รับเหมากระหึ่มประมูลก่อน ด่วน‘กะทู้-ป่าตอง’1.4หมื่นล้าน  

15 เม.ย. 2564 | 19:30 น.

ผู้รับเหมากระหึ่มติดเครื่อง ยนต์เศรษฐกิจ โปรเจ็กต์ยักษ์ กทพ.เดินหน้าทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง เกือบ 4 กิโล 1.4 หมื่นล้าน ประมูลปี 65 แก้รถติดหลังโยนเข้าครม. พ.ค.นี้  ขณะช่วงสนามบินภูเก็ต-เกาะแก้ว-กะทู้  32 กม. อยู่ระหว่างออกแบบ-ชงครม.อนุมัติปี65 

 

 

 

กรณี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการแก้ปัญหาจราจรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต  ด้วยการรวมโครงการสายกะทู้-ป่าตอง ระยะทางเกือบ 4 กิโลเมตร ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และปรับโครงการถนนสายใหม่ ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว ระยะทาง 22.4 กิโลเมตร ของกรมทางหลวงให้เป็นทางด่วน จากนั้นลากเส้นทางส่วนที่ขาดเพิ่มช่วงเกาะแก้ว-กะทู้ อีก 11.9 กิโลเมตร  เชื่อมโยงเป็นโครงการเดียวกัน คือ ทางด่วนจากสนามบินภูเก็ต-ป่าตองรวมระยะทาง 38 กิโลเมตร พัฒนารูปแบบเอกชนร่วมลงทุนรัฐ หรือ PPP ที่มีกทพ.เป็นเจ้าภาพ และเร่งดำเนินโครงการที่พร้อมที่สุดก่อน  ขณะแวดวงอุตสาหกรรมก่อสร้างประเมินว่าการแข่งขันชิงโครงการน่าจะรุนแรงโดยเฉพาะค่ายใหญ่สายป่านยาวคาดว่าจะได้งาน ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด( มหาชน ) เป็นต้น

อย่างไรก็ตามก่อนรวม 3 โครงการเข้าด้วยกัน นายศักดิ์สยามมองว่า โครงการถนนแนวใหม่สายเมืองใหม่-เกาะแก้ว มีต้นทุนที่สูงเมื่อรวม ค่าก่อสร้าง และค่าเวนคืนรวมกันกว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับปริมาณจราจร แล้วอาจมีไม่มาก เพราะขาดการเชื่อมต่อซึ่งกันและกัน 

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กม. วงเงิน 14,177 ล้านบาท มีความพร้อมที่สุด ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอรูปแบบลงทุนให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณา หลังจากนั้นจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนพฤษภาคม 2564 และเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภายในปี 2565 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี คาดเปิดให้บริการปลายปี 2569 สำหรับการเวนคืน เวนคืนที่ดินของโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันกทพ.ได้ลงพื้นที่เปิดรับฟังความคิดเห็นของโครงการฯ แล้ว เบื้องต้นใช้งบประมาณเวนคืนที่ดิน 5,700 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าเพื่อขุดเจาะอุโมงค์ ขณะเดียวกันใช้รูปแบบการลงทุนโครงการฯ PPP Net Cost โดยจะให้สิทธิสัญญาสัมปทาน 35 ปี ทั้งนี้จากผลการศึกษาความคุ้มค่า พบว่า ผลตอบแทนทางการเงิน (IRR) อยู่ที่ 6% และอัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) 20% ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการมีมูลค่าการลงทุนค่อนข้างสูง หากเทียบกับระยะทางก่อสร้างงานโยธา กทพ.จึงศึกษาให้ผลตอบแทนเอกชนทั้งหมด และคาดการณ์ว่าเอกชนจะคืนทุนภายใน 20 ปี ส่วนโครงการทางด่วนช่วงสนามบินภูเก็ต-เกาะแก้ว-กะทู้ ระยะทาง 32 กม. ที่ต่อเชื่อมกับ ทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง ขณะนี้กทพ.อยู่ระหว่าง ศึกษาการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) คาดว่าจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติภายในปี 2565 เริ่มก่อสร้างปี 2567 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี และเปิดให้บริการปลายปี 2570

รับเหมากระหึ่มประมูลก่อน  ด่วน‘กะทู้-ป่าตอง’1.4หมื่นล้าน  

ทั้งนี้โครงการทางพิเศษสาย กะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต เป็นโครงการก่อสร้างทางยกระดับมีอุโมงค์อยู่ในช่วงกลางของแนวสายทางระยะทางรวม 3.98 กม. มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมกับถนนพระเมตตาในพื้นที่ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการในพื้นที่ ต.กะทู้ บริเวณจุดตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029 โดยรูปแบบการก่อสร้างมีขนาด 8 ช่องจราจร หรือไป-กลับ 4 ช่องจราจร ให้รถยนต์วิ่ง 2 ช่องจราจร และรถจักรยานยนต์ 2 ช่องจราจร มีแบริเออร์คอนกรีตกั้นเพื่อความปลอดภัย เบื้องต้นค่าผ่านทางรถจักร ยานยนต์ 15 บาท รถ 4 ล้อ 40 บาท รถ 6-10 ล้อ 80 บาท และมากกว่า 10 ล้อ 125 บาท ซึ่งจะปรับขึ้นค่าผ่านทางทุกๆ 5 ปี

รายงานข่าวจากกทพ. กล่าวต่อว่า ด้านโครงการทางด่วนช่วงสนามบินภูเก็ต-เกาะแก้ว-กะทู้  ปัจจุบันกทพ.เร่งดำเนินการจ้างที่ปรึกษาการออกแบบรายละเอียดโครงการฯ และการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) รวมทั้งศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ระยะเวลาศึกษา 15 เดือน (สิงหาคม 2564-ตุลาคม 2565 ) 

“ส่วนการสำรวจเวนคืนที่ดินอสังหาริมทรัพย์ของโครงการฯ เบื้องต้นเราต้องรอความชัดเจนจากผลการศึกษาก่อนว่าเป็นอย่างไร โดยพื้นที่เวนคืนที่ดินจะห่างจากกรมทางหลวง (ทล.) ที่เคยศึกษาโครงการทางหลวงเมืองใหม่-เกาะแก้วไม่มาก เพราะโครงการฯ ของกทพ.จะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับทล. ซึ่งแนวเส้นทางของโครงการนี้เราจะยึดตามแนวเส้นทางเดิมของทล.เพียงแต่จะมีการตัดเส้นทางตรงเพื่อลดระยะเวลาในการเดินทางของประชาชน คาดว่าจะมีด่านเก็บค่าผ่านทางทั้งหมด 5 ด่าน โดยส่วนใหญ่พื้นที่บริเวณเก็บค่าผ่านทางนั้น เป็นถนนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นจุดทางขึ้น-ลงของโครงการฯ”

ทั้งนี้หากเราดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเพื่อก่อสร้างโครงการดังกล่าว หลังจากนั้นจะเริ่มออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน (พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน) ภายในปี 2566 ในส่วนรูปแบบการก่อสร้างเป็นแนวทางระดับดิน ซึ่งคาดว่าจะมีการขุดเจาะอุโมงค์บางช่วง เพราะหากใช้เส้นทางปกติจะต้องอ้อมเส้นทาง ทำให้ค่าก่อสร้างสูงขึ้น

หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,670 วันที่ 15 - 17 เมษายน พ.ศ. 2564