‘ภูเก็ต’ เสน่ห์แห่งอารยธรรมเมืองเก่า

24 ก.พ. 2564 | 11:25 น.

จากการที่มีโอกาสได้แวะเวียนไปภูเก็ตหลายครั้ง ทำให้ได้เห็นความแตกต่างของความคึกคักในช่วงก่อนโควิด-19 และช่วงนี้อย่างมาก เมืองภูเก็ตที่เคยคึกคักโดยเฉพาะในยามค่ำคืน กลับเงียบสงัดจนน่าตกใจ หากแต่ความเงียบ ถ้าเราอยากเที่ยว และเมื่อมีโอกาส ยังไงๆ ภูเก็ตก็ยังเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ 

ภูเก็ต เป็นเมืองที่มีทั้งหาดสวย น้ำทะเลใส และสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจในสไตล์ชิโน-โปรตุกีส รวมไปถึงวัฒนธรรมที่ถือเป็นการสร้างสรรค์อัตลักษณ์เฉพาะตัวที่เป็นเสน่ห์ให้กับภูเก็ต การผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมจีนและมุสลิม ที่นำส่วนดีระหว่างจีนกับมลายูมารวมกัน พัฒนาจนกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่เรียกว่า “เปอรานากัน” ซึ่งมีความหมายว่า “เกิดที่นี่”  ซึ่งหากมีโอกาส ลองปั่นจักรยานชมเมืองดูซักครั้ง จะได้เห็นทั้งวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมที่สวยงาม

 

‘ภูเก็ต’ เสน่ห์แห่งอารยธรรมเมืองเก่า

วันนี้เลยขอนำโปรแกรมการปั่นของ ofo ผู้นำบริการจักรยานสาธารณะอัจฉริยะ มารีวิวใหม่ เผื่อเป็นไกด์ให้คนที่อยากปั่นได้ดูเป็นไอเดีย

เริ่มต้นกันที่หน้าลานมังกร สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินี ปั่นไปทางถ.มนตรี ตรงสู่วงเวียนหอนาฬิกา ซึ่งถือเป็นจุดเช็คอินถ่ายรูปสุดฮิตของนักท่องเที่ยวจุดหนึ่ง จากนั้นข้ามแยกมาเข้าซอยตลิ่งชัน บนเส้นทางนี้จะผ่านทั้งมัสยิดยาเมี๊ยะ มัสยิดใจกลางเมืองภูเก็ตอายุเก่าแก่เกือบ 70 ปี จากนั้นข้ามสะพานตลิ่งชัน เลี้ยวขวาเข้า ถ.ตะกั่วป่า เลี้ยวซ้ายสู่ ถ.รัษฎา ตรงไปจะเจอกับวงเวียนสุริยะเดช หรือวงเวียนน้ำพุ ซึ่งสร้างเพื่อรำลึกถึงการทำเหมืองแร่ของจังหวัดภูเก็ตในอดีต

ข้ามแยกเข้าสู่ ถ.เยาวราช เลี้ยวขวาเข้า ถ.พังงา แวะไปชมตึกแถวสองข้างทางสไตล์ชิโน-โปรตุกีส และยังจะได้ผ่านศาลเจ้าแสงธรรม อายุกว่า 100 ปี ที่งดงามตามสไตล์สถาปัตยกรรมจีน สร้างโดยหลวงอำนาจนรารักษ์ ที่ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ. 2542 แถวนี้ ยังมีอาคารธนาคารกสิกรไทยสไตล์ชิโน-โปรตุกีส และโรงแรมออนออน โรงแรมแห่งแรกของเมืองภูเก็ต ที่บ่งบอกถึงยุครุ่งเรืองของการทำเหมืองแร่ ซึ่งวันนี้ เปลี่ยนไปเป็นบูทีคโฮเทล The Memory at ON ON Hotel ไปแล้ว

 

‘ภูเก็ต’ เสน่ห์แห่งอารยธรรมเมืองเก่า

‘ภูเก็ต’ เสน่ห์แห่งอารยธรรมเมืองเก่า

 

ปั่นต่อไปที่แยกธนาคารชาเตอร์ ก็จะเจอกับอีกหนึ่งจุดเช็คอินที่มีชื่อเสียงในย่านเมืองเก่า อีกหนึ่งแลนด์มาร์คสำคัญของภูเก็ต ตลอดสองฝั่งถนน จะมีอาคารเก่าสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ที่สร้างขึ้นครั้งแรกในปี 2446 ปั่นไปเรื่อยๆ ไปตาม ถ.ถลาง ข้ามแยกตัด ถ.เยาวราช เข้าถนนกระบี่ ตรงโซนนี้มีจุดเช็คอินที่ต้องแวะถ่ายรูปคือ บรรดาสตรีทอาร์ทในย่านดาวน์ทาวน์ของเมืองเก่าภูเก็ต รวมทั้ง พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ภูเก็ต’ เสน่ห์แห่งอารยธรรมเมืองเก่า

พิพิธภัณฑ์ไทยหัว เป็นโรงเรียนจีนฮกเกี้ยนซึ่งปัจจุบันได้ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์เชิงวัฒนธรรมของชาวภูเก็ต สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2447 พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัวเดิมประกอบด้วยศาลเจ้าและโรงเรียนสอนภาษาจีนชั้นสูงชื่อ “ฮั่วบุ่น” สามารถแวะเข้าไปชมและเรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของชาวจีนโพ้นทะเล ที่เข้ามาก่อร่างสร้างถิ่นฐานบนเกาะภูเก็ต รวมทั้งนำเอาวัฒนธรรมจีนมาผสานเข้ากับท้องถิ่น จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเช่นทุกวันนี้

นอกจากอาคารสวยๆ สถาปัตยกรรมที่งดงาม ภูเก็ตยังมีทั้งอาหารพื้นเมือง และของที่ระลึก ที่ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ กสอ. กำลังเร่งเติมความรู้ ช่วยพัฒนาทั้งผลิตภัณฑ์สินค้าของฝาก แหล่งท่องเที่ยวในชุมชน และการพัฒนาอาหารพื้นถิ่น เพื่อเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยว สร้างอัตลักษณ์ของชุมชนชาวภูเก็ตอีกหนึ่งทางด้วยความหวังที่ดึงให้ภูเก็ตกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังโควิดถูกสยบ

 

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41  หน้า 24 ฉบับที่ 3,655 วันที่ 21 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564