“อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 1” เตรียมยื่นฟ้องคดีอาญากรรมการป.ป.ช.

18 เม.ย. 2564 | 07:37 น.

อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 เตรียมยื่นฟ้องคดีอาญากรรมการป.ป.ช.และเปิดโปงการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในศาลโดยองค์กรอิสระ

วันนี้ (18 เมษายน 2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันจันทร์ที่ 19 เมษายน 2564 เวลา 9.00 น.นี้ ที่ศาลจังหวัดสระบุรี นายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 จะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญา กรรมการป.ป.ช.บางคน เอาข้อมูลเท็จมากล่าวหา และมีการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายหลายประการ เป็นเหตุให้ตนเองต้องถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและถูกสั่งให้ไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ทั้งนี้จะแถลงข่าวเปิดโปงการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในศาลโดยองค์กรอิสระ

แหล่งข่าวแจ้งว่า กรรมการป.ป.ช.คนดังกล่าว ปัจจุบันถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาไม่ต่ำกว่า 10 คดี คดี เริ่มต้นมาจาก นายประหยัด พวงจำปา รองเลขาธิการป.ป.ช.(คนในป.ป.ช.) ยื่นฟ้อง ประธานกรรมการป.ป.ช., กรรมการป.ป.ช., อัยการสูงสุด เป็นจำเลยต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ในข้อหาร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีออกระเบียบขัดต่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฯ และส่งฟ้องโดยไม่ผ่านประธานวุฒิสภาฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

ต่อมามีการร้องเรียนไปยังประธานศาลฎีกา ว่ามีการแทรกแซงการพิจารณาคดีโดยอธิบดี เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 สำนักงานศาลยุติธรรมได้มีคำสั่งลับที่ 333/2564 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2564 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี อธิบดีถูกร้องเรียนกล่าวหาว่าเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณา อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของคู่ความคดีหมายเลขดำ ที่อท.84/2563

คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้รายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยมีความเห็นว่า อธิบดีมีพฤติการณ์เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีของข้าราชการตุลาการอื่นหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้การพิจารณาพิพากษาคดีของข้าราชการตุลาการอื่นซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาขาดความเป็นอิสระเพื่อให้โจทก์ได้เปรียบในผลแห่งคดีอันมีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับโจทก์ซึ่งถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการและเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนและประเพณีปฏิบัติของทางราชการอันเป็นการกระทำความผิดวินัยร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 73 (2) (3)

แหล่งข่าวแจ้งว่า การสอบสวนใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน โดยที่อธิบดียังไม่ได้รับทราบข้อกล่าวหาจากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและยังไม่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงแก้ข้อกลาวหากับคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมากในกระบวนการยุติธรรมของไทย ขอให้ประชาชนจับตาดูว่ามีการแทรกแซงกระบวนยุติธรรมในศาลโดยองค์กรอิสระหรือไม่ อย่างไร