“IRPC” ผนึกม.นวมินทร์ตั้งแล็บ “มอก.” ผลิตภัณฑ์การแพทย์ครบวงจรที่แรกในไทย

26 ม.ค. 2564 | 06:35 น.

“IRPC” ผนึกม.นวมินทร์ตั้งแล็บตรวจ “มอก.” ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ครบวงจรที่แรกในประเทศไทย

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชในสัญญาร่วมทุนจัดตั้งห้องปฏิบัติการกลาง เพื่อตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และชุดกาวน์ หวังยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เพิ่มมูลค่าในเชิงพาณิชย์ ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

และเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยได้อย่างทั่วถึง โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ปี 2564 ลดการพึ่งพาการนำเข้าและเพิ่มเสถียรภาพด้านสาธารณสุขของประเทศอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจสุขภาพ สุขอนามัยและการแพทย์ เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจใหม่ที่ IRPC ให้ความสำคัญและเล็งเห็นโอกาสในการเติบโตเข้าสู่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปลายน้ำให้เข้าใกล้ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้นได้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ ในกลุ่ม Smart material ของบริษัทฯ และยังเป็นการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีที่ทันสมัย และเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่งมาสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตใหม่และสอดรับกับเศรษฐกิจเชิงสุขภาพ (Wellness Economy) ที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็ว

ผนึกกำลังจัดตั้งแล็บตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ครบวงจร

สำหรับโครงการดังกล่าวนี้นับเป็นก้าวสำคัญที่ผลักดันให้ IRPC เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทางการแพทย์อย่างเต็มตัว ขณะเดียวกัน ก็เป็นการตอบแทนสังคมในการร่วมสร้างความมั่นคง และเข้มแข็งทางด้านสาธารณสุขให้กับประเทศไทย ต่อยอดความร่วมมือในกลุ่ม ปตท. ระหว่าง  IRPC และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการศึกษาการลงทุนผลิตผืนผ้า Melt Blown ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์สาธารณสุข อาทิ หน้ากากอนามัย หน้ากาก N95                     
 

“ความร่วมมือในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการกลาง เพื่อตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นการนำความรู้ความเชี่ยวชาญจากภาคเอกชนในด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม การพัฒนาธุรกิจและการตลาด ผนวกกับศักยภาพการวิจัยทางด้านการแพทย์ โดยมุ่งหวังให้บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนได้ใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและผ่านการรับรองตามมาตรฐานสากล ช่วยยกระดับอุปกรณ์ทางการแพทย์ของประเทศไทยที่เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของกลุ่ม ปตท. ต่อไป”

นายสุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (Covid-19) มีผลกระทบอย่างมากกับวิถีชีวิตของผู้คน ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการแพทย์และการดูแลรักษาสุขภาพมีอัตราการเติบโตสูงขึ้น โดยเฉพาะความต้องการอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment) ที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนความร่วมมือในการสร้างห้องปฏิบัติการกลางสำหรับให้บริการตรวจสอบหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และชุดกาวน์ ระหว่างมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และ IRPC จะเป็นส่วนสนับสนุนการพัฒนาด้านสาธารณสุขของประเทศช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตอุปกรณ์การแพทย์ที่ได้มาตรฐานระดับสากล ลดการพึ่งพาการนำเข้า สามารถควบคุมคุณภาพ ปริมาณการผลิต และความปลอดภัยของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ได้ในภาวะวิกฤต

นายอนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางการให้บริการทางการแพทย์ของประเทศตั้งแต่ปี 2547 ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้บริการในโรงพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 16.5% เป็นผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งเกิดสถานการณ์ขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลในภาวะวิกฤตที่ผ่านมา และยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ

“มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช มุ่งเน้นการใช้ความรู้ทางด้านการแพทย์และการบริการวิชาการแก่สังคม เพื่อสร้างความเข้มแข็งต่อชุมชน และตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุข และอุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน New S-Curve ของไทย”

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการกลางเพื่อตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์นี้ จะนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์ทดสอบที่มีประสิทธิภาพ ให้ผลการทดสอบที่ถูกต้องและแม่นยำตามมาตรฐาน มอก. 2424 – 2562 สำหรับหน้ากากอนามัย และ มอก. 2480 – 2562 สำหรับหน้ากาก N95 ซึ่งเทียบเท่ามาตรฐาน ASTM และ EN ในต่างประเทศ โดยนำองค์ความรู้ ประสบการณ์ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และด้านการแพทย์ของทั้งภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยมาใช้ในการบริหารจัดการให้ดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพด้วยธรรมาภิบาล เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล อีกทั้งจะเป็นการวางรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรที่ได้มาตรฐานในประเทศไทยต่อไป
              “ห้องปฏิบัติการกลางเพื่อตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์นี้ จะตั้งอยู่ที่จังหวัดกรุงเทพมหานครในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"IRPC” ผนึก “KFC” ต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

“IRPC” พลิกมีกำไร 1.55 พันล้านบาทไตรมาส 3/63

ยอดติดเชื้อโควิด 26 ม.ค.64 รายใหม่ 959 ในประเทศ 937 หายป่วยเพิ่ม 230 ราย

"หมอยง"เผยวัคซีนโควิดในอิสราเอลเริ่มเห็นผล ผู้สูงอายุเกิน 60 ปีมีอัตราป่วยลดลง

อัพเดทโควิด-19 ระลอกใหม่ "กทม."เหลือแค่ 2 เขตยังไม่โดนเจาะไข่แดง