ส่องประเด็นซักฟอก 10 รมต.

27 ม.ค. 2564 | 02:20 น.

 

 

ส่องประเด็นซักฟอก 10 รัฐมนตรี วิปรัฐบาลยํ้าให้อภิปรายไม่ไว้วางใจ 4 วัน 16-19 ก.พ. และลงมติวันที่ 20 ก.พ.

พรรคร่วมฝ่ายค้าน 8 พรรค ส.ส.208 คน ประกอบด้วย เพื่อไทย, ก้าวไกล, เสรีรวมไทย, เพื่อชาติ, ประชาชาติ, พลังปวงชนไทย, เศรษฐกิจใหม่ และ ไทยศิวิไลย์ นำโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ยื่นญัตติขอเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จำนวน 10 คน ต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2564 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้เป็นที่คาดการณ์ว่า ประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และอีก 9 รัฐมนตรี จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาทิ 

1. พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกอภิปรายในประเด็นบริหารสถานกาณ์เชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ผิดพลาดล้มเหลว, การจัดหาวัคซีนโควิด-19, บ่อนการพนัน, ประเด็นการใช้มาตรา 44 ผิดพลาดเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนภาคธุรกิจ, การแก้ไขปัญหาแก้เศรษฐกิจล้มเหลว รวมทั้งเรื่องการจัดซื้อเรือนํ้า เป็นต้น

2. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในเรื่องการใช้งบประมาณของรัฐเพื่อสร้างความรํ่ารวยให้กับตนเอง, การแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้ และประเด็นที่เก่าจะมีการหยิบยกขึ้นมาถล่มซํ้าคือ เรื่องนาฬิกาหรู และการโอนย้าย พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยไม่ตั้งกรรมการสอบ ซึ่งถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 

3. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะถูกถล่มในเรื่องการบริหารจัดการโควิด-19 ที่ผิดพลาดล้มเหลว รวมถึงปัญหาการจัดซื้อจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19

 

ส่องประเด็นซักฟอก 10 รมต.

 

 

4. ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะถูกอภิปรายในประเด็นการทุจริตถุงมือยางขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และการแต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถเข้าดำรงตำแหน่ง 

5. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย จะถูกอภิปรายเรื่องการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว, การนำเข้าขยะจากต่างประเทศ ซึ่งเชื่อมโยงถึงคนใกล้ชิด, การแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง และปล่อยปละละเลยให้องค์กรในกำกับเกิดการทุจริต

 

 

 

 

6. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ รองหัวหน้าพรรพลังประชารัฐ จะถูกถล่มเรื่องการแแก้ไขระบบการศึกษาที่ล้มเหลว รวมทั้งมีการแทรกแซงข้าราชการประจำ 

7. นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ถูกอภิปรายเรื่องการบริหารแรงงานต่างด้าวที่ผิดพลาดจนเป็นต้นเหตุเชื้อโรคโควิด-19 ระบาดในวงกว้าง ทั้งยั้งปล่อยให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้ใช้แรงงาน 

8. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในเรื่องการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนในธุรกิจดิวตี้ฟรี รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทีโออาร์โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และการคัดค้านการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวพ่วงด้วยเรื่องการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิส่วนต่อขยาย

9. นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย จะถูกอภิปรายเรื่องเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา และกรณีการละเว้นไม่อนุมัติจ่ายเงินค่ารถซ่อมบำรุงทางให้บริษัทเอกชน สมัยเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา ซึ่งมีคดีอยู่ใน ป.ป.ช.

 

 

 

 

และ 10. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ จะถูกถล่มเรื่องการแสดงบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สินที่ส่อเป็นเท็จ, การขาดคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี กรณีมีปัญหาเรื่องยาเสพติดในต่างประเทศ ซึ่งมีคำร้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยอยู่ใน ขณะนี้ และอาจมีเรื่องการแก้ปัญหาที่ดิน ส.ป.ก. รวมถึงกรณีการแต่งตั้ง ธนพร ศรีวิราช ภรรยา ดำรงตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกฯ  โดยไม่คำนึงถึงวุฒิภาวะและความเหมาะสม 

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า กรอบการอภิปรายพรรคร่วมรัฐบาลยอมจัดสรรเวลาให้ตามกรอบเดียวกับปี 2563 ที่ผ่านมาคือรวม 52 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 26 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาล 24 ชั่วโมง ขณะที่ประธานและรองประธานสภาฯ ในที่ประชุม 2 ชั่วโมง  โดยทางวิปรัฐบาลจะคุยกับฝ่ายค้านอีกครั้งหลังจากที่ ครม. ตอบรับกรอบวันความพร้อมในการชี้แจงต่อสภาฯ เบื้องต้นกำหนด วันที่ 16-19 ก.พ. และลงมติวันที่ 20 ก.พ.นี้ 

 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,648 หน้า 12 วันที่ 28 - 30 มกราคม 2564