จ่อลากยาวศึกรถไฟฟ้า 2 สี  สายสีส้ม ปะทะ สายสีเขียว 

15 ก.พ. 2564 | 19:00 น.

สายสีส้ม-สายสีเขียว ระอุ จ่อลากยาว ล้มประมูล-ยื้อขยายสัญญาสัมปทาน “สามารถ” ติง รฟม. ควรยึดหลักเกณฑ์เดิมหากเปิดประมูลใหม่ เชื่อไม่แฟร์ต่อเอกชนรายอื่นหลังรื้อเกณฑ์ทีโออาร์ เผยเอกชนมีสิทธิฟ้องศาลแพ่ง-อาญา  หากได้รับความเสียหาย ด้านบีทีเอส ย้ำ รอคำชี้แจงรฟม. เตรียมสั่งฝ่ายกฎหมายตรวจสอบความชัดเจน  

รถไฟฟ้า 2 เส้นทางยังคงร้อนระอุ สำหรับ การล้มประมูลสายสีส้ม 1.4 แสนล้าน นับหนึ่งประมูลใหม่ ก่อนศาลปกครองชี้ขาด เช่นเดียวกับสายสีเขียว ปมยื้อขยายสัมปทาน ของกระทรวงคมนาคม ตลอดจนการท้วงติงอัตราค่าโดยสาร 104 บาท ซึ่งอาจนำมาถึงค่าครองชีพประชาชนในระยะยาว แม้กรุงเทพมหานครได้ออกประกาศขยายเวลาจัดเก็บค่าโดยสารจากวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ออกไปแล้วก็ตาม มองว่า ศึกนี้ไม่น่าจะจบลงโดยง่าย   

นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” กรณีคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี มีมติเห็นชอบล้มประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า หากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะดำเนินการเปิดประมูลโครงการฯ ใหม่ เบื้องต้นรฟม.ควรกำหนดหลักการเงื่อนไขเอกสารการประกวดราคา (TOR) ให้ชัดเจนและไม่ควรเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลโครงการฯหลังจากออกประกาศแล้ว ขณะเดียวกันเมื่อ รฟม. เปิดประมูลใหม่ต้องเปิดประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน ในกรณีที่เอกชนรายใดทักท้วงการประมูลของโครงการฯ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดความเสียหายต่อเอกชนรายอื่น  

“การเปิดประมูล เราอยากให้รฟม.ใช้หลักเกณฑ์เดิมคือพิจารณาซองข้อเสนอด้านเทคนิค และพิจารณาซองข้อเสนอด้านราคา 100% แยกกัน อีกทั้งควรกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขทีโออาร์ผ่านซองข้อเสนอด้านเทคนิคว่าเป็นอย่างไร ซึ่งปัจจุบันที่กำหนดเงื่อนไขซองข้อเสนอด้านเทคนิค 85% ถือว่าสูงมาก แต่ที่ผ่านมารฟม.กลับใช้หลักเกณฑ์การประมูลเงื่อนไขใหม่โดยนำซองข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน รวมกับซองข้อเสนอด้านราคา 70 คะแนน  ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อรฟม.ในกรณีที่เอกชนเสนอผลตอบแทนต่ำ ส่งผลให้รฟม.ได้ผลตอบแทนน้อยและเสียหายต่อประเทศชาติ  

จ่อลากยาวศึกรถไฟฟ้า 2 สี  สายสีส้ม ปะทะ สายสีเขียว 

ขณะเดียวกันเกณฑ์การประมูลใหม่โดยกำหนดซองข้อเสนอด้านราคา 70 คะแนน นั้น ได้แบ่งสัดส่วนคะแนนไว้ 10 คะแนน   สำหรับความน่าเชื่อถือผลประกอบการของเอกชนที่เดินรถไฟฟ้าเพื่อเสนอต่อรฟม. หากเอกชนรายใดที่ไม่ได้เดินรถไฟฟ้าจะได้รับความน่าเชื่อถือน้อยและได้รับคะแนนน้อยหรือไม่ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับเอกชนรายอื่น หากรฟม.กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการประมูลโครงการฯ  ควรเป็นธรรมกับทุกฝ่าย 

“อย่าให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นการเอื้อให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่ง รฟม.ต้องทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ  ที่ผ่านมารฟม.ยกเลิกการประมูล ก็พยายามหาข้อกฎหมายหรือการสงวนสิทธิในเอกสารทีโออาร์สามารถยกเลิกได้ แต่สังคมไม่คิดแบบนั้น แต่มองว่าทำไมรฟม.ถึงเลือกดำเนินการในลักษณะนี้  เรามองว่า รฟม.ต้องเรียกความเชื่อมั่นกลับมา รวมทั้งการประมูลในอนาคตอย่าให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก” 

สำหรับค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รฟม.ควรกำหนดอัตราค่าโดยสารให้ชัดเจนในเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) และควรใช้เรทราคาเดียวกัน ตามที่รฟม.ประกาศกำหนดอัตราค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง อยู่ที่ 14-42 บาท

