เปิดประวัติที่ปรึกษานายกฯ แก้ผลกระทบศก.-สังคมจากปัญหาโควิด-19

03 พ.ค. 2563 | 04:21 น.

ประวัติคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 13 คน ที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้ง ให้เข้ามาทําหน้าที่ให้ความเห็นทางวิชาการ เสนอแนะแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19

คณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 13 คนที่นายกฯ แต่งตั้ง มี 11 คน มาจากคนนอก ไม่ได้อยู่ในแวดวงราชการ แต่ละคนล้วนมีประวัติและผลงานไม่ธรรมดา ดังนี้

นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา

ศ.กิตติคุณนายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา “นายแพทย์” นักเรียนทุนอานันทมหิดลคนแรกของประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทศัลยศาสตร์  อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2528

จากผลงานการวิจัยปัญหาและอุบัติการของกระดูกศีรษะโหว่งบริเวณเหนือจมูก การปรับปรุงวิธีการผ่าตัดรักษา การสร้างเครื่องมือราคาถูกสำหรับใช้ผ่าตัด การริเริ่มศึกษามาตรฐานและดัชนีกะโหลกศีรษะของคนไทยเพื่อใช้เปรียบเทียบความผิดปรกติ การวิจัยปัญหายาเสพติดในกลุ่มชาวเขาด้วยการปลูกพืชทดแทนและพัฒนาอาชีพ และการศึกษาสุขภาพอนามัยของชาวชนบท

ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ 

ศ.เกียรติคุณ ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์  อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (27 มีนาคม พ.ศ. 2539 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2543) นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2538 จากคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ปี 2557

ดร.เทียนฉาย จบการศึกษารัฐศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, M.A. (Economics & Demography) มหาวิทยาลัยฮาวาย, A.M. และ Ph.D. ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยดุ๊ก หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ว.ป.อ.รุ่น 37 

หลัง รัฐประหารพ.ศ. 2557 ศ.ดร.เทียนฉาย ได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และได้รับตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และตำแหน่งที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 

นพ.นิธิ มหานนท์

ศ.นายแพทย์นิธิ มหานนท์  บุตรชาย พล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ รับผิดชอบสานต่อการดำเนินงานให้เป็นไปตามพระปณิธานของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่มุ่งมั่นให้ประชาชนชาวไทยมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ราชกิจจาฯเผยแพร่คำสั่งนายกฯ ตั้งคณะที่ปรึกษาศบค.ด้านผลกระทบเศรษฐกิจและสังคม

ดร.วุฒิสาร ตันไชย

ศ.ดร.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าที่เข้ามารับไม้ต่อจาก ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่หมดวาระตั้งแต่ปี 2557 ส่วนผลงานในช่วงที่ผ่านมา อาทิ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า ,รองคณบดีฝ่ายการนักศึกษา-ฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2560 ได้เป็นศาสตรจารย์สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน สังกัดสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ส่วนบทบาททางด้านการเมืองเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไข นอกจากนั้นแล้วยังเคยเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550) ประธานคณะอนุกรรมาธิการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา

ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์ การลงทุน  ตลาดทุน ,ด้านรัฐศาสตร์ การเมืองระหว่างประเทศ ,อักษรศาสตร์ (สามารถใช้ภาษาอังกฤษ ,สเปน,ฝรั่งเศส,อิตาลี,โปรตุเกส)รวมไปถึงการเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นรองอธิการบดี  ,อาจารย์พิเศษทั้งที่ จุฬา ,นิด้า ,มศว,บูรพา  เป็นวิทยากรพิเศษ ,ที่ปรึกษาพิเศษของหน่วยงานทั้งภาครัฐภาคเอกชน และ รัฐบาล อีกทั้งยังเคยเป็นวุฒิสมาชิก ,ที่ปรึกษาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ,ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจและสังคมของ ESCAP องค์การสหประชาชาติ

ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีกิตติคุณมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์และประธานกรรมการมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชนในประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อดีตเคยรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในยุครัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ,เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาสถาบันพระปกเกล้า, สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (2550),เคยเป็นกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิในสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ,กรรมการในคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์

