เจ้าพ่อ TARAD.com นักคิดที่ไม่หยุดคิด และลงมือทำ

13 ก.พ. 2564 | 03:55 น.

ผมชอบทำอะไรเยอะ ชอบคิดแล้วทำเอง ช่วงหลังทำไม่ไหว เลยเปลี่ยนมาลงทุนมากกว่า ...สิ่งที่เราอยากเห็น ก็เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น และผมไม่ใช่นักลงทุนที่ลงแต่เงิน แต่จะเข้าไปวางแผน เซ็ทโกล์

พอเอ่ยชื่อ TARAD.com ในความรู้สึกของคนยุคนี้อาจจะมองว่า เก่า เพราะ TARAD.com เกิดและเป็นที่รู้จักกันมากว่า 20 ปีแล้ว แต่ต้องบอกว่า TARAD.com เก่าแต่ไม่แก่ เพราะเขาปรับและพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ คิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาต่อเนื่อง ไม่อย่างนั้น “ป้อม-ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com คงไม่ได้ชื่อว่าเป็นพี่ใหญ่แห่งวงการอีคอมเมิร์ซเมืองไทย และคงไม่ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมคิด ร่วมพัฒนาประเทศทางด้านอีคอมเมิร์ซแน่นอน

คุณป้อม” เล่าว่า ย่อๆ ว่า ตอนเริ่มต้นทำ TARAD.com ตอนนั้นเมืองไทยมีคนเล่นอินเตอร์เน็ตแค่หลักแสนคน แต่ตอนนี้มีคนใช้เป็นหลักสิบล้าน ธุรกิจออนไลน์กลายเป็นหัวใจของทุกอย่างไปแล้วก็ว่า สำหรับในยุคนี้ และสำหรับ TARAD.com ครั้งหนึ่งที่เขาเคยขายให้กับ Rakuten และก็ไปซื้อกลับมาใหม่ปรับบิซิเนสโมเดล รองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เปลี่ยนแปลงมาจนถึงยุคของผู้เล่นรายใหญ่ระดับโลก

ในวันนี้ TARAD.com ได้กลายเป็นบริษัทร่วมทุนกับ TSpace Digital ธุรกิจในเครือ TCC Group ของเจ้าสัว เจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งมีการเซ็นสัญญาและเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2561 ตอนนี้ TARAD.com กำลังทำหน้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรม ช่วยผู้ประกอบการผ่านแพลทฟอร์มที่มี รวมถึงนำเพย์เม้นท์ที่เขาได้พัฒนาขึ้นเอง ร่วมกับน้องๆ คนรุ่นใหม่ โดยตั้งเป้าที่จะพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถก้าวขึ้นสู่ตลาดโลกได้ ซึ่งธุรกิจนี้ยังเติบโตเฉลี่ย 20% ต่อปี

สิ่งที่น่าสนใจกว่า สำหรับนักคิดผู้บุกเบิกอีคอมเมิร์ซเมืองไทยคนนี้คือ การเข้าไปลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพเกือบ 30 บริษัท เพื่อสร้าง Eco System ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับดิจิทัลที่เชื่อมต่อเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเว็บ ระบบชำระเงิน หรือ ระบบขนส่ง เขาพยายามจะลงทุนในทุกๆ อย่างที่เกี่ยวข้องด้านดิจิทัล แล้วก็มองไปยังตลาดต่างประเทศ

 

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com

 

ไอเดียการลงทุนที่เกิดขึ้น  “คุณป้อม” บอกว่า มันเป็นข้อดีที่ได้มาจากตอนทำงานร่วมกับญี่ปุ่น...ตอนที่ทำงานกับ Rakuten เราได้มาเยอะ เรามีเคพีไอ มีการโต และเราเห็นดาต้า ทำให้เราเข้าใจธุรกิจเกี่ยวกับออนไลน์ ได้เห็นมุมมองที่หลากหลายของธุรกิจนี้

 

“ผมเน้นธุรกิจที่มีโอกาสทางธุรกิจ และสามารถโตได้ต่อเนื่อง เป็นธุรกิจที่ไม่เหมือนใคร คนที่ทำหรือทีมบริหารต้องมีความเชี่ยวชาญ มีความตั้งใจ ผมพยายามลงทุนให้ต่อเนื่องกัน เราพยายามสร้างความเชื่อมโยงในการทำธุรกิจออนไลน์ โดยเป้าหมาย คือ อยากเห็นประเทศเดินหน้าในเรื่องนี้ และผมไม่ชอบรอ วิธีการสร้าง คือ สร้างเด็กรุ่นใหม่ให้เขาทำ แล้วเอาเขามาเชื่อมโยง เราทำหน้าที่เป็นปรึกษา ผมเป็นเหมือนสมอง น้องๆ เป็นเหมือนแขนขา”

