" ปชป." ยันประชุมสภา 22 พ.ค. ไม่ถือว่าช้า

26 เม.ย. 2563 | 05:01 น.

โฆษก ปชป. ชี้ ในสถานการณ์โควิดระบาด เปิดประชุมสภาฯ 22 พ.ค.ไม่ถือว่าช้า

 

นายราเมศ รัตนะเชวง

 

วันที่ 26 เม.ย.2563 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านยื่นขอให้มีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญว่า ในเรื่องนี้โดยหลักการไม่มีความสลับซับซ้อนแต่อย่างใด

 

ประการแรก อยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะเห็นถึงความเหมาะสมหรือไม่เพียงใด เพราะรัฐบาลจะมีฐานข้อมูลในการตัดสินใจได้ดีที่สุดว่าสถานการณ์ช่วงนี้ที่อยู่ในช่วงการป้องกัน และการช่วยเหลือประชาชนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 รัฐมนตรีทุกคนก็ทุ่มเทในการแก้ปัญหาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนกันอย่างเต็มที่ ดังนั้นการประชุมในสถานการณ์ช่วงนี้จะยากลำบากยิ่งหรือไม่ เพราะอยู่ในช่วงการเข้มงวดในมาตรการการป้องกัน

 

ส่วนเรื่องพระราชกำหนดเงินกู้ทั้ง 3 ฉบับ ตามมาตรา 172 แห่งรัฐธรรมนูญก็ระบุไว้ชัดว่าในการประชุมรัฐสภาคราวถัดไปคือเปิดสมัยประชุมสภาสมัยสามัญในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ ก็มีการบังคับให้คณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกำหนดต่อรัฐสภาโดยไม่ชักช้า

 

 เชื่อว่าการรออีกไม่ถึงหนึ่งเดือนก็ไม่ถือว่าช้าไปแต่อย่างใด เพราะกระบวนการต่างๆ ได้ระบุไว้ชัดในรัฐธรรมนูญแล้ว เมื่อถึงเวลานำพระราชกำหนดเข้าที่ประชุม ฝ่ายค้านก็สามารถใช้สิทธิ์แสดงเหตุและผลได้อย่างเต็มที่ว่าจะอนุมัติหรือไม่ 

 

" ปชป." ยันประชุมสภา 22 พ.ค. ไม่ถือว่าช้า

 

ประการที่สอง การขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญโดยใช้ช่องทาง ส.ส.และ ส.ว. เข้าชื่อกัน 1 ใน 3 หรือ ส.ส.เข้าชื่อกัน 1 ใน 3 นั้น ไม่ว่าจะใช้ช่องทางใด ทั้งสองกรณี ต้องได้ชื่อจำนวน 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่ มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาให้นําความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญได้ ซึ่งเป็นสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 123 หากมีการลงชื่อกันครบก็เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ประธานรัฐสภาไม่สามารถตัดสินใจเปิดสมัยประชุมวิสามัญได้ด้วยตนเอง ช่องทางนี้รัฐธรรมนูญก็ระบุไว้ชัดเช่นกัน 

 

นายราเมศ ยังกล่าวต่อว่า ตนเข้าใจดีถึงการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านที่อยากสะท้อนความคิดเห็นในมุมต่าง ๆ ด้วยความเป็นห่วงเป็นใย แต่ด้วยสถานการณ์ขณะนี้อาจจะไม่เอื้ออำนวยให้เปิดประชุมได้ ช่องทางที่ดีที่สุดคือฝ่ายค้านสามารถสรุปความเห็นจาก ส.ส. ของแต่ละพรรคแล้วนำเสนอเป็นลายลักษณ์อักษร ผ่านผู้นำฝ่ายค้านเพื่อให้เสนอต่อรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลก็ต้องรับฟังอยู่แล้ว ก็จะเป็นช่องทางที่เกิดประโยชน์ในการระดมความเห็น 

 

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้น การดูแลสะท้อนปัญหาของประชาชนจากผลกระทบในสถานการณ์นี้ได้มีการนำเสนออยู่เป็นระยะผ่านรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยให้ ส.ส. สะท้อนมายังพรรคฯ พรรคฯ ส่งต่อให้รัฐมนตรี 

 

ส่วนกรณีการขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญของฝ่ายค้าน วิปรัฐบาลในส่วนของพรรคจะได้มีการนัดพูดคุยกันกับวิปรัฐบาลทั้งหมดในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ (27 เม.ย.2563) ซึ่งก็อยู่ในหลักการว่ารัฐบาลจะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมว่าจะต้องเปิดประชุมสมัยวิสามัญหรือไม่ ซึ่งวิปรัฐบาลในส่วนของพรรคจะได้แจ้งผลการพิจารณาต่อพรรคฯ ต่อไป