นอกจากนั้นยังมีผลงานด้านการเขียนบทความในเชิง เศรษฐกิจ ,เศรษฐศาสตร์, การเงิน ,การออม ,วิธีการใช้เงิน, การศึกษา คุณภาพชีวิตผ่านสื่อต่างๆทั้งหนังสือพิมพ์ ,นิตยสาร ,พ๊อกเกตบุ๊ก

พลตรี นพ.เหรียญทอง แน่นหนา

พลตรี นายแพทย์เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฏวัฒนะ และผู้ก่อตั้งองค์กรเก็บขยะแผ่นดิน ในอดีตเคยรับราชการทหาร โดยตำแหน่งสุดท้ายคือผู้อำนวยการกองยุทธการทหารบก ก่อนจะลาออกในปี 2550 และเข้ามาบริหารโรงพยาบาลมงกุฏวัฒนะซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว (ลูกชายคนเดียวในจำนวนพี่น้อง 10 คน)

 

 

ดร.บัณฑิต นิจถาวร 

ดร.บัณฑิต นิจถาวร  ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล ,กรรมการบริหารสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) อดีตเคยเริ่มต้นจากการเป็นอาจารย์สอยเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเคยทำงานกับไอเอ็มเอฟในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ หลังจากนั้นก็กลับมาดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ล่าสุดในฐานะประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาลได้ออกข้อเสนอ "ระบบสำคัญที่ต้องมี ก่อนเริ่มมาตรการเปิดเมือง" หลังประเทศไทยต้องเผชิญกับโควิด -19

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานสภาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)  ,ประธานกรรมการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ,ประธานกรรมการและกรรมการอิสระ บริษัท พฤกษาโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ,ประธานกรรมการบริษัทเซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ผลงานในอดีตเคยเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติในปี 2560 ของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ,ปี 2553 - 2558 เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ในปี 2548 เคยเป็นประธานกรรมการบริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทยจำกัด ในปี 2547 เป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทยจำกัด(มหาชน) ,ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ

ในแง่การศึกษาจบวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตสาขาไฟฟ้า(เกียรตินิยมอันดับ1)จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,ปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ต่อมาได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลเพื่อไปศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา

วีระ ธีระภัทรานนท์

นายวีระ ธีระภัทรานนท์ นักจัดรายการวิทยุฝีปากกล้า,นักเขียน,คอลัมนิสต์,พิธีกรรายการโทรทัศน์ โดยจะพูดคุยเรื่องเศรษฐกิจ เงินๆทองๆ ตลาดหุ้น สังคม การเมือง ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรมต่างๆ จบการศึกษาระดับปริญญารัฐศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2521 ผ่านประสบการณ์ด้านสื่อสารมวลชน อาทิ หนังสือพิมพ์มติชน,.เดลินิวส์ ,วัฏจักร,เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ,จัดรายการวิทยุ,เขียนคอลัมน์ในคมชัดลึก,กรุงเทพธุรกิจ,เป็นวิทยากรพิเศษในรายการโทรทัศน์

ดร.สมชัย จิตสุชน

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ,เป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย  (มีผลตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2561 - 31 ตุลาคม 2563 ) ถือเป็นนักวิชาการ - นักวิจัย ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค ,นโยบายการคลังและนโยบายการเงิน,การแก้ไขปัญหากับดักประเทศรายได้ปานกลาง,พัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมกับการกระจายรายได้,การแก้ไขปีญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ,ระบบสวัสดิการสังคม

เคยทำงานร่วมกับภาครัฐ อาทิ ผู้ทรงคุณวุฒิใน คณะกรรมาธิการและคณะอนุกรรมาธิการของรัฐสภา รัฐบาล องค์กรอิสระ เคยเป็นกรรมการในคณะกรรมการระบบการชําระเงินแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย กรรมการธนาคารออมสิน

นอกจากนั้นยังเคยรับบาทเป็นผู้บรรยายพิเศษ - ผู้ช่วยสอน -นักวิจัยในสถาบันการศึกษาทั้งในประเทศ อาทิ นิด้า,สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง และในต่างประเทศอาทิ มหาวิทยาลัยแห่งจังหวัดบริติชโคลัมเบีย แคนาดา

จบปริญญาตรีและโท (เศรษฐศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ)จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จาก  มหาวิทยาลัยแห่งจังหวัดบริติชโคลัมเบีย แคนาดา

ส่วนอีก2 คน คือ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