อังกฤษ-อียูเร่งแก้โควิด ฉุดเจรจา “เบร็กซิท”ชะงัก

05 เม.ย. 2563 | 11:43 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต./ทูตพาณิชย์) ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เผยโดยอ้างข้อมูลจาก Financial Times ว่า ในช่วงที่ผ่านมามา การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ส่งผลกระทบต่อการเจรจาถอนตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) ของสหราชอาณาจักร (Brexit) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสหราชอาณาจักรตั้งความหวังว่าการเจรจาตามกำหนดในช่วงเดือนมีนาคมจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายสรุปความสัมพันธ์ต่อไปได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 อย่างไรก็ดีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่อาจส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถดำเนินการได้ภายในกำหนด นอกเหนือจากความต้องการกำหนดแนวทางความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันทั้งเรื่องข้อตกลงการประมง หรือเงื่อนไขการแข่งขันทางการค้าตามที่สหภาพยุโรปเสนอ

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากลุ่ม European People’s Party (EPP) ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองในรัฐสภายุโรป (ครองที่นั่งมากที่สุดในรัฐสภายุโรป) ได้แสดงความเห็นว่าสิ่งที่สหราชอาณาจักรควรพิจารณาดำเนินการในขณะนี้คือ การขอขยายระยะเวลาของ transition period (ช่วงเปลี่ยนผ่าน) ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ยังส่งผลให้การ ประชุมหารือร่วมกันในรูปแบบเดิมแทบจะเป็นไปไม่ได้ โดยหัวหน้าคณะเจรจาของสหภาพยุโรป (นาย Michel Barnier) ได้ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และหัวหน้าคณะเจรจาของสหราชอาณาจักร (นาย David Frost) ก็ต้องเข้าสู่การกักตัวเนื่องจากมีอาการของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นกัน การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ ยังส่งผลให้การเจรจาของสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปมีความคืบหน้าล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ในเบื้องต้น โดยที่ผ่านมาความพยายามของทั้งสองฝ่ายที่จะจัดการประชุมในรูปแบบ video conference ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากความกังวลในเรื่องระบบการรักษาความปลอดภัย และจำนวนผู้เข้าร่วมเจรจาที่แต่ละฝ่ายมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมากกว่า 100 คน

 

อังกฤษ-อียูเร่งแก้โควิด ฉุดเจรจา “เบร็กซิท”ชะงัก

Mr. Phil Hogan (EU Trade Commissioner) ให้ความเห็นว่าภาคธุรกิจและหน่วยงานรัฐจะต้องประสบปัญหาหาเป็นอย่างมากในการปรับตัวหลังจาก transition period ให้เข้ากับขั้นตอนการค้าที่เปลี่ยนไป ทั้งในเรื่องรูปแบบ และขั้นตอนในการผ่านแดน ซึ่งการออกจากสหภาพยุโรปจะส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายจำเป็นจะต้องมีการจัดตั้งด่านพรมแดนระหว่างกันไม่ว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงความสัมพันธ์ได้ในรูปแบบใด

 

ทั้งนี้ หากสหราชอาณาจักรขอขยายระยะเวลา transition period ไปอีก 2 ปีจะส่งผลให้สหภาพยุโรปมีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น โดยสหราชอาณาจักรจะต้องจ่ายเงินสบทบงบประมาณของสหภาพยุโรปเพิ่มเติม โดยปีล่าสุดสหราชอาณาจักรต้องจ่ายเงินสมทบสูงถึง 9,000 ล้านปอนด์ อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการหารือถึงความเป็นไปได้ในการขยายระยะเวลา transition period ซึ่งการขยายระยะเวลานี้จะต้องดำเนินการภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2563

 

สำหรับความคืบหน้าในการเจรจานั้น ทั้งสองฝ่ายได้มีการแลกเปลี่ยนเนื้อหาของความตกลงแล้วบางส่วน โดยฝ่ายสหราชอาณาจักรได้เสนอเนื้อหาในเรื่องการค้า การบิน และความร่วมมือทางนิวเคลียร์ให้ฝ่ายสหภาพยุโรป นำไปพิจารณา และขอให้สหภาพยุโรปพิจารณาประเด็นเรื่องความตกลงร่วมในการผลิตยา พร้อมทั้งยืนยันว่าสหราชอาณาจักรจะกำหนดกฎระเบียบเรื่องสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indicatios – GI) ตามแนวทางของสหราชอาณาจักรเอง รวมถึงได้ยื่นข้อเสนอในเรื่องการเคลื่อนย้ายสินค้าเกษตรโดยมีกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่ยืดหยุ่น

 

อังกฤษ-อียูเร่งแก้โควิด ฉุดเจรจา “เบร็กซิท”ชะงัก

ทั้งนี้ สคต.ลอนดอนให้ความเห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจส่งผลให้ทั้งสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปมีความล่าช้าในการเจรจาข้อตกลงการออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งอาจไม่เป็นไปตามกำหนดระยะเวลาที่ทั้งสองฝ่ายได้ตั้งไว้ สถานการณ์การแพร่ระบาดส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ทั้งในสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปต้องหยุดชะงัก และต้องปรับตัวกับสถานการณ์และผลกระทบจากการแพร่ระบาดในปัจจุบัน ในชั้นนี้ภาคธุรกิจจึงยังไม่แสดงถึงความกังวลในเรื่องผลกระทบจาก Brexit ดังเช่นที่ผ่านมา

 

เบื้องต้นรัฐบาลของสหราชอาณาจักรอาจมีแนวโน้มที่จะไม่ขอขยายระยะเวลา transition period เนื่องจากเป็นนโยบายหลักที่นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษใช้ในการหาเสียงจนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาคือ Get Brexit done และจะส่งผลให้สหราชอาณาจักรต้องมีค่าใช้จ่ายในการขอขยายระยะเวลา transition period ซึ่ง 2 ปัจจัยนี้อาจส่งผลให้รัฐบาลของสหราชอาณาจักรจะต้องพิจารณาผลกระทบทั้งทางการเมืองและการคลังอย่างรอบคอบก่อนดำเนินการตัดสินใจใด ๆ

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะทวีความรุนแรง หรือทุเลาลงเมื่อใด อาจเป็นปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเจรจาจนไม่สามารถสรุปผลได้ทันในช่วงช่วงสิ้นปี และอาจส่งผลให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรตัดสินใจขอขยายระยะเวลา transition period ได้เช่นกัน