พ.ค.นี้ ชงครม.ไฟเขียว แผนศึกษา TOD 6.4 หมื่นล. นำร่อง 3 จังหวัด

12 มี.ค. 2564 | 08:30 น.

สนข.เล็งชงครม.เคาะ ผลศึกษาTOD 6.4 หมื่นล้านบาท นำร่อง 3 จังหวัด ภายในเดือน พ.ค.64 จ่อออกกฎหมาย หวังพัฒนาพื้นที่รอบสถานีต่อเนื่อง

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ว่า ปัจจุบันสนข.อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารผลการศึกษา TOD แล้วเสร็จ ขณะเดียวกันจะดำเนินการจัดทำประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว หลังจากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาได้ภายในเดือนเม.ย.นี้ และเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการภายในเดือน พ.ค.64 เพื่อรองรับกับการเปิดให้บริการโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิตและช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน อย่างเต็มรูปแบบในช่วง พ.ย. 2564 หากครม.เห็นชอบผลการศึกษา ฯ หลังจากนั้นสนข.จะดำเนินการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) TOD เพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ที่จะดำเนินการและสามารถพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีได้

นายปัญญา กล่าวต่อว่า ส่วนรูปแบบการพัฒนาTOD นั้น จะดำเนินการตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เช่น สถานีรถไฟขอนแก่น ซึ่งเป็น 1 ใน 3 จากผลการศึกษาของ สนข. ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นเมืองต้นแบบ เกิดจากความต้องการของเทศบาลเมืองขอนแก่น ที่ต้องการการพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าว เบื้องต้นสนข. จะเป็นผู้กำหนดหลักการ และกฎหมายรองรับ การจัดทำแผนรายละเอียดต่างๆ รวมถึงมีผู้ที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่นั้นๆ

รายงานข่าวจาก สนข. กล่าวว่า ขณะที่ผลการศึกษาโครงการ TOD ของ สนข. ได้คัดเลือก 3 สถานี ที่มีศักยภาพในการพัฒนาสร้างเมืองต้นแบบ TOD เพื่อต่อยอดผลการศึกษาให้เป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว กรอบวงเงินรวมประมาณ 64,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.สถานีรถไฟขอนแก่น เป็น TOD ศูนย์ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้เป็นศูนย์กลางเมืองขอนแก่นแห่งใหม่ ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างผสมผสานมีการเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่ชุมชนเดิมและชุมชนใหม่. 2.สถานีรถไฟอยุธยา เป็น TOD ศูนย์กลางเมืองภาคกลาง ตัวแทนกลุ่มแนวเส้นทางรถไฟสายเหนือ โดยมีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้สอดคล้องกลมกลืนกัน ระหว่างความเป็นเมืองเก่ากับความทันสมัย เน้นการเชื่อมต่อพื้นที่สถานีความเร็วสูงที่จะเป็นศูนย์กลางเมืองใหม่เข้ากับพื้นที่ชุมชนเมืองเดิมด้วยสะพานทางเดินข้ามแม่น้ำ ท่าเรือข้ามฟาก และระบบขนส่งมวลชนรอง (Feeder) เพิ่มพื้นที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟความเร็วสูงอย่างมีประสิทธิภาพ และ 3.สถานีรถไฟพัทยา เป็น TOD ศูนย์ภูมิภาคตะวันออกและพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟพัทยาให้เป็นศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่ของพัทยา โดยเชื่อมโยงพื้นที่กับชายทะเลพัทยา ซึ่งเป็นศูนย์กลางความเจริญเดิม เพิ่มพื้นที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ที่เชื่อมกับสถานีรถไฟความเร็วสูง