ย้อนรอยข้อเสนอ ทางออกประเทศ ชุด “อานันท์ ปันยารชุน”

30 ต.ค. 2563 | 11:00 น.

ย้อนรอยข้อเสนอ ทางออกประเทศ ที่คณะกรรมการปฎิรูป ชุด “อานันท์ ปันยารชุน” วิเคราะห์ สรุปปัญหา และข้อเสนอแนะ

ภายหลังเกิดการชุมนุมของ “คณะราษฎร 2563” เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากนายกฯ แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ปฏิรูปสถาบัน จนนำไปสู่การชุมนุมใจกลางกรุงเทพมหานคร อยู่เป็นระยะๆ ขณะที่ฝ่ายไม่พอใจการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันก็ได้ออกมาชุมนุมแสดงพลังด้วยเช่นกัน 

 

หลังเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว “รัฐสภา” ได้เปิดประชุมเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ ซึ่งมีข้อเสนอต่างๆ มากมาย และกำลัง จะนำไปสู่การตั้ง “คณะทำงานศึกษาสร้างความปรองดอง” โดย นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา  ได้ประสานไปยังเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ให้ศึกษารูปแบบการหาทางออกร่วมกัน และออกแบบโครงสร้างของคณะทำงาน

 

ว่าไปแล้ว การแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหาทางออกประเทศ ภายหลังเกิดวิกฤติิการณ์ทางการเมือง นับเป็นสูตรสำเร็จของทุกรัฐบาล  

 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2553 หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศ เมื่อช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้จัดตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นหลายชุด แต่ชุดที่คนพูดถึงและให้ความสนใจคือ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีนักวิชาการภาคประชาชน ที่มีเชื่อเสียง หลายคนเข้าร่วมเป็นกรรมการ

 

ย้อนปัญหาการเมืองไทย

คปร.ได้วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจว่า ประเทศไทยประสบความล้มเหลวต่อเนื่องกันมาหลายปี ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจใน พ.ศ. 2540 มีเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยจํานวนมาก แต่เราไม่ประสบความสําเร็จที่จะนําเงินทุนนั้นไปสู่การลงทุนที่ยั่งยืน ส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในการปั่นฟองสบู่ทางเศรษฐกิจ จนนําไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ 

 

ในขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวกดดันให้มีการปฏิรูปการเมืองในช่วงนั้น ก็มีพลังพอที่จะผลักดันให้ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เปิดพื้นที่การต่อรองแก่คนกลุ่มต่างๆ ในประเทศไทยอย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรก แต่การปฏิรูปการเมืองไม่อาจทําได้ด้วยรัฐธรรมนูญที่ดีเพียงฉบับเดียว 

“อานันท์”หนุนแก้รธน.ปิดสวิตซ์ส.ว.-เลิกโหวตนายกฯ

ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนั้น ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างอีกมาก ทั้งในเชิงการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งบ่อนทําลายเป้าหมายของรัฐธรรมนูญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ไม่เกิดพรรคการเมืองแนวใหม่, ไม่เกิดการบริหารรัฐกิจใหม่, ไม่เกิดการบริหารจัดการธุรกิจใหม่, ไม่เกิดการจัดสรร อํานาจขององค์กรทางการเมืองใหม่ ฯลฯ ความพยายามในการปฏิรูปการเมืองก็ซบเซาลงในสังคม ในขณะที่ไม่มีการศึกษาและกดดันให้เกิดการปฏิรูปด้านอื่นๆ คู่ขนานกันไปกับการปฏิรูปการเมือง

 

กล่าวโดยสรุปรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ไม่สามารถทําให้การแข่งขันเชิงอํานาจทั้งหมดของสังคมไทย เข้ามาอยู่ในกรอบกติกาของรัฐธรรมนูญได้ จึงมีการแข่งขันเชิงอํานาจที่อยู่นอกกรอบอีกมาก และในที่สุดก็นําไปสู่การล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ด้วยการรัฐประหาร 2549 และจากนั้นเป็นต้นมา ก็เกิดความแตกแยกทางการเมืองอย่างหนักในสังคม จนนําไปสู่การนองเลือดที่ไม่จําเป็นหลายครั้ง ทั้งที่เป็นไปอย่างเปิดเผยและไม่เปิดเผย รัฐธรรมนูญ 2550 ก็ไม่อาจยุติ หรือบรรเทาความแตกแยกอย่างรุนแรงนี้ได้ 

