ทย.เปิดแผน สร้าง4สนามบิน บูมแดนอีสาน-ใต้

04 มี.ค. 2564 | 04:25 น.

ทย.เดินหน้าแผนพัฒนาก่อสร้างสนามบินในปี 64 หวังกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยงภาคอีสานและภาคใต้ นำร่องจ่อเปิดสนามบินเบตง จังหวัดยะลา เริ่ม เม.ย.นี้

กระทรวงคมนาคมทุ่มงบประมาณพัฒนาสนามบินรองรับการเดินทางและการท่องเที่ยวในหลายจังหวัดทั่วประเทศโดยเฉพาะภาคอีสานและทางภาคใต้ มองว่าจะนำพาความเจริญเข้าสู่พื้นที่อย่างน่าจับตา ทั้งนี้ รายงานข่าวจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปี 2564 ทย.มีแผนพัฒนาและก่อสร้างท่าอากาศยานหลายโครงการ เช่น โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬ ซึ่งจะขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2565 วงเงิน 3,500 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ที่ผ่านมาทย.ได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬเบื้องต้นแล้วเสร็จ

หลังจากนี้จะได้ดำเนินการจัดทำข้อสรุปเพื่อนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณา และจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป หากครม.เห็นชอบ ทย.จะดำเนินการออกแบบรายละเอียดและประเมินผลรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในปี 2565 คาดว่าจะออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดเขตที่เวนคืนที่ดิน (พรฎ.เวนคืนที่ดิน) ภายในปี 2566 และดำเนินการก่อสร้างในปี 2567-2569 

“สาเหตุที่เราศึกษาพัฒนาสนามบินบึงกาฬ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ค่อนข้างไกลจากสนามบิน รวมทั้งประชาชนมีความต้องการเดินทางในระยะทางที่สามารถเข้าถึงได้”

ทั้งนี้จากการศึกษาวิเคราะห์โครงการฯ ประกอบด้วย อาคารที่พักผู้โดยสารพื้นที่ประมาณ 20,000 ตารางเมตร ทางวิ่งขนาด 45×2,500 เมตร รองรับเครื่องบิน 180-200 ที่นั่ง ลานจอดอากาศยาน อาคารประกอบต่างๆ และจากการศึกษาสภาพพื้นที่ที่มีศักยภาพในการก่อสร้างมากที่สุด ได้แก่ พื้นที่ในเขตอำเภอโป่งเปือย และตำบลวิศิษฐ์ อำเภอเมืองบึงกาฬ อยู่ห่างจากหอนาฬิกาอำเภอเมืองบึงกาฬ ประมาณ 15 กิโลเมตร (กม.) ใช้ระยะเวลาในการเดินทางจากในเมืองไปถึงท่าอากาศยานประมาณ 15 นาที 

รายงานข่าวจากทย.กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันทย.มีแผนศึกษาท่าอากาศยานอื่นๆ อีกหลายโครงการ เช่น โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสตูล วงเงินงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างอยู่ที่ประมาณ 4,133 ล้านบาท โดยจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร พื้นที่ 9,600 ตารางเมตร (ตร.ม.), ทางวิ่ง (รันเวย์) กว้าง 45 เมตร ยาว 2,500 เมตร พร้อมไหล่ทางวิ่งข้างละ 7.5 เมตร รองรับเครื่องบิน 180-200 ที่นั่ง ซึ่งเป็นการส่งเสริมโครงข่ายการบินให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ ทำให้ผู้เดินทางได้รับความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น หากเดินทางทางอากาศต้องไปขึ้นเครื่องบินที่ท่าอากาศยานหาดใหญ่ หรือท่าอากาศยานตรัง ซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1.5-2 ชั่วโมง ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบโครงการฯ  ทย.เปิดแผน  สร้าง4สนามบิน  บูมแดนอีสาน-ใต้

