เศรษฐกิจเลบานอนย่อยยับไปกับแรงระเบิด รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินกรุงเบรุต

06 ส.ค. 2563 | 00:32 น.

 รัฐบาลเลบานอนเผยยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิดที่คลังเก็บแอมโมไนเตรทบริเวณท่าเรือกรุงเบรุตพุ่งแตะ 135 ราย บาดเจ็บ 5,000 ราย ระดมพลจากกองทัพเข้าเก็บกู้-ดูแลความเสียหาย พร้อมประกาศภาวะฉุกเฉินในเมืองหลวงเป็นเวลา 2 สัปดาห์

 

กระทรวงสาธารณสุขเลบานอน เปิดเผยว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดรุนแรงในกรุงเบรุตเมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา พุ่งขึ้นแตะ 135 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บมีจำนวนราว 5,000 ราย ขณะเดียวกันทางตำรวจได้เข้าจับกุมเจ้าหน้าที่ประจำคลังสินค้าของท่าเรือที่มีส่วนรู้เห็นต่อการเก็บ แอมโมเนียมไนเตรท ซึ่งเป็นสารที่ไวต่อการระเบิดจำนวนมากกว่า 2,700 ตัน ไว้ที่ท่าเรือมาเป็นเวลายาวนานตั้งแต่ปี 2557 เพื่อดำเนินการสอบสวนหาสาเหตุของการระเบิด โดยคาดว่าจะมีการเปิดเผยผลสอบภายในเวลา 5 วัน

เศรษฐกิจเลบานอนย่อยยับไปกับแรงระเบิด รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินกรุงเบรุต

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ยังไม่ทิ้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการก่อการร้าย เนื่องจากเหตุการณ์ระเบิดที่ท่าเรือเบรุตครั้งนี้ เกิดขึ้นก่อนที่ศาลยุติธรรมที่ตั้งขึ้นโดยสหประชาชาติจะมีคำตัดสินคดีของ 4 ผู้ต้องสงสัยในเหตุลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีราฟิก ฮาริรี ด้วยระเบิดรถยนต์ ในวันศุกร์ที่ 7 ส.ค.นี้ จึงทำให้ยังมีคำถามว่า เหตุการณ์ระเบิดดังกล่าวอาจจะเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือไม่ เนื่องจากผู้ต้องหาทั้ง 4 คน เป็นสมาชิกกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ที่อิหร่านให้การสนับสนุน แม้ว่าทุกคนจะปฏิเสธเรื่องการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตเมื่อปี 2548 ของอดีตผู้นำเลบานอนมาโดยตลอดก็ตาม

 

นับตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค. รัฐบาลเลบานอนได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงเบรุตเป็นเวลา 2 สัปดาห์ และประกาศไว้อาลัยแก่ผู้สูญเสียเป็นเวลา 3 วัน  ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว กองทัพเลบานอนจะเข้าควบคุมสถานการณ์ดูแลความสงบเรียบร้อยและให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ประชาชน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ระเบิดช็อคโลก! ที่ท่าเรือเลบานอน (คลิป)

เปิดภาพวินาที "ระเบิดยักษ์" กวาดกรุงเลบานอน

‘ระเบิดเบรุต’ ดับแล้ว 100 เจ็บกว่า 4,000 สูญหายอื้อ เร่งหาผู้รอดชีวิต (มีคลิป)

นายกฯส่งสารถึง “เลบานอน” แสดงความเสียใจเหตุระเบิดเบรุต

แรงงาน สั่งทูตดูแลแรงงานไทยในเลบานอนใกล้ชิดเหตุระเบิด

เศรษฐกิจย่อยยับไปกับแรงระเบิด

นักวิเคราะห์ระบุว่า เหตุการณ์ระเบิดรุนแรงในครั้งนี้นับเป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้วของเลบานอนให้ต้องทรุดหนักลงไปอีก แม้ว่านายมิเชล อูน ประธานาธิบดีเลบานอน จะประกาศอัดฉีดเงินช่วยเหลือผ่านกองทุนฉุกเฉินจำนวนกว่า 1 แสนล้านลีรา หรือกว่า 2,000 ล้านบาท แต่ก็อาจจะเป็นเพียงการบรรเทาทุกข์เท่านั้น ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นได้ในระดับโครงสร้าง  ก่อนหน้านี้ เลบานอนต้องประสบกับภาวะตึงเครียดทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองมาเป็นระยะ ๆ มีการออกมาเดินขบวนประท้วงรัฐบาลหลายครั้งด้วยกัน โดยผู้ประท้วงเห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถรับมือและจัดการกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ได้ดีพอ

