โควิดรอบใหม่...  อสังหาเมืองท่องเที่ยว  ฟื้นตัวยาก

23 ม.ค. 2564 | 04:25 น.

หลังจากหลายฝ่ายตั้งความหวังไว้ว่าปี 2564 น่าจะเป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ที่เศรษฐกิจมีโอกาสฟื้นตัวและขับเคลื่อนธุรกิจทุกภาคส่วนให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง เมื่อมีสัญญาณบวกจากการพัฒนาวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 และแผนการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทยและสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจทุกภาคส่วน แต่การแพร่ระบาดระลอกใหม่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้ทำให้ทั้งประเทศต้องปรับแผนใหม่อีกรอบแบบไม่ทันตั้งตัว

 

ในขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์นั้นเมื่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มกลับมาในช่วงแรก ทำให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ ต่างขนโปรโมชั่นลด แลก แจก แถมออกมาเพื่อกระตุ้นกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง พร้อมวางแผนเปิดตัวโครงการต่าง ๆ มาเจาะกลุ่มผู้ซื้อที่เป็นผู้อยู่อาศัยจริง (Real Demand) เพิ่มขึ้นในปี 2564 แม้การแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้จะทำให้แผนธุรกิจต้องสะดุดไปบ้าง แต่คาดว่าสถานการณ์จะไม่หยุดชะงักกินระยะเวลายาวนานเหมือนรอบที่ผ่านมา

 

 

นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในไทย ถือเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของตลาดอสังหาฯ ปีนี้ ผู้ประกอบการหลายรายจำเป็นต้องปรับแผนเพื่อรับมือ จากที่เคยคาดการณ์ว่าปี 2564 จะเป็นปีปรับสมดุลของตลาดอสังหาฯ ทั้งในแง่ของราคาและอุปทานและจะฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี แต่การแพร่ระบาดระลอกใหม่อาจส่งผลให้ต้องใช้ระยะเวลาปรับตัวนานขึ้น

เมืองท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

แม้ตอนนี้จะยังไม่สามารถประเมินผลกระทบที่มีต่อการเติบโตในตลาดได้ชัดเจนเนื่องจากมีระยะเวลาที่สั้นเกินไป แต่เชื่อว่าจากประสบการณ์ตรงที่ผู้พัฒนาอสังหาฯ นักลงทุน และผู้บริโภครับมือการแพร่ระบาดในปีที่ผ่านมาจะทำให้สามารถปรับตัวและจัดการกับสถานการณ์ครั้งนี้ได้ดีขึ้น ผนวกกับการที่วัคซีนต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังจะเข้าไทยเร็วๆ นี้ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ทุกฝ่ายสามารถข้ามผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้

 

เมืองท่องเที่ยวกระทบ

อย่างไรก็ตาม สำหรับเมืองท่องเที่ยวมองว่า กระทบหนัก หลังเจอโควิดระลอกใหม่แม้ว่าทิศทางการขับเคลื่อนตลาดอสังหาฯ ของผู้ประกอบการจะยังโฟกัสกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงหรือกลุ่ม Real Demand มากขึ้น โดยภาพรวมตลาดอสังหาฯ มีสัญญาณดีขึ้นหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ
โควิด-19 คลี่คลายในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2563 ที่ผ่านมา จากการวิเคราะห์ของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์ สะท้อน ดัชนีราคาอสังหาฯ ในช่วงดังกล่าวเพิ่มขึ้น 2% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส (นับจากช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2562) ถือเป็นสัญญาณชีพของภาคอสังหาฯ ที่เริ่มกระเตื้องขึ้น

 

 