ยกตัวอย่างบริษัทที่เข้าไปร่วมลงทุนด้วย อย่าง ชิฟป๊อบ ทำธุรกิจเกี่ยวกับโลจิสติกส์ เริ่มจากเด็กอายุ 24 ปีตอนนี้เขาอายุ 28 ปี เริ่มต้นจากศูนย์ จนตอนนี้บริษัทนี้ยอดขายถึง 400 ล้านบาท ส่งสินค้าเกือบ 8 ล้านชิ้น โดยเชื่อมต่อกับขนส่งทุกขนส่ง เปรียบเทียบราคาได้ หรืออีก คือบริษัท ไวด์ไซด์ เป็นซูเปอร์บิ๊กดาต้าในไทย มีข้อมูลกว่า 6-7 หมื่นล้านข้อความ เรามีทุกข้อความที่คนพูดในเว็ปไซด์แบบสาธารณะ เก็บมา 5-6 ปีแล้ว เห็นข้อมูลหมด ใครด่าใคร ใครชมอะไร มีหน้าจอ ข้อมูลเรียลไทม์ ข้อมูลจะขึ้น เป็นเหมือนวอร์รูมขนาดใหญ่ วิเคราะห์ พนักงานประมาณ 200 คน ทำ data scientist เก็บข้อมูลจากโซเชี่ยล เวปไซด์ต่างๆ เช่น การจับคำว่า เลว โกง เราจับได้หมด เป็นมอนิเตอร์ริ่ง เอาไว้ฟัง

อีกบริษัทที่เอาไว้สร้างกระแส คือ เทลสกอร์ เป็นบริษัททำ อินฟลูเอนเซอร์ ตอนนี้คนไม่เชื่อโฆษณา เขาเชื่อบุคคลที่สาม ตอนนี้เรามีอินฟลูเอ็นเซอร์กว่า 5 หมื่นคน  มีอินฟลูเอ็นเซอร์ทุกระดับ ตั้งแต่ แมคโครอินฟลูเอ็นเซอร์ นาโนอินฟลูเอ็นเซอร์ ไมโครอินฟลูเอ็นเซอร์

ครีเด้นท์ เป็นบริษัทที่เอาข้อมูลจากทั้งประเทศ เป็นข้อมูลสาธารณะ แล้วซื้อข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ตอนนี้เชื่อมต่อกับกรมสรรพากร จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐดึงข้อมูล อยากค้นชื่อบริษัทอะไร ใส่ชื่อบริษัทได้เลย รายได้ กำไร ขาดทุน เสียภาษี เคยจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐไหม ผู้ถือหุ้นคนนี้ถือหุ้นบริษัทไหนบ้างถือกี่เปอร์เซ็นต์ จากข้อมูลเหล่านี้ทำให้วิเคราะห์เวลคนทั้งประเทศได้เลย และในบริษัทนี้ ยังทำเรื่องอีซิกเนเจอร์ ยืนยันตัวตน

จริงๆ ยังมีอีกหลายบริษัทที่เข้าลงทุน โมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่สเกลเร็วมาก เราต้องระดมเงินเข้ามา ก็สเกลธุรกิจ โตปุ๊บ ก็ขยายไปต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้มี 2-3 บริษัทที่ไปได้ อย่าง ชิฟบ็อกซ์ ก็ไปที่มาเลเซีย สิงคโปร์ ส่วนเทลสกอร์ ไปอินโดนีเซีย แอฟริกาใต้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผอ. ใหม่ ประกาศนำ อพท. ขึ้นแท่นองค์กรประสิทธิภาพสูง

ออมสิน คว้ารางวัลองค์กรคุณภาพแห่งชาติ TQA

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อยอดเพิ่มมูลค่าไอเดียสื่อน้ำดี

อว.เล็งของบ 10 ล้าน พัฒนาต่อหลักสูตร Reskill-Upskill-Newskill

AP SCALEUP ติดอาวุธ สร้างสุดยอด SMEs สู้วิกฤติโควิด 19

 

เจ้าพ่อ TARAD.com นักคิดที่ไม่หยุดคิด และลงมือทำ

ช่วงนี้ ก็เริ่มมาลงทุนในกลุ่มธุรกิจอื่น กีฬา เช่น แมทช์เดย์ ธุรกิจสัตว์เลี้ยง อย่างเพ็ทพาวด์ และยังมีธุรกิจยานพาหนะ บริหารระบบการเดินทาง...ผมชอบทำอะไรเยอะ ชอบคิด ชอบคิดแล้วทำเอง ช่วงหลังทำไม่ไหว เลยเปลี่ยนมาลงทุนมากกว่า...สิ่งที่เราอยากเห็น ก็เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

“คุณป้อม” บอกเลยว่า เขาไม่ใช่นักลงทุนที่ลงแต่เงิน แต่เขาจะเข้าไปวางแผน เซ็ทโกล์ (Goal Setting) โดยไม่ได้วางเป้าไกล แต่มองที่ธุรกิจต้องสเกลตัวเองได้ และไปต่างประเทศ

นี่คิดวิธีคิด ของนักธุรกิจรุ่นใหม่ในแวดวงดิจิทัล ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง แม้ธุรกิจตั้งต้นจะเติบโตมากกว่า 20 ปี แต่ทุกวันนี้ ก็ยังสร้างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจใหม่ๆ ได้อยู่เสมอ

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  หน้า 24 ฉบับที่ 3,652 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564