที่จะส่งออกด้วย จากซัพพลายเชนของการผลิตสะดุด ทำให้ซัพพลายสินค้าในตลาดหายไป ขณะที่อีกด้านหนึ่งจากที่ประชาชนเกรงจะล็อกดาวน์ยาว ผู้คนจำนวนมากจะออกไปซื้อสินค้าตุนไว้มากขึ้น เป็น 2 แรงบวก ทำให้ขาดตลาด ซึ่งภาพเหล่านี้ยังไม่เคยเกิดตั้งแต่โควิดระลอกระลอกที่ 1-2 แต่อาจได้เห็นในรอบนี้

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำในขณะนี้คือการเร่งจัดหา และระดมฉีดวัคซีน ควบคู่ไปกับการตรวจคัดกรองโดยใช้ชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วน (Rapid Antigen Test Kit : ATK) ที่ขณะนี้ราคาขายปลีกในท้องตลาดยังมีราคาแพง เฉลี่ยต่ำสุด 250-400 บาทต่อชุด ขึ้นกับยี่ห้อและแหล่งนำเข้า เช่น จากจีน เกาหลี อเมริกา ยุโรป ขณะที่ราคาวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อที่มีเภสัชกรดูแลอยู่ที่ 270-280 บาท ถือว่าแพงเป็นภาระกับผู้ประกอบการที่ต้องใช้ตรวจคัดกรองพนักงานในโรงงานรวมถึงประชาชนทั่วไป

 

โควิดลาม 591 โรงงาน จับตา “ซัพพลาย ดิสรัปชั่น” สินค้าขาดตลาด

 

 “ในยุโรปหลายประเทศชุด Test Kit ที่ขายอยู่ตามร้านสะดวกซื้อชุดหนึ่งตกแค่ 1 ยูโร หรือประมาณ 35 บาทเท่านั้น จึงอยากให้รัฐบาลช่วยตรวจสอบว่าทำไมเขาถึงซื้อหาได้ในราคาถูก เช่นหากรัฐบาลเขาให้การ Subsidize (อุดหนุน) ผู้นำเข้าเพื่อให้ราคาถูกลงโดยชดเชยส่วนต่างราคา รัฐบาลเราก็น่าจะทำบ้างเพื่อให้ราคาชุดตรวจนี้เหลือต่ำกว่า 100 บาท เช่นอาจซื้อหาได้เพียง 50-60 บาท จะช่วยลดภาระประชาชนและทุกภาคส่วน ช่วยให้เข้าถึงชุดตรวจโควิดได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะช่วยแยกคนที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อออกจากกัน และช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ลงได้มาก”

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3702 วันที่ 5-7 ส.ค. 2564