แอฟริกาติดเชื้อโควิดทะลุ 3,500,000 ราย ตายกว่า 90,000 ราย

02 ก.พ. 2564 | 01:25 น.

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในแอฟริกายังวิกฤต แม้วัคซีนล็อตแรกของแอสตร้าเซนเนก้าจะเดินทางมาถึงแอฟริกาใต้แล้วในวันนี้ (2 ก.พ.)

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกา (Africa CDC) เปิดเผยวานนี้ (1 ก.พ.) ว่า จำนวน ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สะสมทั่วทวีปแอฟริกา พุ่งแตะ 3,567,552 ราย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 แตะระดับ 91,006 ราย โดยพื้นที่ทางตอนใต้ของทวีปคือ “ฮอตสปอต” หรือจุดที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงมากที่สุด ทั้งนี้ ประเทศแอฟริกาใต้ มีผู้ติดเชื้อ 1,453,761 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดของทวีปแอฟริกา ขณะที่มีผู้เสียชีวิต 44,164 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดของแอฟริกาเช่นกัน

 

ข่าวระบุว่า ความยุ่งยากที่เพิ่มมากขึ้นก็คือ แอฟริกาใต้กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีการกลายพันธุ์ ทำให้ไวรัสมีการแพร่ระบาดได้รวดเร็วมากขึ้นเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม

 

แอฟริกาติดเชื้อโควิดทะลุ 3,500,000 ราย ตายกว่า 90,000 ราย

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่ดีคือ สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (SII) ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก จะส่งมอบ วัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด จำนวน 1 ล้านโดส ให้กับแอฟริกาใต้ จำนวน 1 ล้านโดสในวันนี้ (2 ก.พ.)

 

พื้นที่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาคือจุดที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงมากที่สุด

สิ่งหนึ่งที่เป็นความกังวลและจะเป็นอุปสรรคต่อความพยายามควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในทวีปแอฟริกาก็คือ ความสามารถในการเข้าถึงวัคซีนของประเทศในภูมิภาคนี้ที่ส่วนใหญ่ยังจัดอยู่ในข่ายประเทศยากจนกำลังพัฒนา แม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) เองก็ยังเกรงว่าการกระจายวัคซีนที่ไม่เป็นธรรมหรือการกักตุนวัคซีนโดยประเทศร่ำรวย จะทำให้ประเทศในแอฟริกาไม่สามารถรับมือกับการจู่โจมของโควิด-19 ได้

 

ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ผู้ผลิตวัคซีนบางรายได้พยายามเสนอมาตรการช่วยเหลือประเทศยากจนในแอฟริกา เช่น บริษัทไฟเซอร์  ได้เสนอลดราคาวัคซีนโควิด-19 ให้แอฟริกาใต้ เหลือเพียง 10 ดอลลาร์ต่อโดส โดยพิจารณาว่าแอฟริกาใต้เป็นประเทศรายได้ปานกลาง จึงเสนอราคาเพียงครึ่งหนึ่งของราคาวัคซีนที่ขายให้กับสหรัฐอเมริกา แต่แม้กระนั้น ผู้นำของแอฟริกาใต้ก็ยังมองว่า ราคาที่ไฟเซอร์เสนอลดให้นั้น ยังแพงเกินไป

 

นอกจากนี้ การจัดเก็บและลำเลียงขนส่งวัคซีนของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนบางราย เช่น ไฟเซอร์-บิออนเทค และโมเดอร์นา ยังต้องใช้ตู้แช่เย็นจัด อุณหภูมิติดลบต่ำมาก (-20 ถึง -70 องศาเซลเซียส) ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายและต้นทุนเกี่ยวกับการอุปกรณ์จัดเก็บและลำเลียงขนส่งเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดโควิด 1 ก.พ.64 ทั่วโลกผู้ป่วยเพิ่ม 3.77 แสนราย รวม 103.49 ล้านราย

พบเคสแรก ส.ส.มะกันฉีดวัคซีนครบ 2 โดส ยังติดโควิด

"เมียนมา" ติดเชื้อโควิด-19 พุ่ง 890 ราย ยอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสม ทะลุ 124,000 ราย

สูงต่อเนื่อง! สมุทรสาคร ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่ม 814 ราย ป่วยสะสม 1.13 หมื่นราย

วัคซีนโควิดไม่เกี่ยวการเมือง