ครม.อนุมัติผลตอบแทนท่าเรือFแหลมฉบังเฟส3 2.9 หมื่นล้าน

07 เม.ย. 2564 | 11:57 น.

ครม.เคาะผลประโยชน์ตอบแทนท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 (ท่าเรือF)ที่ 2.9 หมื่นล้าน

 

วันที่ 7 เม.ย. 2564 น.ส.ไตรศุลี​ ไตรสรณกุล​ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี​กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำที่ภาครัฐจะได้รับจากโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ค่าสัมปทานคงที่เท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อทีอียู

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้รายงานว่า กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ได้เสนอให้ค่าสัมปทานคงที่คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 12,051 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อทีอียู ซึ่งต่ำกว่าผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐคาดหมายตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 ตุลาคม 2501 มูลค่า NPV ประมาณ 32,225 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 คาดการณ์ตู้สินค้าในอนาคตมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งแนวโน้มที่การท่าเรือแห่งประเทศ (กทท.) จะสามารถประหยัดเงินลงทุนในโครงการ ฯ ในส่วนของงานก่อสร้างทางทะเล และงานก่อสร้างอาคารท่าเทียบเรือ ระบบถนน และสาธารณูปโภค และหากมีการคัดเลือกเอกชนใหม่จะมีผลกระทบต่อการเปิดดำเนินการท่าเทียบเรือ F อาจล่าช้าถึง 2 ปี ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่ท่าเรือแหลมฉบังจะไม่สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าได้

รวมทั้งข้อจำกัดในการรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ของท่าเรือในปัจจุบัน และกรณีที่มีการถมทะเลแล้วเสร็จแต่ไม่มีการร่วมลงทุนสร้างท่าเทียบเรือได้ทันที จะทำให้ กทท. ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงโครงสร้างอีกด้วย

ในที่ประชุมครม. ยังมอบหมายให้ สกพอ. พิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดเงื่อนไขการแบ่งผลตอบแทนเพิ่มเติมในกรณีที่มีปริมาณตู้สินค้าสูงกว่าคาดการณ์ เพื่อให้ผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐจะได้ใกล้เคียงกับที่คณะรัฐมนตรีได้เคยอนุมัติไว้ รวมทั้งเร่งรัดให้ กทท. ดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ตามแผนงานอย่างเคร่งครัด กำกับติดตามการดำเนินงานของเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นไปตามเป้าหมาย และสามารถทำให้ปริมาณการขนส่งสินค้า กลับไปใกล้เคียงกับปริมาณการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้เดิม เพื่อให้โครงการการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 สนับสนุนการเป็นประตูการค้า (Gateway) เชื่อมโยงการอุตสาหกรรมและการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านตามนโยบายของรัฐบาลได้

อนึ่ง กลุ่ม GPC ประกอบด้วย บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) และบริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ได้