จ๊าก “มะพร้าว” ราคาดิ่งเหว เหลือลูกละ 8 บาท เจ๊งขาดทุนยับ

23 ก.ค. 2564 | 10:40 น.

เปิดความจริง “มะพร้าวราคาตก” ดิ่งเหว เหลือลูกละ 8 บาท แกนนำประจวบฯ เดือด แฉ โดนราชการ-นักการเมือง-นายทุน เล่นกล ทุบราคา ผลักโควิดให้เป็นแพะ ขณะที่ สมุทรสงคราม ยอมรับสภาพ กรุงเทพฯ ตลาดปิดระนาว ลามออร์เดอร์หด-กากมะพร้าวสับ ร้านต้นไม้ขายไม่ได้ กองพะเนินเต็มบ้าน

วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ณ.หอประชุมหมู่บ้าน หมู่ที่ 2 ตำบลเขาล้าน อำเภอทับสะแก ทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าวประกอบด้วย กรมการค้าต่างประเทศ องค์การอาหารและยา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรและสำนักงานพาณิชย์จังหวัด รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเขต1และ3 มาระดมความคิดเพื่อแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรีบแก้ไขในสถานะการณ์วิกฤตจากโรคระบาดยังมาเดือดร้อนจากราคาผลผลิตอีกเป็นการซ้ำเติม

 

ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จัดประชุมแก้มะพร้าวราคาตกต่ำ

นายวิชา  กัณหา ประธาน สมาพันธ์ชาวสวนมะพร้าวไทย เปิดแถลงการณ์ สมาพันธ์ชาวสวนมะพร้าว ย้อนเหตุการณ์ในนั้นว่า ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย สส.เขต3 พาณิชย์จังหวัด ผู้แทนสำนักงานเกษตรจังหวัดและอำเภอรวมทั้งผู้แทนศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดซึ่งชี้แจงว่าไม่ได้แจ้งหน่วยงานตามที่ขอตามคำแนะนำของผู้ใหญ่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครทราบว่าผู้ใหญ่คนนั้นคือใครซึ่งจากการระดมความคิดเห็นการแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวชาวประจวบ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีมะพร้าวร้อยละ40ของประเทศ

 

สำหรับการแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำไม่เกี่ยวข้องกับโรงงานแปรรูปมะพร้าวแต่อย่างใดแต่เป็นการแก้ไขการบริหารจัดการซึ่งเห็นตรงกันว่าโควิด19 ไม่ใช่ปัญหาหลัก เป็นเพียงผลกระทบประมาณ 1 ใน4 ซึ่งยังมีหลายปัจจัยที่ต้องรีบดำเนินการแก้ไขโดยพบว่ามีการนำเข้ากะทิแช่แข็งในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย.ปี2564 มากกว่าปี 2563 ในห้วงเวลาเดียวกันซึ่งสวนทางกับภาวะโรคระบาดในขณะนี้ทำให้กระทบกับผลผลิตที่อยู่ในช่วงให้ผลผลิตสูงในรอบปี

 

แต่เจ้าหน้าที่ที่มาแทนในครั้งนี้ไม่สามารถตอบคำถามของหน่วยงานเฉพาะทางที่ได้เชิญไว้ได้จึงได้ทำข้อตกลงร่วมไว้ให้สมาพันธ์เชิญใหม่เมื่อสถานะการณ์เหมาะสมซึ่งสส.ก็ยืนยันจะช่วยเชิญให้อีกทางหนึ่งด้วย และเมื่อวันที่16 กรกฎาคม 2564 สมาพันธ์ชาวสวนมะพร้าวไทยได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขอให้แก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ

 

1.ลดปริมาณนำเข้า 2.ให้กะทิต้องรวมกับมะพร้าวทุกพิกัดภาษี 3.ให้ใช้อัตรา3.5/1ในกรอบอ้าฟต้า 4.เซฟการ์ดเพิ่มสาเหตที่นำมาใช้โดยให้ใช้เมื่อราคาภายในต่ำกว่าราคากลาง 5.ผู้นำเข้าแต่ละครั้งได้เพียงกรอบเดียว 6.ผลักดันให้มะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจ 7.ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรพืชมะพร้าวโดยเร่งด่วน 8.สำรวจพื้นที่ปลูกมะพร้าวโดยการอ่านพื้นทีจากดาวเทียมเพื่อยืนยันพื้นที่ปลูกเดิมโดยองค์กรข้างเคียง   ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

 

พงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์

สอดคล้องกับนายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  กล่าวว่า มาเรียกร้องความเป็นธรรม วันนี้ทำไมหน่วยงานราชการปล่อยให้มีการนำเข้ามะพร้าวเกิน 130 ล้านผล จึงทำให้ราคามะพร้าวตกต่ำมาก จึงเห็นว่าไม่ควรนำเข้าอีกแล้วในกรอบอาฟต้าในเดือนกันยายนถึงธันวาคมนี้ ไม่เช่นนั้นจะนำมะพร้าวไปขายที่ทำเนียบรัฐบาล

