ทำความรู้จัก "พายุโซนร้อน นูรี (NURI)”

14 มิ.ย. 2563 | 02:00 น.

ทำความรู้จัก "พายุโซนร้อน นูรี (NURI)” หลังกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศเตือน พายุโซนร้อน “นูรี” กระทบทุกภาคของประเทศไทยในระหว่างวันที่ 13-16 มิ.ย.

กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศเตือน เกี่ยวกับ พายุโซนร้อน “นูรี” (Nuri) ที่คาดว่าจะกระทบทุกภาคของประเทศไทยในระหว่างวันที่ 13-16 มิ.ย. นี้ ดังนั้น เรามาทำความรู้จักพายุโซนร้อนลูกนี้กัน

พายุโซนร้อน หรือ Tropical Storm คือพายุที่ก่อตัวขึ้นเหนือน่านน้ำทะเลในมหาสมุทรแถบเส้นศูนย์สูตร มีความเร็วลมสูงสุดอยู่ในช่วง 64 ถึง 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 100 กิโลเมตร เป็นพายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone) ระยะกลางที่มีกำลังมากกว่าพายุดีเปรสชัน (Tropical Depression) แต่ยังไม่พัฒนาจนมีระดับความรุนแรงเทียบเท่าพายุไต้ฝุ่น ไซโคลน หรือเฮอร์ริเคน

ภาพถ่ายดาวเทียมขององค์การนาซา แสดงภาพพายุโซนร้อน "นูรี" ในทะเลจีนใต้เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2563

พายุโซนร้อนก่อตัวขึ้นเหนือผิวน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 26.5 องศาเซลเซียส เป็นพายุที่เกิดขึ้นเป็นประจำในมหาสมุทรแถบเส้นศูนย์สูตรของโลก มีรูปทรงของพายุหมุน แต่ยังไม่มีกำลังมากพอที่ก่อให้เกิดตาพายุที่ชัดเจนเหมือนพายุไต้ฝุ่นหรือเฮอร์ริเคน ความร้อนและความชื้นในอากาศเหนือน่านน้ำในมหาสมุทร จึงเป็นปัจจัยหลักในการก่อตัวและทวีกำลังแรงขึ้นของพายุโซนร้อน และเมื่อพายุโซนร้อนเคลื่อนที่ขึ้นฝั่งจึงมักอ่อนกำลังลง จนกลายเป็นเพียงกลุ่มเมฆหมุนวนหรือพายุดีเปรสชันก่อนจะสลายตัวไปในที่สุด เนื่องจากปะทะเข้ากับอุณหภูมิในอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่ได้รับพลังงานจากความร้อนและความชื้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หากการก่อตัวขึ้นของพายุโซนร้อนเกิดขึ้นในมหาสมุทรที่ห่างไกลชายฝั่ง พายุดังกล่าวมีโอกาสที่จะทวีกำลังแรงขึ้น จนสามารถพัฒนาไปเป็นพายุไต้ฝุ่นหรือเฮอร์ริเคนได้ในที่สุด

อ่านเพิ่มเติม  

เตือน "พายุโซนร้อน นูรี” มาแน่วันนี้ 13-16มิ.ย. ฝนตกหนัก-น้ำท่วมฉับพลัน

"พายุโซนร้อน นูรี" ขึ้นฝั่งจีนวันนี้ เตือนไทยทุกภาค ฝนหนัก-ท่วมฉับพลัน

สำหรับชื่อพายุนั้น มาจากการตั้งชื่อโดยกรมอุตุนิยมวิทยาของแต่ละประเทศ หรือหน่วยงานในแต่ละภูมิภาคที่จะสลับกันตั้งชื่อให้พายุอย่างเป็นทางการเพื่อสะดวกในการเรียกและเตือนภัย โดยจะตั้งชื่อเมื่อพายุดังกล่าวมีความเร็วลมสูงสุดเกิน 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือกลายเป็น “พายุโซนร้อน” แล้ว โดยในแถบพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและทะเลจีนใต้ ประเทศไทยร่วมกับอีก 13 ประเทศสมาชิกในคณะกรรมการไต้ฝุ่นและองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ได้แก่ กัมพูชา จีน เกาหลีเหนือ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ลาว มาเก๊า มาเลเซีย ไมโครนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม จะร่วมกันเสนอและตั้งชื่อพายุโซนร้อนที่ก่อตัวขึ้นในแต่ละปี

ชื่อ นูรี (Nuri) นั้นเป็นภาษามลายู (ภาษาราชการของมาเลเซีย) แปลว่า นกชนิดหนึ่งในตระกูลนกแก้ว  ในอดีตเคยใช้ชื่อนี้เรียกพายุมาแล้ว 2 ครั้ง คือในปี 2551 และในปี 2557 ซึ่งเป็นพายุที่มีความแรงในระดับพายุไต้ฝุ่น แต่ในปีนี้ (2563) พายุ “นูรี” ได้เริ่มก่อตัวในทะเลฟิลิปปินส์ ก่อนจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ทะเลจีนใต้และเพิ่มความแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันและพายุโซนร้อน

ภาพถ่ายดาวเทียมของนาซาระบุว่า ขณะเคลื่อนตัวเข้าใกล้เกาะฮ่องกงวันนี้ (13 มิ.ย.) ความเร็วลมสูงสุดของพายุ “นูรี” อยู่ที่ 55.5 กิโลเมตร/ชั่วโมง และคาดว่าจะเพิ่มความเร็วยิ่งขึ้น และทำให้เกิดฝนตกหนักทางตะวันตกเฉียงใต้ของฮ่องกงในวันพรุ่งนี้ (14 มิ.ย.)

ขณะเดียวกันกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทย ได้ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง "พายุโซนร้อนนูรี" ฉบับที่ 4 เช้าวันนี้ (13 มิ.ย.) เตือนว่า พายุโซนร้อน “นูรี” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ ละติจูด 18.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 116.0 องศาตะวันออก กําลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตร/ชั่วโมง คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศจีนตอนใต้ในช่วงวันที่ 13-14 มิ.ย. 2563 ลักษณะเช่นนี้ทําให้ในช่วงวันที่ 13-16 มิถุนายน 2563 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทยจะมีกําลังแรงขึ้น ส่งผลทําให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง จึงขอให้ประชาชน บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ซึ่งอาจทําให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

ทั้งนี้ แม้พายุโซนร้อนจะมีความรุนแรงไม่มากเท่าพายุไต้ฝุ่นหรือเฮอร์ริเคน แต่พายุโซนร้อนก็สามารถสร้างความเสียหายในบริเวณกว้างจากปริมาณฝนที่ตกหนักติดต่อกันหลายวัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะในแถบพื้นที่ราบลุ่มและบริเวณที่ราบสูงตามเทือกเขาต่าง ๆ

ข้อมูลอ้างอิง

Typhoon Nuri

Nuri – South China Sea

พายุโซนร้อน (Tropical Storm)