ต่ออายุ "พรก.ฉุกเฉิน" ครม.เคาะวันนี้ เตือน ห้ามชุมนุม-กักตุนสินค้า โทษหนัก

29 มิ.ย. 2563 | 20:00 น.

ครม.เคาะต่อ "พรก.ฉุกเฉิน" อย่างเป็นทางการออกไปอีก 1 เดือน ถึงสินก.ค.63 ท่ามกลางเสียงคัดค้าน หวังควบคุมป้องกัน การแพร่ระบาดไวรัสโควิด การชุมนุมทางการเมือง ห้ามกักตุนสินค้า ฝ่าฝืนโทษหนักทั้งปรับ-จำคุก

30 มิถุนายน 2563 การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะเสนอให้ที่ประชุมขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พรก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ออกไปอีก 1 เดือน จนถึงสิ้นเดือน กรกฎาคม 2563 ท่ามกลางเสียงคัดค้านของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้เหตุผลในการต่ออายุพรก.ฉุกเฉินว่า แม้สถานการณ์ในประเทศจะดีขึ้น ผ่านมาตรการควบคุม ดูแลของรัฐบาล แต่ทั่วโลกยังมีปัญหาตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก ขอให้ประชาชนเข้าใจเจตนาของรัฐบาลที่ไม่ได้มีข้ออ้างในการใช้ พรก.ฉุกเฉิน เพื่อวัตถุประสงค์อื่น มีเพียงความจำเป็นเพื่อการป้องกัน ควบคุมโรค ไม่ให้มีการแพร่ระบาดกลับเข้ามาใหม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัพเดท "พรก.ฉุกเฉิน" ยังห้ามทำอะไรบ้าง ฝ่าฝืนมีโทษอย่างไร ตรวจสอบที่นี่

ศบค.เคาะต่อ "พรก.ฉุกเฉิน" ถึงสิ้นก.ค. คลายล็อกเฟส 5 เปิดกิจการเสี่ยงสูง1ก.ค.นี้

เปิดรายละเอียด "คลายล็อก เฟส 5" 1 ก.ค.เปิด ผับ-บาร์-ร้านเกม-อาบอบนวด

ศบค. เคาะ "คลายล็อกเฟส 5" เปิด9จุดผ่านแดน ขนส่งสินค้า

ศบค. "คลายล็อก เฟส 5" อนุญาตชาวต่างชาติ6กลุ่มเข้าไทย

 

ขณะที่พรรคเพื่อไทย(พท.) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านได้แถลงคัดค้านการต่ออายุพรก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน โดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ระบุว่าการต่อพรก.ฉุกเฉินจะสร้างความไม่มั่นใจในการค้าการลงทุน เพราะตราบใดที่ยังคงพ.ร.กฉุกเฉินอยู่ การใช้งบประมาณต้องเป็นวิธีพิเศษ เกรงว่าจะใช้เป็นข้ออ้างในการหาประโยชน์ ในใช้งบประมาณ

เช่นเดียวกันเครือข่าย People Go Network นำโดย นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล สหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย นายจำนงค์  หนูพันธ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 และนายพริษฐ์  ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักกิจกรรมทางการเมืองได้ชุมนุมชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563 พร้อมยื่นหนังสือให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอให้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน โดยเสนอให้รัฐบาลป้องกันและควบคุมโรคระบาดตามพ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อที่มีอยู่แทนพรก.ฉุกเฉิน

 

ขณะเดียวกันได้เรียกร้องให้ครม. ยุติการใช้อำนาจตาม พรก.ทันทีและในการประชุมครม.ในวันที่ 30 มิ.ย. เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ขอให้สาธารณชนเข้าสังเกตการณ์หรือจะถ่ายทอดสดการประชุมเพื่อให้ประชาชนติดตามและร่วมรับรู้เหตุผลในการตัดสินใจด้วย

 

ขณะที่พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ชี้แจงว่า การใช้พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อมาดูแลแล้ว ยังไม่เพียงพอเพราะพ.ร.บ.โรคติดต่อเหมาะกับใช้ในการแก้ปัญหากรณีมีการแพร่ระบาด แตกต่างจากพรก.ฉุกเฉิน ที่ใช้สำหรับการป้องกัน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ต้องใช้ ตำรวจ และทหารเข้าไปร่วมด้วย หากมีกฎหมายไหนที่ใช้ได้ดีกว่า พรก.ฉุกเฉิน ก็ขอให้บอกมาจะได้นำไปพิจารณา

 

แต่อยากบอกว่าอย่ารังเกียจรังงอนกับ พรก.ฉุกเฉิน นักเลย ตั้งแต่ยกเลิกเคอร์ฟิว สำหรับประชาชนทั่วไป กฎหมายนี้ไม่ได้ไปริดรอนสิทธิเสรีภาพใคร รัฐบาลไม่ได้ใช้ในเรื่องการเมือง จะเห็นจากวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมามีการชุมชุมเคลื่อนไหวการเมืองหลายพื้นที่ ก็ไม่ได้นำพรก.ฉุกเฉินไปจับกุมหรือควบคุมใคร

 

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุถึงกรณีที่ฝ่ายค้านและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองมองว่า การขยายเวลา"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ต่อไปอีก 1 เดือน  มีนัยทางการเมือง ว่า  “ไม่เป็นไร ก็เป็นอย่างนี้กันทั่วโลก หลายกลุ่มก็มีการออกมาคัดค้าน เป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ดีเป็นการเตือนสติให้รัฐบาลจะได้คิด”

จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า หากครม.มีมติให้ขยายระยะเวลาการประกาศใช้พรก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน ยังมีข้อห้ามข้อกำหนดตามพรก.ฉุกเฉินที่สำคัญยังไม่ได้รับการผ่อนปรน มีดังนี้

 

  • การห้ามกักตุนสินค้า ห้ามผู้ใดกักตุนสินค้าซึ่งเป็นยา เวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่ม หรือสินค้าอื่นที่จําเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจําวัน
  • การห้ามชุมนุม ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทํากิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทําการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
  • ห้ามการเสนอข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) อันไม่เป็นความจริงและอาจทําให้ ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารดังกล่าวอันทําให้เกิดความเข้าใจผิด

 

นั่นหมายความว่าผู้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามที่ยังไม่ได้รับการผ่อนคลาย ผ่อนปรนล็อกดาวน์ จะมีโทษตามมาตรา 18 แห่งพรก.ฉุกเฉิน จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  และอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ หรือมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 7 ปีหรือปรับไม่เกิน140,000หรือทั้งจําทั้งปรับ แล้วแต่กรณี เพราะบทกำหนดโทษดังกล่าวยังไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง

 

อีกคำสั่งที่สำคัญหลังรัฐบาลประกาศใช้พรก.ฉุกเฉิน คือ ประกาศเรื่องการกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี ตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี มีสาระสำคัญคือ โอนอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมาย 40 ฉบับ มาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ ฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชน 

 

จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงประกาศฉบับดังกล่าว ทำให้การใช้อำนาจตามกฎหมายทั้ง 40 ฉบับ ยังเป็นของนายกรัฐมนตรี