เศรษฐกิจไทย ส่อแววรุ่ง ภาคการลงทุนเอกชนเป็นบวก ครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส

15 ก.ค. 2564 | 08:39 น.

"สุพัฒนพงษ์" เผยความคืบหน้ากลยุทธ์ "เศรษฐกิจแบบ 4D” พร้อมเน้นย้ำความเชื่อมั่นประเทศไทยยังเดินหน้า ด้วยศักยภาพความพร้อมทางเทคโนโลยี และอินฟาสตรัคเจอร์ ที่พร้อม ส่งผลไตรมาสแรกของปี 2564 มีตัวเลขการลงทุนของภาคเอกชนเป็นบวกครั้งแรกใน 5 รอบไตรมาส

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงาน "Restart เศรษฐกิจไทยฝ่าภัยโควิด" ว่า จากมาตรการทางด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อน "โมเดลเศรษฐกิจแบบ 4D รวมถึงการสร้าง Ecosystem ของการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นอินฟราสตรัคเจอร์ ระบบคลาวน์ เอไอ ระบบ 5G รวมถึงเน็ตเวิร์คต่างๆ พร้อมทั้งการให้ความสำคัญด้านสาธารณสุข ทำให้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 พบสัญญาณที่ดีในภาคการลงทุน ที่มีตัวเลขเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส แม้ตัวเลขทางด้านเศรษฐกิจจะติดลบ 2.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2563 

"ผมเชื่อมั่นในเอกชน เพราะเขารู้ว่าเมื่อมีวัคซีน มันมีวันจบ มีความสำเร็จอยู่ปลายทาง ขณะที่ไทยมีการเตรียมอินฟราสตรัคเจอร์ สร้างระบบนิเวศที่เอื้อกับการย้ายฐานการผลิตมาไทย ซึ่งต่างจากปี 2563 ทที่เอกชนไม่กล้าลงทุน เพราะไม่รู้วันจบของโควิด แต่วันนี้มีวัคซีนแล้ว" นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

ในส่วนของเศรษฐกิจแบบ 4D รัฐบาลกำลังเร่งเดินหน้า โดยเฉพาะในส่วนของ Decarbonization หรือการมุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และมลภาวะ เช่น การส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งล่าสุดได้มีการประกาศแผนการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยให้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศได้ 100 % ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศในปี 2035 หรือปี 2578 ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นของรัฐบาลที่จะไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ รวมไปถึงการสนับสนุนให้มีการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ไปพร้อมๆ กัน

"ขณะนี้ เราเชิญผู้ผลิตแบตเตอรี่ทั้งในไทยและต่างประเทศ เข้ามาลงทุน ซึ่งมี 7-8 รายที่ให้ความสนใจ ในปีนี้ทุกอย่างจะมีความชัดเจนมากขึ้น และได้ข้อสรุป ปีหน้าก็จะมีการเปิดประมูลให้คนที่สนใจเข้ามาลงทุน ทั้งโรงงานแบตเตอรี่ และยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อรักษาการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ต่อไป"

พร้อมกันนี้ ยังได้เตรียมการทั้งในแง่นโยบายการลงทุนและมาตรการต่างๆ ที่จะสนับสนุนให้ประเทศเดินหน้าสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ซึ่งจะดำเนินการให้ทันการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติปี 2564 หรือ COP26 ของสหประชาชาติครั้งที่ 26 ที่มีกำหนดจะจัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคมถึง 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เนื่องจากต่อไปนักลงทุนทั้งหลายจะให้ความสำคัญกับเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการใช้พลังงานจากถ่านหิน

ส่วนการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูภายในประเทศ ขณะนี้ พรก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ยังอยู่ครบ โดยรัฐบาลได้เร่งออกมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูออกมาต่อเนื่องในพื้นที่ 10 แห่ง ที่มีมาตรการล็อกดาวน์ ทั้งส่วนของผู้ประกอบการและแรงงาน เพื่อรักษาการจ้างงานให้เดินไปได้เรื่อยๆ ส่วนโครงการเดิม  อาทิ โครงการคนละครึ่ง และ ยิ่งใช้ยิ่งได้ ก็ยังมีอยู่ ซึ่งภาคเอกชนได้เสนอแนะให้มีการปรับปรุงเพิ่มเติม ตรงนี้รัฐบาลกำลังศึกษาอยู่เช่นกัน โดยย้ำให้ประชาชนมั่นใจว่า รัฐบาลมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทุกวัน พร้อมเตรียมแผนเยียวยาและฟื้นฟูต่างๆ ให้เร็วและทันต่อความต้องการของประชาชนให้เร็วที่สุดโดยนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้านตลอดเวลา