“เศรษฐา-พิชิต”หนาว! เปิด 4 คดีดังศาลรธน.สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

19 พ.ค. 2567 | 09:04 น.

“เศรษฐา-พิชิต”หนาว! เปิด 4 คดีดังศาลรธน.สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ : รายงานพิเศษ โดย...ทีมข่าวการเมือง ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

KEY

POINTS

 

 

  •  23 พ.ค.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติว่าจะรับคำร้องตรวจสอบคุณสมบัติ นายกฯ และ รัฐมนตรี ของ เศรษฐา ทวีสิน และ พิชิต ชื่นบาน ไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่

 

  • หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้วินิจฉัยจะสั่งให้ เศรษฐา ทวีสิน และ พิชิต ชื่นบาน หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ และรมต. ไว้ก่อนหรือไม่ 

 

  • ย้อน 4 คดีดัง ธนาธร, พิธา,  พล.อ.ประยุทธ์ และ ศักดิ์สยาม เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้วินิจฉัยปมคุณสมบัติ ล้วนสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที


 

ในวันพฤหัสบดีที่ 23 พ.ค. 2567 นี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมพิจารณาคำร้องของบรรดาสมาชิกวุฒิสมาชิก (ส.ว.) 40 คน ที่ได้ร่วมกันเข้าชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 เสนอผ่านประธานวุฒิสภา เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความสิ้นสุดลงในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ เศรษฐา ทวีสิน และ ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ของ พิชิต ชื่นบาน  

กรณีมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) ประเด็นว่า ด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง 

โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาว่า จะรับคำร้องของ ส.ว.ไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ และหาก “รับคำร้อง” จะพิจารณาว่า นายเศรษฐา  ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ไว้ก่อนหรือไม่ และ นายพิชิต ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ไว้ก่อนหรือไม่ 

ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา ส่วนใหญ่คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญ “รับคำร้อง”ไว้พิจารณาวินิจฉัย ก็มักจะสั่งให้ “ผู้ถูกร้อง” หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย อาทิ 
 

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 9 ต่อ 0 “รับคำร้อง” กรณี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถือหุ้นสื่อวี-ลัค มีเดีย ไว้พิจารณา พร้อมมีมติ 8 ต่อ 1 สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. 

วันที่ 24 ส.ค. 2565 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ “รับคำร้อง “ไว้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ และมีมติ 5 ต่อ 4 ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที

ถัดมา วันที่ 3 มี.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง ศักดิ์สยาม ชิดชอบ หยุดปฏิบัติหน้าที่ รมว.คมนาคม กรณีถือหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น หลัง “รับคำร้อง” ไว้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่

ต่อมา เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้หยุดปฎิบัติหน้าที่จากกรณีถือหุ้นสื่อไอทีวี หลัง “รับคำร้อง” ไว้วินิจฉัยสมาชิกภาพสิ้นสุดลงหรือไม่

ทั้งนี้ตาม รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 82 บัญญัติไว้ ประเด็นสำคัญระบุว่า  

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีฐานะเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ปัจจุบันรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ ส.ส. มี 500 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ขณะที่ ส.ว. มี 200 คน มาจากการเลือกกันเองของผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม อย่างไรก็ดี ในวาระเริ่มแรก บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ ส.ว. มี 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

รัฐธรรมนูญยังได้บัญญัติถึงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะเป็น ส.ส. และ ส.ว. ไว้ด้วย กรณีที่มีปัญหาว่า ส.ส. หรือ ส.ว. คนใด ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามอันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของผู้นั้นสิ้นสุดลง ก็สามารถส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดได้

ผู้มีสิทธิเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ได้แก่ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลง จากนั้นประธานสภาก็จะส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนอีกกรณีหนึ่งเป็นกรณีที่ กกต. เห็นว่าสมาชิกภาพของ ส.ส. หรือ ส.ว. คนใดคนหนึ่งมีเหตุให้สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ก็สามารถส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้เช่นกัน

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า สมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้อง “หยุดปฏิบัติหน้าที่” จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย 

และหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง สมาชิกผู้นั้นจะพ้นจากตำแหน่งนับแต่ “วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่” แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่กระทบต่อบรรดากิจการที่สมาชิกผู้ถูกร้องได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง

กรณีของ เศรษฐา ทวีสิน และ พิชิต ชื่นบาน ทาง “ประธานวุฒิสา” เป็นผู้เสนอคำร้องไปยัง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ดังนั้นจึงไม่น่ามีปัญหาในเรื่อง “ผู้มีสิทธิเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย” 

จึงทำให้คาดการณ์ได้ว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” น่าจะ “รับคำร้อง” ไว้วินิจฉัย และผลที่จะตามมาก็คือ สั่ง “หยุดปฏิบัติหน้าที่” ไว้ก่อน อย่างที่  ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, พิธา ลิ่มเจริญรัตน์, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เคยเจอมาแล้ว

ช่วงนี้ "นายกฯ เศรษฐา" อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจอยู่ต่างประเทศ โดยวันที่ 23 พ.ค. จะอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น 

มารอลุ้นกันว่า เศรษฐา ทวีสิน จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ในระหว่างที่เจ้าตัวยังอยู่ต่างประเทศ หรือไม่...