 

ในขณะเดียวกันปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่มีอยู่ก็ยังคงดํารงอยู่สืบมา ก่อให้เกิด ปัญหาเชิงปรากฏการณ์ที่น่าวิตกหลายอย่างแก่ประเทศไทย เช่น สินค้าเกษตรและ หัตถอุตสาหกรรมหลายตัวของไทยถูกแข่ง ขันจนสูญเสียตลาดของตน ส่วนใหญ่ของแรงงานไทยอยู่ในภาคที่ไม่เป็นทางการหรือนอกระบบ ซึ่งไม่มีหลักประกันด้านใดอย่างเพียงพอ คุณภาพการศึกษาของไทยตกตํ่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น 

 

ความอยุติธรรม หรือ การถูกเลือกปฏิบัติจากโครงสร้างอํานาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ได้สร้างสภาวะความเหลื่อมลํ้า หรือความไม่เท่าเทียมกันในทุกด้าน จนทําให้อํานาจต่อรองของผู้คนต่างๆ ในสังคมที่จะปกป้องสิทธิ เสรีภาพ หรือ บรรลุความเท่าเทียมกันเป็นไปได้ยาก โครงสร้างความอยุติธรรม หรือ ความเหลื่อมลํ้าดังกล่าว คือความรุนแรงที่สังคมไทยกําลังเผชิญอยู่

 

ความล้มเหลวของ ประเทศดังที่กล่าวมานี้ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) เห็นว่า จําเป็นต้องค้นหาปัญหาที่เป็นเงื่อนปม สําคัญสุด ซึ่งเป็นรากเหง้าที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา และลงความเห็นว่าความเหลื่อม ลํ้าอย่างสุดขั้วในทุกด้าน เป็นปัญหาเชิงโครง สร้างที่เป็นแกนกลาง อันก่อให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างด้านอื่นๆ ตามมาอีกมาก การปฏิรูปจึงควรจัดการกับปัญหานี้เป็นหลัก

 

แนวทางปฏิรูปโครงสร้างอำนาจของคณะกรรมการปฏิรูปตามที่ลำดับมาในข้อเสนอข้างต้น มิได้เกิดจากจินตนาการทางอุดมคติ หรือผุดงอกมาจากความเชื่อทางการเมืองที่ตายตัว หากเป็นผลจากการครุ่นคิดพิจารณาสภาพที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง

 

ความไม่เป็นธรรม

คปร.ได้สรุปปัญหาจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจว่า ความเหลื่อม ลํ้าในความสัมพันธ์ทางอำนาจ นับเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของประเทศไทย และเป็นต้นตอบ่อเกิดของปัญหาสำคัญอื่นๆ อีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม

 

ความสัมพันธ์ทางอำนาจมีหลายแบบ และถูกค้ำจุนไว้ด้วยโครงสร้างทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ แต่เมื่อกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว โครงสร้างอำนาจที่มีพลังสูงสุดและส่งผลกำหนดต่อโครงสร้างอำนาจอื่นทั้งปวงคือโครงสร้างอำนาจรัฐ

 

ด้วยเหตุดังนี้ การปรับสมดุล หรือ การลดความเหลื่อมลํ้าในความสัมพันธ์ทางอำนาจ จึงจำเป็นต้องอาศัยการปฏิรูปโครง สร้างอำนาจของรัฐ ซึ่งประกอบด้วยกลไกการปกครองต่างๆ เราจำเป็นต้องจัดระเบียบกลไกเหล่านี้เสียใหม่ เพื่อให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าสามารถเข้าถึงอำนาจได้อย่างเท่าเทียมกัน

ตลอดระยะเวลาประมาณ 120  ปีที่ผ่านมา ระเบียบอำนาจของรัฐไทยถูกจัดโครงสร้างไว้ในลักษณะรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง โดยมีรัฐบาลเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของระบบบริหารราชการแผ่นดิน อันประกอบด้วยกระทรวงทบวงกรม ซึ่งมีกิ่งก้านสาขาครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และมีอำนาจบริหารจัดการสังคมในทุกขอบเขตทุกปริมณฑล

