ดันสุดลิ่มรถยนต์ EV หวังดูดลงทุนจากทั่วโลก-วางเป้า10 ปี 7.25 แสนคัน

30 มิ.ย. 2564 | 10:00 น.

“สุพัฒนพงษ์”ดันยานยนต์ไฟฟ้าไทย สู่เป้าหมาย ZEV ในปี 2030 ผลิต 7.25 แสนคัน เร่งสร้างระบบนิเวศให้เอื้อต่อการขับเคลื่อน ทั้งตั้งโรงงานแบตเตอรี่ สถานีชาร์จ ค่าไฟฟ้า กำหนดแผน 4 ปี นำร่อง หวังสร้างเครดิตไทยดูแลสิ่งแวดล้อม ดูดการลงทุนทั่วโลกขึ้นศูนย์กลางผลิต EV อาเซียน

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ หัวข้อ “ยานยนต์ไฟฟ้า” จุดเปลี่ยนอุตสาห กรรมยานยนต์ไทย เปิดโอกาสใหม่ทางธุรกิจ โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กับเป้าหมาย ZEV ปี 2030” ผ่านระบบประชุมทางไกลจากกระทรวงพลังงาน มีสาระสำคัญว่า คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่มีตัวเอง เป็นประธานนั้น ได้กำหนดเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด (ZEV) 725,000 คัน หรือ 30% ของการผลิตยานยนต์ไทย ในปี 2030 (พ.ศ.2573) เพื่อรักษาความเป็นผู้นำการผลิตยานยนต์ไทย และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ จากการปรับตัวไปตามกระแสโลก และการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จะมาเป็นส่วนหนึ่งของกติกาใหม่ในการลดก๊าซเรือนกระจก ที่ไทยเข้าร่วมในข้อตกลงปารีส ที่ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของแต่ละประเทศไว้ 300 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นต้นทุนมหาศาลในอนาคตหรือราว 5 แสนล้านบาท ในการดำเนินงาน

“การปล่อยก๊าซเรือนกระจก เกิดจากภาคขนส่งถึง 40% และยังสร้งปัญหาฝุ่น PM2.5 ขณะที่ผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่ไทยต้องกำหนดเป้าหมายยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดดังกล่าวขึ้น เพื่อรักษาความเป็นผู้นำการผลิตยานยนต์ทั้งแบบสันดาปภายในและยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต”

 

 

เร่งสร้างนิเวศรองรับ EV

สำหรับการกำหนดเป้าหมายการผลิตดังกล่าวแล้ว ต้องดูทั้งนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้เกิดขึ้นได้จริงตามเป้าหมาย อาทิ แบตเตอรี่ ต้องมีโรงงานผลิตในประเทศราว 40 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ให้คุ้มค่าสำหรับการจะลงทุนตั้งโรงงาน และเป็นที่ยอมรับของค่ายรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากแบตเตอรี่คิดเป็นมีสัดส่วนถึง 40% ของราคายานยนต์ไฟฟ้า

ขณะเดียวกันแบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งานแล้วต้องกำจัดด้วยวิธีพิเศษ ไม่ให้มลพิษหลุดรอดสู่สภาพแวดล้อม จากการศึกษามีเลือกใหม่ พบว่าสามารถนำไปใช้เป็นแหล่งกักเก็บพลังงานสะอาด ของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้ ก็จะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคต

นอกจากนี้ จำเป็นต้องมีสถานีชาร์จไฟฟ้าเร็วราว 5% หรือ ตั้งเป้าให้มี 12,000 แห่ง ทั้งในและนอกสถานีบริการน้ำมัน ขณะเดียวกันการไฟฟ้าทั้ง 3 องค์กร ต้องลงทุนสายส่งอัจฉริยะ(Smart Grid) เนื่องจากความต้องการไฟฟ้าจะเปลี่ยนจุดไปเรื่อยตามการสัญจรของรถ ระบบสายส่งจึงต้องคล่องตัวและยืดหยุ่นยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดธุรกิจอื่นๆ ตามมา

“ภาพทั้งหมดจะเกิดขึ้นในอีก 9 ปีข้างหน้า ซึ่งมีเรื่องที่ต้องทำอีกมาก มิใช่เพียงกำหนดเป้าหมายการผลิตเท่านั้น ยังต้องสร้างสภาพแวดล้อมอื่นให้เอื้อต่อการไปถึงจุดหมายดังกล่าว”