 

“ผมได้ถามคุณสายชล ชนะภัย กรรมการในคณะอนุกรรมการบริหารจัดการมะพร้าวทั้งระบบ โดยใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Measure: SSG) จัดสรรปริมาณนำเข้าให้แก่ผู้มีสิทธินำเข้าในอัตรา 1 : 2 (นำเข้า 1 ส่วน ต่อการรับซื้อมะพร้าวผลในประเทศ 2 ส่วน) มารับฟังความคิดเห็นหรือไม่ เพราะเกษตรกรต้องการ 1:3 มีเหตุผลใดทำไมจึงต้องปรับลด และจุดรับซื้อที่พ่อค้าซื้อ โดยเฉพาะในอำเภอทับสะแส จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปซื้อที่ไหน คุณสายชลก็ตอบไม่ได้”

 

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนกลางก็ไม่ได้มา ทราบจากภายในว่ามีการล็อบบี้ สส.ประมวล พงศ์ถาวราเดช ไปลงข่าวตีกิน ไปให้ข่าวว่ามะพร้าวราคาตกต่ำขายไม่ออก เหลือ 8 บาท/กก.เป็นเพราะโควิด ความจริงไม่ใช่ ไปสรุปเบี่ยงเบนประเด็น ด้วยเหตุผลนี้จึงมาขอความเป็นธรรมกับ นสพ.ฐานเศรษฐกิจ เพื่อเปิดความจริง โชว์หลักฐานชัดๆ ว่าเหตุผลทำไมมะพร้าวถึงล้นประเทศ มีการคำนวณอย่างละเอียด (ดูคลิป)

 

 

พรชัย เขียวขำ

 

เช่นเดียวกับนายพรชัย เขียวขำ อดีตกรรมการในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การแถลงข่าวของท่านประมวล ไปให้ข่าวแบบไม่เกรงใจ อย่ามาเคืองกันนะ ถ้าเกษตรกรใช้สื่อตอบโต้ ก่อนหน้าเคยเรียกร้องไปแล้ว ได้อะไรมาบ้าง และผู้ส่งออกไปซื้อมะพร้าวชาวสวนตรงไหนช่วยชี้จุดหน่อย ไม่เคยรับรู้เลย คิดอะไรกันที่ไหน สิ่งที่ผมเสนอไปทำไมไม่ทำ ทำไมไม่ใช้ราคาเป็นเครื่องชี้วัดเลยว่าถ้าราคาต่ำกว่า 18 บาท  ให้เลิกนำเข้าทันที

 

 

ปิดท้ายนางณภัทร จาตุรัส ประธาน กลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าวเหมืองใหม่ และเกษตรกรผู้ผลิตมะพร้าว ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า มะพร้าวราคาตก เพราะตลาดในกรุงเทพฯปิด ที่นี่ส่งตลาดกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ เพราะเราส่งมะพร้าวให้แม่ค้าขูดคั้นขายกะทิสดในตลาด ทั้งนี้ตลาดในกรุงเทพโดนปิดเยอะมาก โควตาที่เคยส่งจากวันละ 1,000 กิโลกรัม จะปรับลดลงปริมาณ 600 กิโลกรัม แต่ค่าคนขับรถ ค่าลูกน้อง ยังจ่ายเท่าเดิม

 

ในขณะเดียวกันช่วงนี้ เรียกว่า "หน้ามะพร้าวคาว" หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า ดก มะพร้าวออกมามาก แต่ขายได้น้อยลง มะพร้าวกองไว้จะงอก ส่วนคนที่เคยส่งวันละ 1,000 กิโลกรัมต้องเสียค่าจ้างค่าอะไรเท่าเดิม ราคาของเดือนนี้ ปีที่แล้ว กิโลกรัมละ 34 บาท แต่วันนี้ ราคา อยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาท เงินหายไป 100 กิโลกรัม 1,400 บาท ถ้า 1,000 กิโลกรัม เงินหายไป 1.4 หมื่นบาท หาก 2,000 กิโลกรัมเงินหายไป 28,000 บาท คิดไปคิดมา เงินหายไป 30,000 หมื่นบาท เยอะมาก

 

“เรากะเทาะขาย นำเนื้อมะพร้าวไปส่งให้แม่ค้า ของพี่มี 3 สวน จ้างคนขึ้น 9,700 บาท  ต้องจ้างปอก 100 ลูก ราคา 70 บาท ค่าขึ้นค่าสอยค่าเก็บ ราคาเท่าเดิม นำมาแปรรูปกิโลกรัมละ 2 บาท 100 กิโลกรัม ก็คือ 200 บาท เพราะฉะนั้นพอขายได้กิโลกรัมละ 20 บาทมาหักค่าทำกิโลกรัมละ 2 บาท หักค่าปอก หักค่าขึ้นมะพร้าวพอมาเหลือก็ไม่เท่าไร”