ขณะเดียวกันยังมีแผนก่อสร้างโครงการท่าอากาศยานมุกดาหาร วงเงินลงทุน 4,535 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงได้ใช้บริการ ทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบเช่นกัน 

สำหรับผลการศึกษาเบื้องต้นที่ได้ทำการศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2561 พื้นที่ที่เหมาะสม คือ บริเวณ ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร มีพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ ห่างจากตัวเมือง 20 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับการศึกษาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) โดยจะมีอาคารผู้โดยสาร พื้นที่ 37,200 ตารางเมตร มีความยาวทางวิ่ง 2,500 เมตรทั้งนี้ จะอยู่ห่างจากท่าอากาศยานนครพนม 120 กม. อีกทั้งอยู่ห่างจากท่าอากาศยานสกลนคร 125 กม. และห่างจากท่าอากาศยานร้อยเอ็ด 134 กม.

ขณะเดียวกันผลการศึกษายังระบุอีกว่า จ.มุกดาหาร เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและโอกาสทางการค้าและลงทุนสูง สามารถก่อสร้างท่าอากาศยานได้ มีความคุ้มค่า ทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่

ทั้งนี้ในส่วนการดำเนินการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุง จังหวัดพัทลุง ปัจจุบันทย. ได้รับจัดสรรงบประมาณ จำนวน 6 ล้านบาท เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินงานการ โดยเริ่มศึกษาฯ มาตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2563 สิ้นสุดวันที่ 13 มิถุนายน 2564 รวมระยะเวลาศึกษาฯ ประมาณ 9 เดือน เพื่อพิจารณาพื้นที่ก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุง ซึ่งจะต้องพิจารณาหลาย ๆ ปัจจัยประกอบกัน เช่น สภาพภูมิประเทศ ทิศทางลม พื้นที่ที่เหมาะสม พื้นที่อ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม โครงข่ายการคมนาคม ระยะเวลาการเดินทางจากตัวเมืองถึงท่าอากาศยาน ข้อคิดเห็นและข้อมูลที่ได้จากการเข้าพบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รวบรวมมาซ้อนทับลงบนแผนที่ฐานที่จัดเตรียมไว้ จากนั้นกำหนดพื้นที่ทางเลือกอย่างน้อย 3 แห่ง เพื่อใช้คัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป ในการคัดเลือกจะพิจารณาความเหมาะสม 3 ด้าน ประกอบด้วย ความเหมาะสมด้านสิ่งแวดล้อม ด้านวิศวกรรม และด้านเศรษฐศาสตร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมา นายถาวร เสนเนียม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เร่งผลักดันสำหรับการเปิดเส้นทางเที่ยวบินท่าอากาศยานนานาชาติเบตง จังหวัดยะลา ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบนำร่องท่าอากาศยานฯ ทั้งนี้ได้เร่งรัดขับเคลื่อนให้ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง จังหวัดยะลา เป็นสนามบินนาชาติเชิงพาณิชย์ ใกล้แล้วเสร็จ คาดว่าจะเปิดให้บริการเดือนเมษายน 2564 ทั้งนี้ที่ผ่านมาสายการบินนกแอร์ ได้ขอยื่นข้อเสนอรับการสนับสนุนมาที่กระทรวงคมนาคมในการเปิดเส้นทางการบินดอนเมือง-เบตง เพื่อบรรเทาความช่วยเหลือในการลดภาระต้นทุนในการปฏิบัติการบิน ทั้งนี้ข้อยุติแล้ว สำหรับการรับประกันจำนวนผู้โดยสารบัตรโดยสารและที่นั่งในการทำ Block seat (Hard block) หรือการันตีผู้โดยสารในระยะแรกภายใน 6 เดือน อัตรา 75% หรือคิดเป็น 64 ที่นั่ง และในระยะถัดไป อัตรา 60% หรือคิดเป็น 52 ที่นั่ง 

หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,658 วันที่ 4 - 6 มีนาคม พ.ศ. 2564