" ถาวร เสนเนียม " ดัน 2 โปรเจ็กต์ ก่อนส่งไม้ต่อ รมช.คมนาคมคนใหม่

12 มี.ค. 2564 | 03:55 น.

กระทรวงคมนาคม ได้จัดงานอำลา “นายถาวร เสนเนียม” มือขับเคลื่อนแผนพัฒนาสนามบินภายใต้นโยบายเชื่อมโลกเชื่อมไทยสู่เมืองรอง หลังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา

หลุดตำแหน่งรมช.คมนาคม

ล่าสุด “นายถาวร เสนเนียม” อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ออกมาเปิดใจหลังศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีกลุ่มกบฏคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) โดยศาลได้มีคำพิพากษาจำคุก ส่งผลให้ถูกพ้นตำแหน่งในการเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคมทันที เนื่องจากที่ผ่านมาตามบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 160 บัญญัติไว้วรรคหนึ่งว่า รัฐมนตรีต้อง ไม่เป็นผู้ต้องคําพิพากษาให้จําคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท  

 

ดันแผนพัฒนาสนามบิน 29 แห่ง

อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม  ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากสิ้นสุดตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ผ่านมาได้ผลักดันนโยบายเชื่อมโลกเชื่อมไทยสู่เมืองรอง ซึ่งปัจจุบันได้ตั้งงบประมาณพัฒนาสนามบินทั้งหมด 29 แห่ง วงเงินงบประมาณ 70,000 ล้านบาท และใช้งบประมาณพัฒนาสนามบินไปแล้ว 14,600 ล้านบาท อาทิ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติเบตง จังหวัดยะลา ท่าอากาศยานนราธิวาส ท่าอากาศยานตรัง ท่าอากาศ ยานนครศรีธรรมราช ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ท่าอากาศยานชุมพร ท่าอากาศยานหัวหิน  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ท่าอากาศยานชุมพร ท่าอากาศยานแม่สอด จังหวัดตาก ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานขอนแก่น ท่าอากาศยานอุบลราชธานี และท่าอากาศยานบึงกาฬ  หรือจังหวัดใกล้เคียง

“สิ่งสำคัญที่สุดที่เราเป็นห่วงคือนโยบายเชื่อมโลกเชื่อมไทยสู่เมืองรอง บางคนบอกว่าในทางเศรษฐกิจนโยบายนี้ลงทุนและไม่คุ้มค่า แต่ในทางโครงสร้างพื้นฐานที่ประชาชนต้องการยังไม่สามารถเทียบเท่ากับรถไฟฟ้าสายสีส้มเพียง 1 สายได้เลย เราไม่ได้อิจฉาคนกรุงเทพฯ ไม่ได้อิจฉาบริษัทที่รับจ้างในการก่อสร้างท่าอากาศยานและโครงการรถไฟฟ้าอีก 10 สาย แต่เรามองว่าประชาชนในต่างจังหวัดกว่า 60 ล้านคน ควรได้รับการดูแล และรณรงค์ให้ประชาชนในต่างจังหวัดเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมให้ได้” 

 

“ไออาตา” ทำนายการบินฟื้น เริ่มปี 65

นายถาวร กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันยังคงเป็นห่วงนโยบายเชื่อมโลกเชื่อมไทยสู่เมืองรอง เนื่องจากในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ จำนวน 45 ล้านคน จำนวนเที่ยวบิน 1.04 ล้านเที่ยวบิน ทำรายได้ให้กับการท่องเที่ยว 2.2 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ลดลง 10% จากปี 2562 ซึ่งกังวลว่าไทยอาจสูญเสียด้านการท่องเที่ยวในการพัฒนาท่าอากาศยานและโครงข่ายเชื่อมต่อท่าอากาศยานและในเมือง  โรงแรม แหล่งท่องเที่ยว ร่วมกับระบบคมนาคมขนส่งทางน้ำ ทางรางและทางอากาศ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น

“ที่ผ่านมาสมาคมขนส่งทางอากาศ (ไออาตา) ได้ให้ความคิดเห็นวิเคราะห์และทำนายไว้ว่า ด้านการบินภายในประเทศจะกลับมาดีขึ้นภายในปี 2565-2566 ขณะที่การบินระหว่างประเทศจะกลับมาดีขึ้นภายในปี 2566-2567 ทั้งนี้ขอฝากนโยบายดังกล่าวให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่สานต่อด้วย” 

 

เปิดเที่ยวปฐมฤกษ์ “สนามบินเบตง” 

ส่วนการผลักดันท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา เบื้องต้นได้มอบหมายนายเจือ ราชสีห์  เลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมท่าอากาศยาน (ทย.) คณะกรรมการการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด กรมอุตุนิยมวิทยา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายภาคใต้ (ศอบต.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาคเอกชนให้มาประชุมร่วมกันเพื่อดำเนินการทดสอบการนำร่อนเพื่อนำไปสู่การออกใบอนุญาตการเป็นสนามบินสาธารณะ  ทั้งนี้ได้เน้นย้ำกับนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ต้องเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ให้ได้ภายในเดือนเมษายนนี้ 


" ถาวร เสนเนียม  " ดัน 2 โปรเจ็กต์ ก่อนส่งไม้ต่อ รมช.คมนาคมคนใหม่

ปลุก“สมาร์ท แอร์พอร์ต”

ทั้งนี้ในส่วนโครงการที่มีแผนจะพัฒนาต่อในอนาคตคือ โครงการสมาร์ท แอร์พอร์ต เนื่องจากเป็นโครงการที่เพิ่งเริ่มดำเนินการด้านระบบไอที ระบบอำนวยความสะดวก ระบบการแจ้งเตือนล่วงหน้า หรือระบบผู้ใช้บริการซื้อสินค้าเพื่อบริการ เช่น การจองโรงแรม การจองตั๋วเครื่องบิน และระบบความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ)

หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,660 วันที่ 11 - 13 มีนาคม พ.ศ. 2564