โดยภาพรวมเกือบทุกจังหวัดมีการกระเตื้องขึ้นของดัชนีราคาและจำนวนอุปทาน ซึ่งการรุกหัวเมืองต่างจังหวัดยังมีความน่าสนใจ เนื่องจากยังมีกลุ่ม Real Demand ที่มีกำลังซื้อในพื้นที่อยู่ และที่ดินต่างจังหวัดก็มีราคาต่ำกว่าในกรุงเทพฯ จึงเป็นอีกตลาดที่น่าจับตามองและลงทุนเพื่อสร้างแต้มต่อทางธุรกิจในอนาคตได้ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดที่ยังเป็น “Blue Ocean” ผนวกกับปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบคมนาคมและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ แหล่งงานในนิคมอุตสาหกรรม ตลอดจนการมีห้างสรรพสินค้าเพื่อดึงดูดกำลังซื้อผู้บริโภคในพื้นที่ ล้วนช่วยอำนวยความสะดวกให้การดำรงชีวิตในต่างจังหวัดสะดวกสบายยิ่งขึ้น นอกจากความต้องการที่อยู่อาศัยจากกลุ่ม Real Demand ในพื้นที่แล้ว ยังมีกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการซื้ออสังหาฯ ในจังหวัดท่องเที่ยวไว้เป็นบ้านพักตากอากาศกับครอบครัว หลีกหนีความวุ่นวายจากการทำงาน หรือซื้อเพื่อลงทุนเก็บไว้ปล่อยเช่าสร้างผลตอบแทนในอนาคตอีกด้วย

 

 

แต่ก็เหมือนเป็นภาพฝันค้าง หลังจากมีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ตลาดอสังหาฯ ที่เคยมีแนวโน้มไปได้ดีกลับชะงักลงอีกรอบ โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบก่อนเป็นอันดับแรกๆ ทั้งที่ช่วงปลายปีควรจะเป็นช่วงที่ตลาดท่องเที่ยวกลับมาบูมอีกครั้งหลังจากอั้นมาจากช่วงล็อกดาวน์ โดยพบว่า ใน 3 จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญได้รับผลกระทบในช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา ทั้งในแง่ของการท่องเที่ยว และตลาดอสังหาฯ

 

 

ไล่เรียงจากจังหวัดภูเก็ตหลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบแรกในไทย ตลาดอสังหาฯ ในภูเก็ตเริ่มกลับมาส่งสัญญาณฟื้นตัวอีกครั้งหลังคลายล็อกดาวน์ พร้อมทั้งได้แรงหนุนที่ดีจากการท่องเที่ยวของคนไทยที่เลือกเดินทางมาภูเก็ตมากขึ้นในช่วงที่ปิดประเทศ รวมถึงสัญญาณของภาครัฐที่เปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาในภูเก็ตได้อีกครั้ง แม้จะมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็ยังเป็นสัญญาณที่ดี ซึ่งล้วนส่งผลให้มีการเติบโตในตลาดอสังหาฯ อีกครั้ง

 

 

โดยภูเก็ตได้รับผลกระทบไม่มากนักจากการระบาดระลอกใหม่ เนื่องจากยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มากนัก (3 ราย ณ วันที่ 15 มกราคม 2564) ดัชนีราคาอสังหาฯ ในภาพรวมยังคงเพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นมาจากบ้านเดี่ยวที่มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้นถึง 3% และคอนโดฯ เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อน สะท้อนให้เห็นความต้องการที่อยู่อาศัยที่มีทิศทางเติบโต ขณะที่ดัชนีอุปทานเพิ่มขึ้นถึง 18% จากไตรมาสก่อนเช่นกัน โดยอยู่ในอำเภอกะทู้ อำเภอเมืองภูเก็ต และอำเภอถลางในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน
รูปแบบที่อยู่อาศัยที่มีจำนวนมากที่สุดในภูเก็ตคือ คอนโดมิเนียม คิดเป็นสัดส่วน 56% ของอุปทานทั้งหมดในจังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอกะทู้ เมื่อพิจารณาจำนวนอุปทานตามระดับราคา พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับราคา 5-10 ล้านบาท แบ่งเป็นคอนโดฯ และบ้านเดี่ยวส่วนใหญ่อยู่ในระดับราคา 5-10 ล้านบาท และทาวน์เฮาส์อยู่ในระดับราคา 3-5 ล้านบาท

 

 

