ลุยเปิดศูนย์ AI ภาครัฐ พลิกระบบราชการสู่ดิจิทัล

02 ธ.ค. 2563 | 10:50 น.

สพร. ลุยเปิดศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ภาครัฐ หนุนโซลูชันแก้ปัญหาการทำงานหน่วยงานรัฐ เร่งสร้างคอมมิวนิตีด้านเอไอ หวังยกระดับการให้บริการประชาชน

        ปี 2562 ที่ผ่านมาประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับที่ 56 จาก 196 ประเทศเทียบจากดัชนีชี้วัดความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของรัฐบาล (Government Artificial Intelligence Readiness Index) แม้ว่าในปี 2563 ประเทศไทยจะตกมาอยู่ในอันดับที่ 60 เนื่องจากประเทศต่างๆ เริ่มตื่นตัวในการเตรียมความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์มากขึ้น อีกทั้งบุคลากรด้านไอทีภาครัฐที่มีอยู่ราว 3,000 คน ที่ต้องมีการอัพสกิลความรู้ด้านเอไอเพิ่มเติม จึงจำเป็นที่จะต้องมีการวางยุทธศาสตร์ชาติด้านปัญญาประดิษฐ์อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการจัดตั้งหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AI ขึ้นโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) หรือ DGA รวมถึงการสร้างชุมชนปัญญาประดิษฐ์ (AI Community) เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษา

  ลุยเปิดศูนย์ AI ภาครัฐ พลิกระบบราชการสู่ดิจิทัล      ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันหน่วยงานรัฐมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้มากขึ้น แต่เมื่อเทียบกับภาคเอกชนแล้วถือว่าค่อนข้างล่าช้า ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกและประสิทธิภาพยังไม่ดีเท่าที่ควร โดยการเปิดตัวศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ภาครัฐเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐสามารถให้บริการสาธารณะในช่องทางดิจิทัลได้ มีการบริหารจัดการการใช้ข้อมูลภาครัฐและการทำงานให้มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกันได้อย่างปลอดภัย อำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐได้ง่ายขึ้น รวมถึงสนับสนุนให้มีการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐต่อสาธารณะเพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนระบบนิเวศของนวัตกรรมด้าน GovTech โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเอไอกับงานภาครัฐเพื่อให้บริการกับหน่วยงานราชการและประชาชน ทั้งวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เช่นข้อมูลทางการเงิน การคลัง ข้อมูลการใช้จ่ายเงินงบประมาณและข้อมูลของการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการประเมินเครดิต (Credit Scoring) เพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบป้องกันการทุจริต

ลุยเปิดศูนย์ AI ภาครัฐ พลิกระบบราชการสู่ดิจิทัล

“การคัดเลือกเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อนำไปใช้งานนั้นจะเลือกตามpainpoint หรือความจำเป็นในการใช้งานของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งปัญญาประดิษฐ์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563-2565 ในยุทธศาสตร์ที่ 4 ว่าด้วยการปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่หน่วยงานรัฐจำเป็นต้องมีคือ 1. การตื่นตัวรับรู้ต่อสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ 2. การตัดสินใจบนฐานของข้อมูล 3. การทำงานได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นความคาดหวังของประชาชน และ 4. การนำเทคโนโลยี OCR (Optical Character Recognition OCR) มาใช้เพื่อแปลงไฟล์ ภาพสู่ข้อความตัวอักษร และยกเลิกการใช้ไฟล์ .pdf”

      อย่างไรก็ตามศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ภาครัฐที่เปิดตัวขึ้นนั้นจะอยู่ในรูปแบบของ Virtual Office ที่เป็นศูนย์กลางให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย สตาร์ทอัพ หรือนักพัฒนาเข้ามาใช้งานแลกเปลี่ยนร่วมกัน โดยทำหน้าที่ในการสร้างเครือข่าย พัฒนาแพลตฟอร์ม และเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานต่างๆ เป็นตัวกลางในการหาโซลูชันที่เหมาะสมเพื่อมาแก้เพนพอยต์ของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงเป็นคอมมิวนิตีด้านเอไอให้กับบุคลากรและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยปัจจุบันภาครัฐมีบุคลากรด้านไอทีอยู่ราว 3,000 คน ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการอัพสกิลความรู้ด้านเอไอเพิ่มเติม ทั้งนี้เป้าหมายในปี 2564 คือทุกหน่วยงานรัฐจะต้องมีโครงการด้านดิจิทัลอย่างน้อย 1 โครงการในทุกหน่วยงาน ซึ่ง สพร.จะเป็นผู้สร้างมาตรฐานด้านเอไอและมีฐานข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานรัฐใช้ในการอ้างอิง

 

: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,632 หน้า 16 วันที่ 3 - 5 ธันวาคม 2563