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบระยะเวลาดำเนินการโครงการดังกล่าวระหว่างการรอศาลปกครองตัดสินพิจารณาคดีหรือล้มประมูลโครงการฯ และเปิดประมูลใหม่ จะเห็นว่าเมื่อปลายเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมารฟม.เผยว่า อยู่ระหว่างรอคำวินิจฉัยจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดพิจารณาตัดสินคดี โดยคาดว่าภายใน 2 เดือน จะได้ผู้ชนะการประมูลโครงการฯ และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เท่ากับว่าใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่นาน แต่เหตุใดรฟม.ถึงตัดสินใจล้มประมูลโครงการฯ กะทันหัน อีกทั้งอ้างว่าเสียเวลาและไม่รู้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะวินิจฉัยแล้วเสร็จเมื่อไร

  “เรามองว่าข้ออ้างของรฟม.ดูย้อนแย้ง หากจะสู้แล้วต้องสู้ให้สุดซอยในเมื่อรฟม.เดินหน้ายื่นอุทธรณ์ทุเลาคำสั่งการบังคับใช้หลักเกณฑ์ใหม่ต่อศาลปกครองสูงสุด  ซึ่งเป็นคำสั่งของศาลปกครองกลาง  หากสู้ไปเลยจะได้รู้ใครแพ้ชนะ ขณะเดียวกันจะได้รู้ว่าหลักเกณฑ์ในลักษณะนี้ไม่ควรดำเนินการต่อไปในอนาคต เรามองว่าใครกันที่ทำให้เกิดความล่าช้า หลังจากที่มีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ทำให้เอกชนไม่ได้รับความเป็นธรรมถึงขั้นต้องฟ้องศาลปกครอง”

หากมีการล้มประมูลสายสีส้ม เอกชนมีสิทธิฟ้องรฟม.หรือไม่ เบื้องต้นด้านเอกชนคงต้องดูความเสียหายก่อนว่าเป็นอย่างไร หากได้รับความเสียหายก็สามารถฟ้องศาลแพ่งหรือศาลปกครองเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้ อีกทั้งต้องตรวจสอบว่าสามารถดำเนินการฟ้องคดีอาญาได้หรือไม่  ขณะเดียวกันการยกเลิกที่สงวนสิทธิไว้ในเอกสารทีโออาร์มีการสงวนสิทธิจริงแต่เป็นการสงวนสิทธิโดยสุจริตหรือไม่  

อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีการเปิดประมูลใหม่จะมีเอกชนให้ความสนใจโครงการฯ หรือไม่ เชื่อว่ามีเอกชนรายเดิมทั้ง 2 ราย ที่ให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการรถไฟฟ้าเหมือนกันและสามารถแข่งขันกันได้ ส่วนเอกชนรายอื่นที่ซื้อซองเอกสารโครงการฯสามารถเข้าไปร่วมดำเนินการซับคอนแทคเตอร์ได้ ทั้ง 2 ฝ่าย หากเอกชนรายใดได้เส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะทำให้ได้ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น เพราะเป็นการเชื่อมต่อกรุงเทพฯ ทั้งด้านตะวันออกและด้านตะวันตก ซึ่งผ่านพื้นที่ที่มีความหนาแน่น คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารมากขึ้น

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา  กรรมการบริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS กล่าวว่า กรณีล้มประมูลสายสีส้ม  ขณะนี้อยู่ระหว่างรอคำชี้แจงจากรฟม. หลังจากนี้ต้องรอฝ่ายกฎหมายพิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับบีทีเอส  ว่าการยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้นจะขัดกับข้อกฎหมายอย่างไรบ้าง ส่วนกรณีที่ศาลปกครองอยู่ระหว่างการพิจารณาไต่สวนถือว่าสิ้นสุด โดยรฟม.ต้องถอนฟ้องจากศาลปกครองหลังจากที่มีการยื่นอุทธรณ์ในช่วงที่ผ่านมา  หากมีการประกาศเชิญชวนให้ประกวดราคาใหม่นั้นบีทีเอสก็ต้องพิจารณาเงื่อนไขรายละเอียดการประมูล (TOR) ก่อน

ขณะที่ความคืบหน้าสายสีเขียว ก่อนหน้าที่ กทม.จะมีหนังสือ สั่ง ขยายเวลา จัดเก็บค่าโดยสารทั้งระบบ ออกไป ที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุกทม. ได้ออกประกาศกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวชั่วคราว ที่ 104 บาท รวมทั้งกทม.ส่งหนังสือตอบกลับมาที่กระทรวงคมนาคม เพียง 2 ประเด็นนั้น  เบื้องต้นได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมทำหนังสือขอข้อมูลทุกๆ 15 วัน จนกว่ากทม. จะส่งข้อมูลที่เหลือจนครบถ้วนตามที่กระทรวงเคยแจ้งไว้  

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย และ กทม. ตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อขอข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องถึงกรณีสายสีเขียว เช่น ผลการศึกษาของโครงการ แนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ต้นทุนของโครงการ และเอกสารอื่นๆ เพื่อนำมาศึกษา และให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการลดค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาท จากเดิมที่กำหนดค่าโดยสารไว้ 158 บาท เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชน ขณะเดียวกันต้องไม่เกินอัตราค่าโดยสารตามแนวทางที่ระบบรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ในสังกัดกระทรวงคมนาคมกำหนดใช้ เป็นต้น 

ที่มา : หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,652 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564