วัดช่วงชก ผู้ท้าชิง เก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ

20 มิ.ย. 2563 | 02:00 น.

คอลัมน์ ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก

ผู้เขียนได้เล่าให้ฟังถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นในรั้ว “วังบางขุนพรหม” มาอย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ แทน ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท.คนปัจจุบันที่จะครบวาระในวันที่ 30 กันยายน 2563 นี้

ขณะนี้หลายคนกำลังจับตาดูว่าผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ว่าการธปท.คนใหม่ ต่อจาก ดร.วิรไท เป็นใคร

ล่าสุดหลังจากคณะกรรมการสรรหาฯ ที่มี นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เปิดรับสมัครผู้เข้ารับการสรรหาเป็นผู้ว่าธปท. ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม- 16 มิถุนายนนี้ ปรากฎรายชื่อผู้สมัครท้าชิงตำแหน่งนี้ 4 ราย ประกอบด้วย รองผู้ว่าการธปท. ซึ่งเป็นลูกหม้อ 2 ราย ได้แก่ นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน และนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน

ส่วนอีก 2 คน เป็นคนนอก ได้แก่ นางต้องใจ ธนะชานันท์ บุตรสาว นายชวลิต ธนะชานันท์ อดีตผู้ว่าการธปท. และนายสุชาติ เตชะโพธิ์ไทร อดีตรองกรรมการผู้จัดการประธานเจ้าหน้าที่สายการลงทุนและผู้จัดการกองทุนรวม ของบลจ.อยุธยา เจเอฟ

เมื่อพลิกประวัติของผู้สมัครเช้าชิงตำแหน่งผู้ว่าการธปท. หน่วยงานหลักในการทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การเงินของประเทศ ต้องยอมรับว่าแต่ละคนมีประสบการณ์การทำงาน ความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันออกไป

เริ่มจาก “ดร.เมธี สุภาพงษ์” รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน จุดเด่นเป็นผู้ที่มี ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมหภาคและนโยบายการเงินโดยตรง โดยในปี 2553-2557 เป็นผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงินสายนโยบายการเงิน ก่อนขยับ ขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงินในปี 2557 จากนั้นอีก 1 ปีก็ก้าวขึ้นเป็นรองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน

“ดร.เมธี” จบการศึกษาปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์การเงิน London School of Economic and Political Sciences University of London, U.K. ปริญญาโท บริหารธุรกิจสถาบันศศินทร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเศรษฐศาสตร์การพัฒนา Center for Development Economics, Williams Collage สหรัฐอเมริกา

ขณะที่ นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน จบการศึกษา ปริญญาตรี Economics and Mathematics Saint Olaf College สหรัฐอเมริกา ปริญญาโท Finance, Investment and Banking มหาวิทยาลัย University of Wisconsin-Madison สหรัฐอเมริกา และ Chartered Financial Analyst (CFA) 

 

 

เมื่อดูจากประสบการณ์ทำงาน ปฏิเสธไม่ได้ว่า นายรณดล นุ่มนนท์ เติบโตมาจากสายกำกับสถาบันการเงิน มาตั้งแต่ปี 2544 ทั้งฝ่ายตรวจสอบ ฝ่ายวางแผนและพัฒนา ฝ่ายบริหารความเสี่ยงและปฏิบัติการทางการเงิน สายกำกับสถาบันการเงิน ฝ่ายวางแผนและพัฒนา รวมไปถึงฝ่ายบริหารความเสี่ยงและปฏิบัติการทางการเงิน ซึ่งนายรณดลถือเป็นบุคคลสำคัญในการออกนโยบายกำกับดูแลสถาบันการเงิน เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยในช่วงที่ผ่านมา

ด้าน นางต้องใจ ธนะชานันท์ เคยเป็นพนักงานของ ธปท. ทำงานในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่การลงทุน หน่วยลงทุน ฝ่ายการธนาคาร หลังจากนั้นลาออกไปรับตำแหน่งเป็น ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา เจ เอฟ จำกัด และยังเคยเป็น กรรมการธนาคารดอยซ์แบงก์ เอจี สาขาประเทศไทย ปัจจุบันตำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด 

นางต้องใจ จบการศึกษา Masters of Management (MBA) สาขาวิชาการเงินและธุรกิจระหว่างประเทศ Kellogg Graduate School of Management, มหาวิทยาลัย Northwestern, สหรัฐอเมริกา และ Bachelor of Arts (Magna Cum Laude) สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์และตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยPrinceton, สหรัฐอเมริกา

 

 

ส่วน นายสุชาติ เตชะโพธิ์ไทร อดีตรองกรรมการผู้จัดการประธานเจ้าหน้าที่สายการลงทุนและผู้จัดการกองทุนรวม ของบลจ.อยุธยา เจเอฟ หรือ AJF ชื่อชั้นยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง แต่จากการตรวจสอบพบว่า ในปี 2549 นายสุชาติ เคยถูก ก.ล.ต.ลงโทษสั่งพักนายสุชาติจากการเป็นผู้จัดการกองทุนรวมเป็นเวลา 6 เดือน กรณี AJF ได้ลงทุนในตั๋วแลกเงิน PICNI ทั้งๆ ที่ก.ล.ต.ได้มีคำสั่งให้ PICNI แก้ไขงบการเงิน และจัดให้มีการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) 

อย่างไรก็ตามก่อนการพิจารณาของ ก.ล.ต. จะแล้วเสร็จ นายสุชาติได้ขอคืนการได้รับความเห็นชอบเป็นผู้จัดการกองทุนรวม ก.ล.ต. จึงได้บันทึกพฤติกรรมดังกล่าวไว้เป็นประวัติ หากนายสุชาติจะยื่นขอความเห็นชอบเป็นบุคลากรในตลาดทุน ก.ล.ต. ก็จะปฏิเสธไม่ให้ความเห็นชอบ เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2549

ถึงตรงนี้คงจะเห็นภาพคร่าวๆ ของผู้สมัครรับการสรรหาเข้ามาเป็นผู้ว่าการธปท.กันแล้ว 

จากนี้คงต้องติดตามว่า คณะกรรมการสรรหาจะเดินหน้ากระบวนการตรวจสอบ คุณสมบัติ ให้ผู้สมัครแต่ละรายเข้าแสดงวิสัยทัศน์ หรือขยายเวลารับสมัครเพิ่มเติม 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,585 หน้า 10 วันที่ 21 - 24 มิถุนายน 2563