เป้า4ปีบันไดสู่ความสำเร็จ

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า เป้าหมาย 10 ปีดังกล่าวยังไกล อาจทำให้การขับเคลื่อนช้า จึงกำหนดเป้าระยะแรกใน 4 ปี หรือภายในปี 2568 ให้มีการผลิต ZEV 225,000 คัน หรือ 10% ของการผลิตรถยนต์ โดยมุ่งที่รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ที่เทคโนโลยีค่อนข้างพร้อม โรงงานสามารถปรับสายพานการผลิตได้ไม่ยาก การผลิตแบตเตอรี่ที่ 20 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี เป็นยอดการผลิตที่เพียงพอสำหรับการลงทุนโรงงานแบตเตอรี 1-2 โรง และสถานีชาร์จ 2,000-4,000 แห่ง

“เป็นหมุดหมายแรกภายใน 4 ปี ถ้าทำได้ก็เชื่อมั่นได้ว่า เป้าหมายตามนโยบาย 30/30 จะสำเร็จได้แน่นอน”

ทั้งนี้ เป้าหมายระยะแรก 4 ปี ดังกล่าว ได้รับความสนใจจากผู้ผลิตรถยนต์ทั้งรายใหญ่และรายใหม่ ขณะที่กำลังการผลิตแบตเตอรี่ดังกล่าว ใหญ่พอที่จะดึงกลุ่ม 7 Sisters ให้สนใจเข้ามาลงทุนโรงงานในประเทศ ซึ่งต้องทำงานร่วมกับผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้าต่อไป

ดันสุดลิ่มรถยนต์ EV  หวังดูดลงทุนจากทั่วโลก-วางเป้า10 ปี 7.25 แสนคัน

สำหรับนโยบาย 30/30 นอก จากดึงการลงทุนผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังจะเกิดอุตสาหกรรมใกล้เคียงเกี่ยวเนื่องตามมาอีกมาก ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการคิดค้านนวัตกรรมใหม่ ๆ มาพัฒนาศักยภาพคนไทยอีกมาก เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์หลากหลายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนแทบจะเปลี่ยนจาก Vehicle ไปเป็น Smart Mobility และในอนาคตสู่ยานยนต์ไร้คนขับ เกิดการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมไม่สิ้นสุดจากการเริ่มต้นนี้

 

นำร่องค่าไฟชาร์จอีวี

ขณะเดียวกันการสร้างระบบนิเวศรองรับ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าฯ ได้หารือกับการไฟฟ้า 3 หน่วยงาน เพื่อลงทุน Smart Grid ให้ระบบสายส่งมีความยืดหยุ่น รองรับการใช้งานไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ รวมทั้งได้กำหนดอัตราค่าไฟมในการอัดประจุ นำร่องที่ 2.60 บาท

“ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์สันดาปภายในอยู่แล้ว มีศักยภาพ มีกลไกต่าง ๆ ที่พร้อมอยู่แล้ว จากนโยบายที่ประกาศเป้าหมายไปชัดเจนนี้ ไม่เพียงเป็นเรื่องของการผลิต แต่ยังเป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่น เป็นผู้นำในภูมิภาคในเรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประชาคมโลก จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ขอให้มั่นใจว่าเป็นนโยบายที่ถูกต้อง เหมาะสม ในการรักษทุกความเป็นผู้นำการผลิตยานยนต์ทุกประเภทไว้ต่อไป” นายสุพัฒนพงษ์กล่าวย้ำในตอนท้าย

ส่วนมาตรการภาษี หรือการอุดหนุนเพื่อให้นโยบายเกิดเป็นจริงขึ้นนั้น เป็นโจทย์ที่ยากที่สุด แต่ขอเวลาอีกไม่นาน เมื่อจัดสภาพแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว จะได้พิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งมีรายละเอียดและความซับซ้อนค่อนข้างมาก เช่น ราคารถมือสองของอีวี จะอยู่ที่เท่าไร ก็ต้องนำมาพิจารณาอย่างรอบคอบด้วย

ขณะที่ราคาแบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศ เพราะมีสัดส่วนค่อนข้างสูงต่อราคารถ ต้องพิจารณาทั้งราคาที่เหมาะสม และสามารถแข่งขันได้ ซึ่งแต่ละประเทศต่างมีรูปแบบวิธีการแตกต่างกัน ทำไม่เหมือนกันเลย แต่ทั้งนี้ต้องส่งเสริมให้ไทยเป็นประเทศที่ร่วมดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อสิ่งแวดล้อมให้ได้ 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,692 วันที่ 1 - 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2564