 

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าระบอบการปกครองแบบรวมศูนย์ดังกล่าว เคยมีคุณูปการใหญ่หลวงในการปกป้องแผ่นดินไทย ให้รอดพ้นจากลัทธิล่าอาณานิคม อีกทั้งมีบท บาทสำคัญในการสร้างความเป็นปึกแผ่น ของประเทศชาติ ช่วงระยะผ่านจากสังคมจารีตสู่สมัยใหม่

 

อย่างไรก็ดี เราคงต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่า เมื่อเวลาผ่านไปนานนับศตวรรษ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ได้ทำให้การบริหารจัดการประเทศแบบสั่งการจากข้างบนลงมากลายเป็นเรื่องไร้ประสิทธิภาพ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่สลับซับซ้อนขึ้น กระทั่งในหลายๆ กรณีได้กลายเป็นเหตุแห่งปัญหาเสียเอง

 

 

ย้อนรอยข้อเสนอ ทางออกประเทศ ชุด “อานันท์ ปันยารชุน”

 

 

ที่สำคัญคือการที่อำนาจรัฐกระจุกตัวอยู่ตรงศูนย์กลาง ย่อมทำให้เกิดความ เหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจระหว่างเมืองหลวงกับเมืองอื่นอย่างมากมาย ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ไม่สามารถเปิดพื้นที่ทางการเมืองได้เพียงพอ สำหรับประชาชนที่นับวันยิ่งมีความหลากหลายกระจายเหล่าสภาพเช่นนี้ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมในหลายๆ ด้าน ซึ่งมักนำไปสู่ความไม่พอใจทางการเมือง

 

นอกจากนี้ โครงสร้างอำนาจที่ถือเอารัฐเป็นตัวตั้ง และสังคม เป็นตัวตามยังเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนา ประชาธิปไตย เพราะมันทำให้การเติบโตของประชาสังคมที่จะทำหน้าที่ควบคุมกำกับรัฐเป็นไปได้ยาก ประชาชนพลเมืองจำนวนมาก ถูกทำให้เคยชินกับความเฉื่อยเนือยเรื่องส่วนรวม บ่มเพาะความคิดหวังพึ่ง และขยาดขลาดกลัวที่จะแสดงพลังของตน

 

เหตุท้องถิ่นอ่อนแอ

ในอีกด้านหนึ่ง การควบคุมบ้านเมืองโดยศูนย์อำนาจที่เมืองหลวงได้ทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอ ประชาชนอ่อนแอ กระทั่งดูแลตัวเองไม่ได้ในหลายๆ กรณี โครงสร้างการปกครองแบบสั่งการจากเบื้องบน ได้มีส่วนทำลายอัตลักษณ์ของท้องถิ่นในหลายที่หลายแห่ง ผู้คนในท้องถิ่นต้องสูญเสียทั้งอำนาจในการจัดการชีวิตตัวเอง สูญเสียทั้งศักดิ์ศรี และความภาคภูมิใจในวิถีวัฒนธรรมของตน

 

ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าการดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยวิธีกำหนดนโยบายจากส่วนกลาง โดยเพิกเฉยต่อความ เรียกร้องต้องการของประชาชนในชุมชนท้องถิ่น ก็ยิ่งส่งผลให้ท้องถิ่นไร้อำนาจใน การจัดการเรื่องปากท้องของตน กระทั่งเข้าไม่ถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ

 

เมื่อสังคมถูกทำให้อ่อนแอ ท้องถิ่น ถูกทำให้อ่อนแอ และประชาชนจำนวนมากถูกทำให้อ่อนแอ ปัญหาที่ป้อนกลับมายังศูนย์อำนาจจึงมีปริมาณท่วมท้น การที่กลไกแก้ปัญหาในระดับล่างมีไม่พอ ทำให้รัฐบาลทุกรัฐบาล ล้วนต้องเผชิญกับสภาวะข้อเรียกร้องที่ล้นเกินจากทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งยิ่งทำให้ขาดทั้งประสิทธิภาพและเสถียรภาพในการทำงาน

 