 

นางณภัทร  กล่าวว่า อย่างปีที่แล้วกิโลกรัมละ 34  บาท ทั้งที่ติดโควิด ปี 2562 ได้กิโลกรัมละ 40-42 บาท ยิ่งใจหาย แต่ว่าในกลุ่มมีเกษตรกรที่มีที่ดิน 2 ไร่ มะพร้าวประมาณ 40 ต้น ก็ต้องไม่จ้างคนต้องเก็บเอง จ้างค่าคนขึ้นต้นละ  แต่คนที่ไม่เคยเก็บ 1.ก็เสี่ยง 2.ถ้าเก็บเอง คราวหน้าไม่ต้องมาจ้างแล้ว สาเหตุเพราะคนขึ้น คนเก็บมากอง แล้วคนหาบ ทำงานร่วมกันเป็นทีม ชุดเดียวกัน

 

“อยู่จะไปตัดทีมว่าจะเอาแต่คนสอย ส่วนคนหาบก็ตกงาน พอเจ้าของบอกว่ามะพร้าวราคาถูก เงินไม่เหลือเลยเอาคนสอยอย่างเดียว แต่เราเก็บเอง ก็หน้าหงิกหน้างอ เพราะรู้ว่าตกงาน พอเราเองเหลือเท่านี้ จะต้องกินไปอีก 2 เดือน เพราะ 2 เดือน จะต้องเก็บมะพร้าว 1 ครั้ง เงินในส่วนนี้จะต้องเก็บไว้เป็นค่าจ้างครั้งต่อไปด้วย”

แต่ว่า ในมะพร้าวน้ำหอมราคายังดีอยู่ 19-21 บาท เพราะผลผลิตยังมีไม่มาก แล้วจะออกชุกอีก 2 เดือนข้างหน้า แต่มะพร้าวแกงปีนี้ดกทุกสวน เวลาคนเก็บ เคยจ้าง 250 บาท จ้าง 200 บาทได้ไหม บอกไม่ไหวอย่างของสวนที่บ้านเคยเก็บแค่บ่าย 3 โมงเย็น แต่ตอนนี้ 6 โมงเย็นก็ไม่จบ เพราะมะพร้าวเต็มไปหมดเลย จะไปหักค่าเรงได้อย่างไรเพราะว่า ตอนที่มะพร้าวน้อยๆ เลิก 11 โมงก็ให้ 300 บาท พอเลิก 6 โมงเย็นก็ให้ 300 บาท แต่จะหมดคอหน้าหนาว คือ เดือนธันวาคมเป็นต้นไป มะพร้าวเนื้อราคาก็จะขึ้น

 

แต่ปีนี้ติดโควิดด้วยไม่แน่ใจ ถ้ายังราคานี้ ได้ 2,500 กก. หากมะพร้าวน้อย ได้ไม่ถึง 2,000 กก. ค่าจ้างอะไรยังเท่าเดิม ก็คงจะกระอัก ขณะที่เราเองแปรรูปขายเปลือกได้ ขายกะลา ขายน้ำมะพร้าวได้ แต่ปรากฏว่าเปลือกตอนนี้เค้าก็มาขนไม่ไหว ที่ไปส่งทำเปลือกสับ หรือกากมะพร้าว ไปขายที่เพาะต้นไม้ กล้วยไม้ของก็ขายไม่ได้ ก็สั่งเบรกคนส่งไปก่อน เพราะไม่มีเงินทุน แล้วไม่มีที่จะกองแล้วในโกดังเต็ม

 

มะพร้าวเริ่มงอก

 

แต่กะลายังขายดีอยู่ ตลาดส่งออกไปญี่ปุ่นขายดีอยู่ ส่วนน้ำมะพร้าว เคยได้ถังละ 50 บาท ก็เหลือราคาถังละ 30 บาท ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าโรงงานลงเอง แล้วอ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้ โดยอ้างว่าส่งขายได้น้อยลง มีออร์เดอร์น้อยลง เงินก็หายไป แทนที่จะได้เงินตัวนี้มาถัวเฉลี่ยมาใช้จ้างคนปอกมะพร้าว เพราะเวลาปกติเราจะขายเปลือก ขายน้ำมะพร้าว แต่ตอนนี้กลายเป็นว่านำมาถัวเฉลี่ยไม่ได้ แล้วตอนนี้เปลือกกองเต็มบ้านเลย จะขนไปทิ้งในสวนก็ไม่ได้จะกลายเป็นที่อยู่ของด้วงไฟ ด้วงแรด จะกินมะพร้าวเราอีก ทำอะไรก็ไม่ได้ แต่ก็คิดว่าเป็นช่วงหนึ่งที่จะต้องอดทน ให้ผ่านไปให้ได้ ทุกคนก็ได้รับผลกระทบกันหมด