นายมิเชล อูน ประธานาธิบดีเลบานอน

สิ่งเลวร้ายที่ชาวเลบานอนต้องเผชิญอยู่แล้วก่อนเกิดเหตุการณ์ระเบิด คือภาวะเศรษฐกิจที่เสื่อมถอยตั้งแต่ก่อนจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  หนี้สาธารณะของเลบานอนที่คิดเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Debt-to-GDP) พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงที่สุดเป็นอันดับสามของโลก ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ 25% และมากกว่า 30% หรือเกือบ ๆ 1ใน 3 ของประชากรมีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน (Poverty Line)

 

ปลายปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางเลบานอนใช้วิธีกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์โดยให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าปกติ เพื่อนำไปชำระหนี้และช่วยทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินปอนด์เลบานอนและดอลลาร์สหรัฐฯ คงที่ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่านโยบายดังกล่าวไม่ต่างจากระบบธุรกิจแบบแชร์ลูกโซ่ที่ประสบความล้มเหลว
 

การขาดดุลการคลังทำให้รัฐบาลเลบานอนไม่สามารถดูแลบริการด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนได้อย่างเพียงพอ เช่น เกิดไฟฟ้าดับรายวัน ไม่มีน้ำสะอาดดื่ม เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างจำกัด และสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ให้บริการอยู่ ก็ถือว่าแย่ที่สุดประเทศหนึ่ง ก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม  ประชาชนต้องออกมาแสดงพลังเรียกร้องความยุติธรรมและประท้วงชนชั้นปกครองที่พวกเขาเห็นว่าเอาแต่ตักตวงขณะอยู่ในอำนาจมาหลายปี ไม่สามารถทำการปฏิรูปครั้งใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาในประเทศได้

 

ในช่วงต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา (2562) ปัญหาการขาดแคลนสกุลเงินตราต่างประเทศทำให้เงินปอนด์เลบานอนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อผู้นำเข้าข้าวสาลีและเชื้อเพลิงบังคับให้ผู้ซื้อต้องชำระหนี้ด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐฯ สหภาพแรงงานต่าง ๆ ก็พากันออกมาประท้วง เหตุการณ์ยังคงเลวร้ายลงเมื่อรัฐบาลเสนอเก็บภาษีรูปแบบใหม่กับผลิตภัณฑ์ยาสูบ น้ำมัน และการโทรศัพท์ผ่านแอปพลิเคชันอย่างว็อตส์แอพพ์ (WhatsApp) ทำให้เกิดกระแสต่อต้านในวงกว้าง เนื่องจากเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้บริโภค ข้อเสนอดังกล่าวจึงมีอันต้องล้มเลิกไป

เศรษฐกิจเลบานอนย่อยยับไปกับแรงระเบิด รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินกรุงเบรุต

อย่างไรก็ตาม ความเดือดร้อนในชีวิตความเป็นอยู่และความไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล ทำให้ชาวเลบานอนหลายหมื่นคนออกมาประท้วงบนท้องถนนและกดดันให้นายซาอัด อัล ฮาริรี และรัฐบาลของเขาต้องลาออกไป โดยมีนายฮัสซัน ดิแอบ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ขึ้นมารับตำแหน่งแทนและสิ่งที่เขาประกาศจะทำเป็นสิ่งแรกหลังรับตำแหน่ง คือการประกาศว่าเลบานอนจะไม่สามารถชำระหนี้ต่างประเทศตรงเวลาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เนื่องเงินสกุลสำรองต่างประเทศมีเหลืออยู่น้อยมาก และควรจะต้องกันไว้สำหรับใช้ชำระค่าสินค้านำเข้าที่จำเป็น

 

แต่หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถานการณ์ก็ยิ่งย่ำแย่ นำไปสู่การเดินขบวนประท้วงรัฐบาลอีกหลายระลอก บริษัทหลายแห่งต้องปิดกิจการ และอัตราแลกเปลี่ยนทางการของเงินปอนด์เลบานอนกับในตลาดมืดแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ เงินเฟ้อทะยานสูงขึ้น และหลายครอบครัวก็ไม่สามารถซื้อหาสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันอีกต่อไป รัฐบาลเลบานอนในปัจจุบัน ได้รับเงินกู้มูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มาใช้ประคองเศรษฐกิจของประเทศและจัดทำแผนฟื้นฟู แต่สุดท้ายเหตุการณ์ระเบิดที่ท่าเรือเบรุตเมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา ก็เป็นเหมือนฝันร้ายที่ไม่มีวันจบสิ้นของชาวเลบานอน ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ยังไม่สามารถประเมินค่าออกมาได้

 

ข้อมูลอ้างอิง

Lebanon: Why the country is in crisis

Beirut blast: Dozens dead and thousands injured, health minister says

75% of Lebanon needs aid after coronavirus, and hungry protesters are back on the streets