เปิดรายงานกมธ. ศึกษาปม ‘โฮปเวลล์’(1) ชำแหละ 23 ข้อพิรุธ

03 ก.ย. 2563 | 06:15 น.

 

คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายปิยะบุตร แสงกนกกุล (ก่อนจะพ้นส.ส.) เป็นประธาน ได้จัดทำรายงานการพิจารณาศึกษาการปฏิบัติตามกฎหมายของโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ และถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร และการใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (โฮปเวลล์) พร้อมข้อสังเกตสำคัญ ข้อสังเกตด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ และได้มีการบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

 

ในรายงานฉบับนี้ ผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ ได้ชี้ข้อพิรุธ และสิ่งที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายหลายประการ  อาทิ

 

1.จุดเริ่มต้นโครงการไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี

 

2.บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินโครงการโฮปเวลล์โดยไม่ชอบ

 

3.คณะรัฐมนตรีไม่เคยมีมติอนุมัติให้ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) และ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นการบังคับใช้หลักเกณฑ์ของประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515

 

4.การรับจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย 

 

5.การลงนามในสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ของกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีผลเป็นโมฆะมาตั้งแต่วันลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2533

 

6.การปฏิบัติผิดสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ ของ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) และการดำเนินการบอกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์

 

7.เหตุผลในการบอกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ถูกเปลี่ยนแปลงจนเป็นเหตุให้ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ใช้เป็นเหตุตามกฎหมายในการเรียกร้องเงินจากภาครัฐ

 

8.ผลทางกฎหมายระหว่างการบอกเลิกสัญญาสัมปทานด้วยเหตุที่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ปฏิบัติผิดสัญญา กับการบอกเลิกสัญญาตามกระบวนการของกฎหมายตามหลักเกณฑ์ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

9.การยื่นเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการของ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) เป็นการใช้สิทธิเมื่อขาดอายุความแล้ว 

 

10.การดำเนินการโครงการโฮปเวลล์ไม่เป็นไปตามมติครม.วันที่ 19 กันยายน 2532 มาแต่ต้น

 

11.บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ไม่ใช่บริษัทที่ได้รับการเลือกจากคณะกรรมการดำเนินโครงการฯ และจากกระทรวงคมนาคมให้เป็นผู้ดำเนินการโครงการโฮปเวลล์

 

เปิดรายงานกมธ.  ศึกษาปม ‘โฮปเวลล์’(1) ชำแหละ 23 ข้อพิรุธ

 

 

12.บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) เป็นนิติบุคคลต่างด้าว และไม่เคยได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้ประกอบธุรกิจ  “ขนส่งทางบก” ตามบัญชี “ข” ท้ายประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 มาก่อน จึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะยื่นข้อเสนอเข้าทำโครงการโฮปเวลล์

 

13.การเสนอเงื่อนไขดำเนินโครงการโฮปเวลล์ของ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2533 เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ขัดต่อระเบียบราชการและเป็นการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การกระทำดังกล่าวและการดำเนินการอื่นๆ ต่อมา จึงเป็นโมฆะทั้งหมด

 

14.โครงการโฮปเวลล์เป็นโครงการของรัฐบาล ความรับผิดชอบในโครงการโฮปเวลล์จึงเป็นของรัฐบาล

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“นิติธร” คัดค้านจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้าน

ค่าโง่หมื่นล้านโฮปเวลล์ หล่นในมือ ‘เสี่ย อ.’

 

 

15.การจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงเป็นโมฆะมาแต่ต้น บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จึงไม่เคยมีสภาพเป็นนิติบุคคลนับแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2533 ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเป็นต้นมา การดำเนินการต่างๆ ของ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จึงเป็นโมฆะทั้งหมด

 

16.สัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ที่ลงนามระหว่างกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย กับ บริษัท โฮป เวลล์ (ประเทศไทย) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นการกระทำที่มิชอบและเป็นโมฆะไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย

 

17.การที่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นโดยไม่ชอบด้วยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 และเป็นโมฆะมาตั้งแต่วันจดทะเบียนจัดตั้งวันที่ 5 พฤศจิกายน 2533 แล้ว บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย)  จึงไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยและไม่มีอำานาจทำนิติกรรม หรือกระทำการใดๆ ได้ตามกฎหมาย การกระทำต่างๆ ที่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) กระทำไป  

 

รวมทั้งการยื่นเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ และการยื่นฟ้องกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ต่อศาลปกครองสูงสุด รวมทั้ง ผลที่เกิดจากการกระทำต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งรวมทั้งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จึงเป็นโมฆะและไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย

 

18.บริษัท โฮปเวลล์ (ประ เทศไทย) ไม่ใช่นิติบุคคลต่างด้าวที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมายไทยมาแต่ต้น จึงไม่อาจใช้สิทธิตามพระราชกฤษฎีกาอนุญาตให้คนต่างด้าว ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนประกอบธุรกิจตามบัญชี ข. พ.ศ. 2516 ได้ และพระราชกฤษฎีกาฯ ดังกล่าว ก็ไม่อาจมีผลทำให้การจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไทย และเป็นโมฆะมาแต่ต้น กลับมาเป็นการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทที่ถูกต้องตามกฎหมายไทยและไม่เป็นโมฆะย้อนหลังได้

 

 

 

19.การดำเนินการให้มีการเปลี่ยนแปลงเหตุบอกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ตามมติครม.วันที่ 20 มกราคม 2541 เป็นการกระทำที่เป็นพิรุธน่าสงสัย มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) และเป็นเหตุให้ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ใช้เป็นข้ออ้างในการเรียกร้องและฟ้องร้องกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย จน เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐ สมควรที่จะต้องมีการสืบสวนสอบสวนขยายผลโดยหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ต่อไปโดยด่วน

 

20.การดำเนินการในชั้นอนุญาโตตุลาการมีพิรุธน่าสงสัย สมควรที่จะต้องสืบสวนสอบสวนขยายผลโดยหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อไปโดยด่วน

 

21.จำนวนเงินค่าใช้จ่ายการก่อสร้างในโครงการโฮปเวลล์ที่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) เรียกร้องคืนจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นจำนวน 14,700 ล้านบาท ที่คณะอนุญาโตตุลาการใช้อำนาจชี้ขาดให้ชำระคืนเป็นจำนวนเงิน 9,000 ล้านบาทนั้น มีจำนวนเงินตามหลักฐานใบเสร็จรับเงินที่ถูกต้องเพียงประมาณ 1,732 ล้านบาท เท่านั้น

 

22.การดำเนินการในชั้นศาลปกครองสูงสุดมีข้อควรที่ต้องมีการตรวจสอบต่อไปโดยด่วน

 

และ 23.ข้อพิพาทกรณี โฮปเวลล์อาจเป็นกระบวนการและแผนการฉ้อฉลเพื่อให้ได้เงินจากภาครัฐโดยมิชอบ 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,606 หน้า 10 วันที่ 3 - 5 กันยายน 2563