เดินหน้าแก้รธน. ปลดล็อก ม็อบกดดันรัฐบาล

20 ส.ค. 2563 | 04:30 น.

รายงานฐานเศรษฐิจ ฉบับ 3602 หน้า 10 ระหว่างวันที่ 20 -22 ส.ค.2563

 

เดินหน้าแก้รธน.

ปลดล็อก

ม็อบกดดันรัฐบาล

 

กลายเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องของนักศึกษาและกลุ่มประชาชน “ปลดแอก” ที่ชุมนุมกดดันรัฐบาลเป็นระยะๆ อยู่ในเวลานี้

 

ล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ก็ออกมายอมรับว่า ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐก็พร้อมแก้ไขอยู่แล้ว แต่รายละเอียดต้องรอฟังข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ แนวทางแก้ไขแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธานก่อน จากนั้นจึงนำมาพิจารณาหารือในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค

 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็กล่าวถึงประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของพรรคว่า นอกจากการแก้ไข มาตรา 256 แล้ว ยังมี 1.ประเด็นการตั้ง ส.ส.ร. 2.สิทธิเสรีภาพของประชาชน 3.การกระจายอำนาจสู่การปกครองส่วนท้องถิ่น 4.ระบบการเลือกตั้งที่ควรยกเลิกระบบบัตรใบเดียว เพราะนำไปสู่ผลการเลือกตั้งที่เป็นเบี้ยหัวแตก เป็นระบบบัตร 2 ใบ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกและสะท้อนเจตนารมณ์ประชาชนได้แจ่มชัดขึ้น และ 5.เรื่องการทบทวนบทเฉพาะกาล เป็นต้น ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลจะหาข้อสรุปได้โดยเร็ว

 

                                                         เดินหน้าแก้รธน. ปลดล็อก ม็อบกดดันรัฐบาล

ฝากของพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายวันมูหะมัด นอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย น.ส.นภาพร เพ็ชร์จินดา รองเลขาธิการพรรคเสรีรวมไทย ได้ยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา

 

นายสมพงษ์ ระบุว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ปรึกษาหารือและมีฉันทานุมัติว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะได้ตรวจสอบแล้ว เห็นข้อบกพร่องมากมาย จึงเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ซึ่งรวมถึงการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ให้มาพิจารณาการดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญต่อไป ซึ่งร่างที่ยื่นนี้ จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำร่วมกับประชาชน

ด้านนายชวน กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญและตามระเบียบข้อบังคับ เมื่อรับเรื่องแล้วจะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความถูกต้อง ตั้งแต่การเสนอกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นบทบัญญัติในหมวดพิเศษที่กำหนดให้มีสมาชิกเข้าชื่อกัน 1ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ขณะนี้ ซึ่งขณะนี้มีสมาชิก 488 คน จึงต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 98 คนร่วมลงชื่อในการยื่น และต้องตรวจสอบเหตุผลและหลักการให้ครบถ้วน แล้วจะบรรจุระเบียบวาระภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

 

ขณะที่ความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) นายคำนูณ สิทธิสมาน กล่าวถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 269 - 272 เพื่อตัด ส.ว.ตามบทเฉพาะกาล 250 คน ออก ว่า ส.ว.ทุกคนเข้ามาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและเมื่อมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนก็ต้องรับฟัง แต่ในขณะนี้ ก็ต้องให้เกิดความชัดเจนขึ้นมาว่า ไม่ว่าจะชอบหรือจะชังรัฐธรรมนูญ 2560 หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 256

 

แต่หากจะแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ตามระบบที่มีอยู่ จำเป็นจะต้องมีเสียงของสมาชิกวุฒิสภาอย่างน้อย 1 ใน 3 คือ 84 คน ทั้งในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 ถ้าจะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไปอย่างไร จะตั้ง สสร. หรือไม่ หรือจะแก้ไขรายประเด็น ไม่เช่นนั้นก็มีแค่ 2 วิธีคือ 1.การรัฐประหารอีกครั้ง เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้วร่างกันใหม่ หรือ 2.การปฏิวัติประชาชน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งทั้ง 2 ทางมีโอกาสที่จะนำไปสู่สงครามกลางเมืองทั้งสิ้น จึงเห็นควรว่าให้ใช้เวทีรัฐสภาเป็นที่แก้ปัญหา

 

“เชื่อว่าส.ว.ทุกคนพร้อมลงมติ ตามผลประโยชน์ของประชาชนอย่างรอบคอบและรอบด้าน หากมีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทางวุฒิสภาก็พร้อมนำมาศึกษาในคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) หรือส.ว.แต่ละคนก็จะนำมาศึกษา เพื่อตัดสินใจประกอบการลงมติ ซึ่งต้องดูเนื้อหาของคณะกรรมาธิการฯ ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 9 กันยายนนี้” นายคำนูณ ระบุ