ปิดหัวลำโพง “สายสีแดง” พร้อม เดินรถ

31 ม.ค. 2564 | 06:15 น.

ปิดหัวลำโพง “สายสีแดง” พร้อม เดินรถ

 

การเตรียมความพร้อม เปิดให้บริการโครงการรถไฟสายสีแดง มีความคืบหน้าอย่างมาก ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจงานและเยี่ยมชมโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน 

 

โดยระบุว่า ได้สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) หารือถึงแนวการบริหารรายได้ในโครงการรถไฟสายสีแดง รวมทั้งการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ ให้ครอบคลุมรายจ่าย  โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับผลการศึกษาเดิมของ รฟท. ที่จะทำให้องค์กรขาดทุน และไม่ควรคาดหวังให้กระทรวงคมนาคมขอเงินอุดหนุนจากภาครัฐ (PSO) เพราะมองว่ารัฐวิสาหกิจควรมีกำไร อย่างไรก็ตาม รฟท.ต้องเสนอแนวทางดังกล่าวต่อกระทรวงคมนาคมให้รับทราบภายใน 7 วัน 

 

ขณะเดียวกันรฟท.ได้รายงานถึงผลการศึกษาเดิมของโครงการฯ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ระบุว่ามีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา 1.4 พันล้านบาท ซึ่งเป็นค่าบริหารสถานีและค่าบำรุงรักษา  ก่อนที่จะเปิดให้มีการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) พบว่า รฟท. จะมีรายได้อยู่ที่ 267 ล้านบาท เบื้องต้นได้สั่งการให้ รฟท. ทบทวนผลการศึกษาใหม่ โดยตั้งเป้าให้รฟท.มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาทต่อปี 

 

สำหรับการพิจารณาหารายได้ในพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะจัดพื้นที่ให้กับประชาชนเพื่อนำสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอท็อป) เข้ามาจำหน่าย ทั้งนี้ได้ให้รฟท.ศึกษาข้อมูลจากงานจัดแสดงสินค้าโอท็อปที่เมืองทองธานี และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ดังกล่าว โดยจะต้องหารือร่วมกับกรมพัฒนาชุมชน และกระทรวงมหาดไทยว่าสินค้ารูปแบบใดที่เหมาะสมมาจำหน่ายและเพิ่มมูลค่าในพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ   ปิดหัวลำโพง “สายสีแดง” พร้อม เดินรถ

 

ส่วนการปิดให้บริการสถานีรถไฟหัวลำโพง ขณะนี้ได้สั่งการให้ รฟท.ศึกษาหาแนวทางการปิดให้บริการสถานีรถไฟฯ เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน โดยหลังจากเปิดให้บริการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ไม่ควรนำขบวนรถไฟเข้าไปให้บริการภายในสถานีหัวลำโพง แล้ว หากมีความจำเป็นให้ รฟท. ปรับเวลาการเดินรถ หลังจาก 22.00-04.00 น.

 

ส่วนพื้นที่บริเวณหัวลำโพง ได้สั่งการให้ รฟท.หาแนวทางการพัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นศูนย์กลางของพื้นที่ รฟท.ให้มีรายได้สามารถบริหารจัดการองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ บริเวณพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย 

 

รายงานข่าวจาก รฟท. ระบุว่า ส่วนการปิดให้บริการสถานีรถไฟหัวลำโพง ปัจจุบัน รฟท.อยู่ระหว่างเตรียมหารือสำนักงานนโยบายและแผนขนส่งและจราจร (สนข.) กรมขนส่งทางราง (ขร.) และ รฟท. เพื่อหาแนวทางสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการปิดให้บริการสถานีรถไฟหัวลำโพง โดยเฉพาะประชาชนที่ใช้บริการสถานีรถไฟในเส้นทางดังกล่าว เช่น สถานียมราช โรงพยาบาลรามาธิบดี และสามเสน เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเส้นทางดังกล่าวประมาณ 10,000 คนต่อวัน

 

ที่มา่: หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,649 วันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564