เอกชนสวดรัฐ หวั่นดึงลูกจ้างซีกภาคผลิตกลับบ้านด้วย

23 มี.ค. 2563 | 06:04 น.

เอกชนหวั่นแรงงานภาคผลิตกระทบด้วย  ชี้รัฐออกมาตรการสำคัญต้องมีแผนรองรับ

 

 

ตามที่กรุงเทพมหานครได้มีประกาศสั่งปิดสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นการชั่วคราว ล่าสุด“ห้างสรรพสินค้า” ยกเว้นร้านซูเปอร์มาร์เก็ต ในส่วนของร้านอาหารยังเปิดตามปกติ แต่ขอให้ปรับรูปแบบเป็นแบบกล่องกลับบ้าน (take away) ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.-12 เม.ย. รวม 22 วันนั้น ล่าสุดกำลังถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นมาตรการที่ดีแต่ยังขาดบางส่วนที่อาจทำให้กลายเป็นปัญหาจนรัฐบาลควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้ยากขึ้น เนื่องจากเริ่มมีแรงงานจำนวนมากกลับภูมิลำเนา ซึ่งมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดในระยะต่อไป

 

ต่อเรื่องนี้นายเกรียงไกร เธียรนุกุล  รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสายงานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม  เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าก่อนหน้านี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีขอความกรุณาผู้ประกอบการอย่าเลิกจ้างงาน  ช่วยชะลอการเลิกจ้าง โดยในช่วงสงกรานต์ก็ขอให้พนักงานมาทำงานต่อ แล้วไปชดเชยคราวหน้าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหวคนเกิดขึ้น และให้ครอบคลุมถึงแรงงานต่างด้าวด้วย 

 ทำให้ภาคเอกชนพร้อมที่จะช่วยเหลือภาครัฐ  โดยเฉพาะภาคเอกชนในกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการขายสินค้าในช่วงนี้ เช่น อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ เครื่องมือแพทย์ เจล อัลกอฮอล์ ยาวิตามิน อาหารเสริม ผ้าอนามัย กระดาษทิชชู สินค้ากลุ่มอาหาร สินค้าอุปโภค-บริโภคทั้งหมดพร้อมให้ความร่วมมือผลิตเต็มที่  แต่พอมีมาตรการปิดสถานที่โดยไม่มีมาตรการที่ดูแลแรงงานออกมา จึงมีความกังวลว่าแรงงานที่แห่กลับบ้านเกิดจะดึงให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตไปด้วย โดยเฉพาะแรงงานที่มีครอบครัว ซีกภาคการผลิตก้อาจจะได้รับผลกระทบไปด้วยเนื่องจากแรงงานที่ทำอยู่มีความเชี่ยวชาญดีอยู่แล้ว

 “เวลานี้เริ่มมีแรงงานในภาคบริการแห่กลับบ้าน และกำลังจะมีบางส่วนที่กระทบต่อแรงงานภาคการผลิตทางอ้อม เช่น สามีภรรยาทำงานคนละที่ ถ้าสามีกลับภูมิลำเนาภรรยาก็ต้องกลับด้วย  หรือแรงงานคนบ้านเดียวกันมาด้วยกันกลับด้วยกัน”

นายเกรียงไกรกล่าวอีกว่า ความจริงมาตรการที่ประกาศออกมาดี  แต่รัฐควรจะเตรียมแผนล่วงหน้านัดคุยกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก่อน โดยเฉพาะสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นซีกนายจ้าง รวมถึงหารือกับภาคแรงงาน พอมาตรการออกมาโดยไม่เตรียมแผนล่วงหน้า เกรงว่าแรงงานในกลุ่มนี้จะกระจายออกไปหลายจังหวัดจะน่าเป็นห่วงมาก

เอกชนสวดรัฐ  หวั่นดึงลูกจ้างซีกภาคผลิตกลับบ้านด้วย

เกรียงไกร เธียรนุกุล 

“การปิดเมืองหรือปิดสถานที่ที่มีคนจำนวนมากที่เป็นสถานที่เสี่ยงหลายประเทศก็ทำกัน แต่ทุกครั้งจะต้องมีมาตรการรองรับ ล่าสุดแค่ออกข่าวปิดสถานที่เสี่ยงก็สะท้อนให้เห็นว่าการทำงานรวมกันยังไม่เป็นเอกภาพ”