“ดอยหลวงเชียงดาว” จ่อขึ้นแท่นพื้นที่สงวน ชีวมณฑล จาก “ยูเนสโก้”

23 มิ.ย. 2563 | 11:43 น.

ลุ้น ! ข่าวดี “ดอยหลวงเชียงดาว" ถูกเตรียมเสนอต่อ "ยูเนสโก้" เพื่อรับรองให้เป็นพื้นที่สงวน "ชีวมณฑล" แห่งที่ 5 ของไทยภายในเดือน ก.ย. 2563

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้  (23 มิ.ย. 2563) นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยข่าวดีเกี่ยวกับด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทยว่า เตรียมเสนอพื้นที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของไทยต่อ ยูเนสโก้  โดยที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้เสนอพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ต่อโครงการมนุษย์และชีวมณฑลขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

สำหรับโครงการมนุษย์และชีวมณฑลของยูเนสโก  (Man and the Biosphere (MAB) Programme) ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971) มีวัตถุประสงค์เพื่อวางแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์โดยมีพื้นที่สาธิตของโครงการดังกล่าวกระจายอยู่ทั่วโลก เรียกว่า พื้นที่สงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserve) ซึ่งอาจเป็นพื้นที่ของระบบนิเวศภาคพื้นดิน ชายฝั่ง พื้นน้ำ หรือประกอบด้วยระบบนิเวศดังกล่าวรวมกันในการประกาศจัดตั้งพื้นที่สงวนชีวมณฑล 

 

กรอบบัญญัติการดำเนินงานของเครือข่ายพื้นที่สงวนชีวมณฑลโลก (Statutory Framework of the World Network of Biosphere Reserves) ระบุว่า พื้นที่สงวนชีวมณฑล ถูกประกาศจัดตั้งโดยคณะกรรมการสภาประสานงานระหว่างชาติว่าด้วยโครงการด้านมนุษย์และชีวมณฑล (International Coordinating Council of the Man and the Biosphere Programme: MAB – ICC) จากการเสนอของประเทศใดๆ ที่ได้พิจารณาแล้ว พื้นที่สงวนชีวมณฑลยังคงอยู่ในอำนาจอธิปไตยของรัฐที่พื้นที่สงวนชีวมณฑลตั้งอยู่และอยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐเท่านั้น

การแบ่งเขตการจัดการของพื้นที่สงวนชีวมณฑลเป็นเพียงการแบ่งเขตการจัดการเพื่อเป็นข้อแนะนำให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับพิจารณากิจกรรมที่จะดำเนินการในพื้นที่ เพื่อประโยชน์ในการแสดงศักยภาพของพื้นที่สงวนชีวมณฑลใน 3 บทบาทหน้าที่ ได้แก่

1.บทบาทด้านการอนุรักษ์ (Conservation) เป็นพื้นที่ที่อนุรักษ์สงวนรักษาทรัพยากรพันธุกรรม ชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต และอนุรักษ์ระบบนิเวศ สภาพภูมิทัศน์ ตลอดจนความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่

2.บทบาทด้านการพัฒนา (Development) เป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม ประเพณีและวัฒนธรรม

3.บทบาทด้านการสนับสนุนการวิจัยและการศึกษา (Logistic) เป็นพื้นที่ที่สามารถให้การสนับสนุนการสาธิต การฝึกอบรม และให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การศึกษาวิจัยและตรวจสอบปัญหาที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกระดับ ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติซึ่งนับตั้งแต่การริเริ่มโครงการโดยยูเนสโก โครงการได้ผ่านการพัฒนาแนวคิดและทิศทางของโครงการตามความท้าทายที่เป็นกระแสโลกและส่งผลต่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับธรรมชาติ

ปัจจุบันมีพื้นที่สงวนชีวมณฑลทั่วโลกจำนวน 701 แห่งใน 124 ประเทศ โดยพื้นที่สงวนชีวมณฑลในประเทศไทย มี 4 แห่ง ดังนี้  

1.พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2519  

2.พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา – คอกม้า จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2520

3.พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสักห้วยทาก จังหวัดลำปาง ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2520

4.พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง จังหวัดระนอง ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2540

ทั้งนี้  คณะกรรมการโครงการมนุษย์และชีวมณฑลของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 (ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน) ได้มีมติให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ พิจารณาพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามโครงการมนุษย์และชีวมณฑลและเสนอขอจัดตั้งเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลเพิ่มเติม