เช่นเดียวกับ ชลบุรี เป็นอีกหนึ่งจังหวัดท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งหลังจากคลายล็อกดาวน์ ซึ่งได้อานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาดีขึ้น ทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการพัฒนาโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่กลับมาเดินหน้าอีกครั้ง รวมไปถึงการพัฒนาระบบคมนาคมและนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆแต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ดัชนีอุปทานและราคาอสังหาฯ กลับปรับลดลงอย่างมากจากไตรมาสก่อน คาดว่าเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ชลบุรีกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยพบว่า ดัชนีราคาอสังหาฯ ในภาพรวมลดลง 10% ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563

 

จากที่เคยเพิ่มขึ้น 5% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเกือบทุกทำเลมีดัชนีราคาลดลง ยกเว้นอำเภอเมืองชลบุรี ดัชนีราคาเพิ่มขึ้น 6% และอำเภอศรีราชาเพิ่มขึ้น 2% จากไตรมาสก่อน ดัชนีอุปทานลดลงอย่างมากถึง 70% จากไตรมาสก่อน โดยอุปทานส่วนใหญ่ถึง 70% อยู่ในอำเภอบางละมุง รูปแบบที่อยู่อาศัยที่มีจำนวนมากที่สุด ได้แก่ คอนโดฯ  มีจำนวนถึง 64% ของอุปทานทั้งหมดในจังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอบางละมุงเช่นกัน หากแบ่งจำนวนอุปทานตามระดับราคา พบว่า ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับราคา 1-3 ล้านบาท แบ่งเป็น คอนโดฯ และทาวน์เฮาส์ส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับราคา 1-3 ล้านบาท และบ้านเดี่ยวอยู่ที่ระดับราคา 5-10 ล้านบาท

 

มาที่ เชียงใหม่จังหวัดท่องเที่ยวทางภาคเหนือที่แม้จะมีสัญญาณดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ซึ่งตลาดอสังหาฯ ได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาดีขึ้น รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคมต่าง ๆ แต่ในช่วงปลายปีที่มีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่า ดัชนีราคาอสังหาฯ ในภาพรวมลดลง 7% จากไตรมาสก่อน ถือเป็นดัชนีราคาที่ต่ำที่สุดในรอบ 4 ไตรมาส (ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2562) โดยดัชนีราคาลดลงทุกรูปแบบที่อยู่อาศัยในเกือบทุกทำเล

 

เช่น อำเภอเมืองเชียงใหม่ลดลง 3% และลดลงมากที่สุดในอำเภอพร้าว ลดลงถึง 35% ยกเว้นในอำเภอแม่แตง และอำเภอแม่วัง เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 23% และ 22% ตามลำดับขณะที่ดัชนีอุปทานมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 8% จากไตรมาสก่อน โดยส่วนใหญ่ถึง 43% อยู่ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ รูปแบบที่อยู่อาศัยที่มีจำนวนมากที่สุดในเชียงใหม่คือ บ้านเดี่ยว มีจำนวนถึง 66% ของอุปทานทั้งหมดในจังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ และอำเภอสันทรายหากแบ่งจำนวนอุปทานตามระดับราคา พบว่า ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับราคา 1-3 ล้านบาท โดยคอนโดฯ บ้านเดี่ยว และทาวน์เฮาส์ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ระดับราคา 1-3 ล้านบาททั้งหมด 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,646 วันที่ 21 - 23 มกราคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดีไซน์เปลี่ยนชีวิต…  คิดใหม่เรื่อง บ้าน 

ลดภาษีที่ดิน90%สูญแสนล. อปท.7,850 แห่งขาดงบ รัฐชดเชยแค่ปีละหมื่นล้าน

อนันดา ขน 7 คอนโดฯ ตบเท้าเข้าร่วม "อีลิท การ์ด"

ทะลวง ทางเข้า-ออก สนามบิน”สุวรรณภูมิ”ลาก ไฮสปีดไปอู่ตะเภา

แคมเปญกระตุ้นยอดขาย ฉุดราคาบ้าน -คอนโดฯร่วงต่อ