สถานการณ์ดังกล่าวได้ถูกซํ้าเติมให้เลวลงด้วยเงื่อนไขของยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีระบบเศรษฐกิจแบบไร้พรมแดนเป็น พลังขับเคลื่อนสำคัญ ระบบการค้าเสรีและการลงทุนเสรีทำให้รัฐไทยมีอำนาจลดลงในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ ขณะที่กลไกตลาดกลับมีอำนาจมากขึ้นในการกำหนดชะตากรรมของประชาชน

 

การที่รัฐไทยยังคงรวมศูนย์อำนาจบังคับบัญชาสังคมไว้อย่างเต็มเปี่ยม แต่กลับมีอำนาจน้อยลงในการปกป้องสังคมไทยจากอิทธิพลข้ามชาติ และมีอำนาจน้อยลงในการดูแลทุกข์สุขของประชาชนนั้น นับเป็นภาวะวิกฤติที่คุกคามชุมชนท้องถิ่นต่างๆ เป็น อย่างยิ่ง เพราะทำให้ประชาชนในท้องถิ่นแทบจะป้องกันตนเองไม่ได้เลย เมื่อต้องเผชิญกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีทุนมากกว่า มีเทคโนโลยีสูงกว่าหรือมีระบบบริหารจัดการที่เหนือกว่าอย่างสิ้นเชิง

 

ต้องเร่งกระจายอำนาจ

ด้วยเหตุผลทั้งหลายทั้งปวงนี้ การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ด้วยการโอนอำนาจการบริหารจัดการตนเองไปให้ท้องถิ่น จึงกลายเป็นความจำเป็นเร่งด่วน และนับเป็น การปรับสมดุลของประเทศครั้งสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขและสภาวการณ์ของยุคสมัยที่แปรเปลี่ยนไป 

 

อย่างไรก็ตาม การกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นจะต้องไม่ใช่เป็นแค่การถ่ายโอนอำนาจจากองค์กรปกครองใหญ่สู่องค์กรปกครองเล็ก หรือเป็นเพียงการสร้างระบบรวมศูนย์อำนาจขึ้นมาในท้องถิ่นต่างๆ แทนการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง หากจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการลดอำนาจรัฐ และเพิ่มอำนาจประชาชนโดยรวมด้วย

เช่นนี้แล้ว หลักการเบื้องต้นของการกระจายอำนาจ คือการเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถจัดการชีวิตและชุมชนของตนเองได้มากขึ้น โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนและการพัฒนาคุณภาพชีวิต การตัดสินใจ และการอนุมัติ/อนุญาตให้มีการดำเนินการใดๆ ในท้องถิ่นที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

ขณะเดียวกัน การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจะต้องสอดประสานไปกับการส่งเสริมให้ใช้ประชาธิปไตยทางตรงในการตัดสินใจ และการบริหารจัดการด้านต่างๆ ในสังคม นอกเหนือจากการอาศัยระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน อันเป็นรูปแบบหลักอยู่ในปัจจุบัน

 

แน่นอน การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจในทิศทางนี้ ย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบทบาทและอำนาจหน้าที่ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ชุมชนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม หากเราต้องการลดความเหลื่อมลํ้าในสังคมไทย ก็ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างภาคส่วนต่างๆของสังคมไทยอย่างลึกซึ้งถึงราก อีกทั้งจำเป็นต้องมีการปรับฐานความคิดเรื่องอำนาจจากความสัมพันธ์แนวดิ่งเป็นแนวราบมากขึ้น

 

ดังนั้น ท้องถิ่นตามแนวทางปฏิรูปโครงสร้างอำนาจดังกล่าว จึงไม่ได้หมายถึง อปท.เพียงอย่างเดียว หากยังรวมถึงชุมชน ประชาชนและภาคประชาสังคมของแต่ละพื้นที่ไว้อย่างแยกไม่ออก การเพิ่มอำนาจให้ชุมชนเพื่อบริหารจัดการตนเองจะต้องเป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจตั้งแต่ต้น และอำนาจของ อปท.ที่จะได้รับการถ่ายโอนเพิ่มขึ้นจากรัฐบาล จะต้องถูกกำกับและตรวจสอบโดยประชาชนในชุมชนหรือภาคประชาสังคมในท้องถิ่นได้ในทุกขั้นตอน โดยมีทั้งโครงสร้างและกระบวนการรองรับอย่างชัดเจน

 

กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจควรต้องเป็นกระบวนการเดียวกันกับการขยายและพัฒนาระบอบประชาธิปไตย โดยมีเจตจำนงอยู่ที่การปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ของประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งประกอบส่วนขึ้นเป็นองค์รวมของประชาชนทั้งประเทศ

 

เราคงต้องยอมรับว่าในเวลานี้โครงสร้างอำนาจแบบรวมศูนย์แทบจะแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ ของประเทศไม่ได้อยู่แล้ว เพราะตลอดระยะเวลา 120 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยได้เปลี่ยนไปมากในทุกๆ ด้าน ประชาชนไทยในปัจจุบันมีความหลากหลายทั้งในด้านความคิดและประเภทของผลประโยชน์ จนไม่อาจใช้อำนาจสั่งการจากข้างบน หรือใช้สูตรสำเร็จสูตรเดียวมาแก้ปัญหาทุกหนแห่ง

 

ให้ปชช.แก้ปัญหาตัวเอง

เพราะฉะนั้น หนทางที่ดีที่สุดคือการให้อำนาจประชาชนแก้ปัญหาของตัวเอง ด้วยการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ผู้คนทุกหมู่เหล่าอย่างเสมอภาค และสร้างเงื่อนไขให้ประชาชนสามารถอาศัยประชาธิปไตยท้องถิ่นเป็นฐานรากในการสะสางความเดือดร้อนและปรับปรุงชีวิตของตน

 

การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจในทิศทางดังกล่าวมิใช่การรื้อถอนอำนาจรัฐ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็จะไม่มีผลต่อฐานะความเป็นรัฐเดี่ยวของประเทศไทย หากยังจะเสริมความเข้มแข็งให้กับรัฐไทย และเป็นการช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อรัฐไปด้วยพร้อมๆ กัน

 

นอกจากนี้ การกระจายอำนาจลงสู่ชุมชนท้องถิ่นก็ดี และการกระจายอำนาจจากรัฐสู่ภาคประชาสังคมโดยรวมก็ดี หากทำได้สำเร็จไม่เพียงจะลดความเหลือมลํ้าในสังคม อันเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศ แต่ยังจะส่งผลอย่างสูงต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับชาติ ทั้งนี้เพราะมันจะทำให้อำนาจสั่งการและผลประโยชน์ที่ได้จากการกุมอำนาจในส่วนกลางมีปริมาณลดลง ผู้ชนะบนเวทีแข่งขันชิงอำนาจไม่จำเป็นต้องได้ทุกอย่างไปหมด และความขัดแย้งก็ไม่จำเป็นต้องมีลักษณะเอาเป็นเอาตาย

 

การปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจในระดับมหภาคนั้น ย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมทางการเมืองของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเลี่ยงไม่พ้น เพราะฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ก็คือการปฏิรูปการเมืองอีกวิธีหนึ่ง 

 

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาสภาพการณ์ของโลกในยุคปัจจุบัน การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจยังนับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ที่จะทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมมากขึ้นในการอยู่ร่วมกับกระแสโลกาภิวัตน์ ทั้งนี้เนื่องเพราะการปล่อยให้ประชาชนในท้องถิ่นที่อ่อนแอตกอยู่ภายใต้อำนาจของตลาดเสรี โดยไม่มีกลไกป้องกันตัวใดๆ ย่อมนำไปสู่หายนะของคนส่วนใหญ่อย่างเลี่ยงไม่พ้น ทั้งในรูปของการสูญเสียเครื่องมือทำกิน คุณภาพสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรทุกประเภท

 

สภาพเช่นนี้เป็นภัยคุกคามความอยู่รอดของประเทศชาติโดยรวม ไม่ต่างอันใดกับภัยคุกคามของลัทธิล่าอาณานิคมเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว เพียงแต่ว่าครั้งนั้นเราต้องเสริมความเข้มแข็งของประเทศด้วยการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ส่วนครั้งนี้ความเข้มแข็งของประเทศจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการ กระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นและประชาสังคมโดยรวม 

 

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับประเทศ ไทย และการปรับโครงสร้างอำนาจให้สอด คล้องกับยุคสมัยเป็นเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้รัฐไทยอยู่รอดตลอดมา 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,623 หน้า 10 วันที่ 1 - 4 พฤศจิกายน 2563