"โควิด"ฉุดผู้โดยสารระบบราง-ขนส่งมวลชนทั้งระบบลดวูบ

03 พ.ค. 2564 | 11:19 น.

"โควิด"ฉุดผู้โดยสารระบบราง-ขนส่งมวลชนทั้งระบบลดวูบ

เมื่อเกิดการระบาดไวรัสโควิดแต่ละระลอก นอกจากธุรกิจอื่นแล้ว ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ระบบขนส่งทางราง  รถไฟฟ้าทั้งลอยฟ้า ใต้ดิน  ตลอดจนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ การเดินขบวนรถไฟ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ต่างได้รับ ผลกระทบไม่แพ้กันเพราะกลัวจะติดเชื้อโดยนำรถยนต์ส่วนตัวออกใช้ ขณะเดียวกันเมื่อยอดติดเชื้อและมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นบริษัทเอกชนตลอดจนหน่วยงานราชการต่างให้ความร่วมมือทำงานอยู่กับบ้านลดเดินทางตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข สำหรับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ได้ปรับลดจำนวนเที่ยวลง เพื่อให้สอดรับกับจำนวนผู้โดยสาร  รายงานข่าวจากขสมก.ระบุว่าจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการขสมก.ระหว่างวันที่ 1-3 พ.ค.2564 ดังนี้ วันที่ 1 พ.ค.มีจำนวนผู้โดยสาร  276,808 คนต่อวัน วันที่ 2 พ.ค. จำนวน 283,136 คนต่อวัน วันที่ 3 พ.ค. มีจำนวนผู้โดยสาร 381,976 คนต่อวัน เมื่อเทียบจากช่วงปกติไม่เกิดสถานการณ์โควิดมีผู้โดยสาร8แสนคนต่อวันขณะช่วงโควิดรอบแรกผู้โดยสารลดลง40% 

สอดคล้องกับรายงานข่าวจากบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ แจ้งว่า จำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ในช่วงระหว่างวันที่ 27 เม.ย-3 พ.ค.64 ดังนี้ วันที่ 27 เม.ย. มีจำนวนผู้โดยสาร 17,474 คนต่อวัน วันที่ 28 เม.ย.มีจำนวนผู้โดยสาร 17,578 คนต่อวัน วันที่ 29 เม.ย.มีจำนวนผู้โดยสาร 17,594 คนต่อวัน วันที่ 30 เม.ย.มีจำนวนผู้โดยสาร 18,737 คนต่อวัน วันที่ 1 พ.ค.มีจำนวนผู้โดยสาร 8,920 คนต่อวัน วันที่ 2 พ.ค.มีจำนวนผู้โดยสาร 7,786 คนต่อวัน และวันที่ 3 พ.ค.มีจำนวนผู้โดยสาร 10,092 คนต่อวัน เมื่อเทียบช่วงโควิดรอบแรก ผู้โดยสาร 40,000 คน/วัน ก่อนโควิดระบาด มีผู้โดยสาร80,000-90,000 คน/วัน ขณะรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เมื่อมีส่วนต่อขยายมีเป้าหมายเพิ่มปริมาณผู้โดยสาร500,000คน/วันจากเดิม 350,000-370,000คน/วันเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด ต้องยอมรับว่าปริมาณผู้โดยสารย่อมลดลง จากทั้งมาตรการรัฐและชะลอเดินทาง

สำหรับภาพรวมระบบขนส่งทางรางนายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมขนส่งทางราง(ขร.) ระบุว่าระหว่างวันที่1-26เม.ย.64ปริมาณผู้โดยสารลดลงทั้งระบบ เมื่อรวมรถไฟด้วยแล้ว เหลือ527,835 คน/เดือน แบ่งเป็นรถไฟ31,389 คน แอร์พอร์ตลิงก์ 25,214คน MRT 158,416 คน และBTS  537,567 คน

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSCผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว ยอมรับว่ารถไฟฟ้า บีทีเอสได้รับผลกระทบผู้โดยสารลด เมื่อเทียบกับช่วงปกติ ผู้ใช้บริการ 800,000เที่ยวคน/วันรายได้20ล้านบาท/วัน แต่ในทางกลับกันเพื่อความปลอดภัยผู้ใช้บริการ บริษัทได้เพิ่มความถี่เดินรถ ตามมาตราการรัฐบาลและรักษาระยะห่างฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในขบวนรถและบริเวณตัวสถานีตลอดจนผ่อนคลายความเดือนร้อนขยายเวลาบัตรโดยสาร หมดอายุออกไป

 นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC)  แจ้งว่า ขณะนี้ บีทีเอส และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมบัวหลวง จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) ได้เร่งดำเนินการร่วมกันปรึกษาหารือ เพื่อช่วยบรรเทา และลดความเดือดร้อนให้กับประชาชนเรื่องผลกระทบภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้โดยสาร ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) ระลอกที่ 3 มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วเป็นวงกว้าง และพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา

ตามประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) (ฉบับที่ 20 , ฉบับที่ 22 ) ขอความร่วมมือให้หน่วยงานของภาครัฐ และภาคเอกชน พิจารณาให้เจ้าหน้าที่ และพนักงานปฏิบัติงานนอกสถานที่สำนักงาน หรือปฏิบัติงานที่บ้าน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ออกมาตรการดูแลผู้โดยสารเป็นครั้งที่ 3 ด้วยการขยายเวลาของบัตรโดยสาร ที่มีเที่ยวเดินทางในบัตรหมดอายุในช่วงตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน จนถึง วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ผู้โดยสารสามารถทยอยนำบัตรโดยสาร มาติดต่อขอรับสิทธิขยายเวลาเที่ยวเดินทาง ได้ที่ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารทุกสถานี ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2564 (และเที่ยวเดินทางนี้จะมีอายุ 30 วัน นับตั้งแต่การใช้ครั้งแรก)

นายคีรี กล่าวว่า บริษัทฯ ได้นำขบวนรถไฟฟ้าออกวิ่งให้บริการมากที่สุดทั้ง 98 ขบวน ด้วยความถี่สูงสุดเป็น 2 นาที 25 วินาที ในช่วงเวลาเร่งด่วน เพื่อช่วยส่งเสริมมาตรการ Social Distancing ยังคงรักษามาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ อย่างเข้มงวดมาโดยตลอด ถึงแม้ในขณะนี้การเดินทางของผู้โดยสารจะลดลง