'วันแรงงานไทย' นักวิชาการเสนอ 3 ข้อ แก้สิทธิพื้นฐาน

30 เม.ย. 2564 | 09:28 น.

วันแรงงาน 1 พฤษภาคม 2564 ความเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ ที่แรงงานส่งเสียง ยื่นข้อเสนอต่อภาครัฐ ขณะปี 2564 นักวิชาการเผย มีความเข้มข้นกว่าทุกปี เพราะแผลกดทับจากพิษโควิด-19 ซ้ำเติมความยากลำบากของแรงงานไทย เสนอ 3 ข้อ แก้สิทธิพื้นฐาน

นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง  กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ และกรรมการบริหารคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความสำคัญวันแรงงาน ปี 2564 และระบุถึงปัญหาที่แรงงานไทยต้องเผชิญ ว่า ต่อให้ไม่มีโควิด-19 แรงงานไทยก็เผชิญปัญหาถึง 3 ประเด็น ซึ่งหากขาดการสนับสนุนสิทธิพื้นฐานเหล่านี้ ในภาวะที่เผชิญกับวิกฤติหนัก อาจทำให้แรงงานไทยสูญเสียงานและความสามารถในการเลี้ยงดูคนในครอบครัวไปอย่างถาวร จึงอยากให้ภาครัฐหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น ได้แก่

\'วันแรงงานไทย\' นักวิชาการเสนอ 3 ข้อ แก้สิทธิพื้นฐาน

1) ค่าตอบแทน ในปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำรายวันเหนือระดับ 300 บาทขึ้นมาเล็กน้อย ยังถือว่าไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ตามหลักสากลนั้น ค่าจ้างขั้นต่ำต้องสามารถเลี้ยงดูได้สามชีวิต หมายถึงคนทำงานหนึ่งคน เลี้ยงดูคนในครอบครัวได้อีกสองคน เช่น พ่อแม่ หรือ ลูกและภรรยา แต่ด้วยระดับค่าจ้างในประเทศไทยเพียงพอสำหรับคนหนึ่งคนเท่านั้น

สำหรับแรงงานนอกระบบยิ่งได้ค่าจ้างที่ต่ำไปกว่ากฎหมายกำหนด เพราะแรงงานเหล่านี้ไม่มีอำนาจต่อรองกับนายจ้าง และ การบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถทำได้จริง ต่อให้ลูกจ้างไปฟ้องร้อง ก็มีโอกาสถูกเลิกจ้างไปก่อนที่กระบวนการยุติธรรมจะมาถึง

2) สิทธิในการรวมตัวและต่อรองร่วม หลักกฎหมายสากลได้ให้สิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับแรงงานในการรวมตัวต่อรองกับนายจ้างด้วยการจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงาน แต่ตามกฎหมายไทยระบุว่าต้องเป็นลูกจ้างภายใต้สถานประกอบการเท่านั้น จึงเป็นช่องว่างที่แรงงานนอกระบบขาดพื้นที่ในการรวมตัว ในหลายประเทศหรือแม้แต่อินเดียที่มีแรงงานนอกระบบมหาศาล สามารถจัดตั้ง Informal Worker Union ได้ 

3) หลักประกันทางสังคม สวัสดิการขั้นพื้นฐานสำหรับประเทศไทยคือกองทุนประกันสังคม ที่เป็นที่พึ่งของแรงงานตั้งแต่การรักษาพยาบาล เลี้ยงดูบุตร ว่างงาน จนเกษียณ แต่เงินที่ได้รับน้อยมากจนไม่เพียงพอในชีวิตจริง แม้ทางประกันสังคมจะให้เหตุผลว่า เนื่องจากเงินสมทบน้อยจึงไม่สามารถเพิ่มเงินช่วยเหลือได้

นั่นเป็นเพราะประกันสังคมกำหนดให้เพดานสูงสุดของการหักประกันสังคมคือ 5% จากเงินเดือน 15,000 บาท เท่ากับว่าได้เงินสมทบจากลูกจ้างนายจ้างเพียงคนละ 1,500 บาทต่อเดือน หากเปลี่ยนเพียงแค่ขยับเพดานเงินเดือนที่จะคิดอัตราเงินสมทบขึ้นไปตามความเป็นจริงเพราะบางคนมีรายได้ต่อเดือนนับแสนบาท ก็จะทำให้การจ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคมสอดคล้องกับความเป็นจริง กองทุนประกันสังคมก็จะเงินมากขึ้น มาจัดสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นได้ หลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขก็จะเป็นจริง
 

นางสุนทรีกล่าวทิ้งท้ายว่า  หลากหลายมาตรการ เช่น คนละครึ่ง เราชนะ เป็นมาตรการที่ดี แรงงานส่วนใหญ่ชื่นชอบ แต่ก็เป็นมาตรการชั่วคราว ซึ่งจะเห็นว่ากว่าจะได้มาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ขึ้นอยู่กับมุมมองทางการเมือง (political view) เงินในกระเป๋าของรัฐบาล ในแต่ละช่วงเวลา แต่สิ่งที่จะยั่งยืนกว่า คือการสร้างหลักประกันสังคมที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติอีกกี่รอบ แต่หากระบบประกันสังคมเข้มแข็ง ชัดเจน ตอบโจทย์ความต้องการและปัญหาของแรงงาน

เช่น แรงงานที่ที่ต้องตกงานกระทันหันในทุกกลุ่มอาชีพหลังจากได้รับเงินชดเชยแล้วยังได้รับสิทธิประโยชน์ประกันการว่างงาน (ปัจจุบันประกันสังคมไม่มีการประกันการว่างงานสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40) แรงงานก็จะมีหลักประกัน ไม่ต้องรอคอยมาตรการช่วยเหลือที่ไม่รู้ว่าได้เท่าไหร่และจะลงทะเบียนทันหรือไม่
 

นางสุนทรีกล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ระลอกนี้ว่า อาจทำให้แรงงานบางกลุ่มสูญเสียอาชีพการงานโดยถาวร โดยเฉพาะกลุ่มที่ ทำงานที่เดิมมาครึ่งค่อนชีวิต ใช้แต่ทักษะเดิมในการทำงาน เช่น เย็บผ้าในโรงงาน เมื่อถูกให้ออกจากงานก็ไม่ได้แปลว่าจะเปิดร้านตัดเย็บเองได้ เพราะการเย็บผ้าในโรงงานเป็นการเย็บเฉพาะส่วน ไม่ได้มีองค์ความรู้เรื่องการวัดตัวตัดชุด แม้แต่จะกลับไปบ้านเกิด มีที่ดินทำกิน แต่ทักษะการทำการเกษตรก็ไม่ได้มีติดตัวอีกทั้งยังต้องลงทุนเพิ่ม ในขณะที่อาชีพอิสระประเภทให้บริการก็น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่ถูกกระทบและจะเป็นกลุ่มสุดท้ายทีได้กลับมา เช่น แทกซี่ วินมอเตอร์ไซค์ เสริมสวย 

“คนกลุ่มนี้เป็นอาชีพที่พึ่งพิงกับระบบเศรษฐกิจใหญ่อีกที  คนรับจ้างซักรีด งานหดหายเพราะพนักงานออฟฟิศไม่ต้องใส่ชุดทำงานแล้ว นักเรียนนักศึกษาเรียนออนไลน์ เช่นเดียวกับแม่บ้านที่ทำงานตามสำนักงานหรือหอพัก แทกซี่บางคนเล่าให้ฟังว่า ต้องเปลี่ยนจากกิน 3 มื้อมาเหลือ 2 มื้อ กัดฟันผ่อนรถต่อ แต่เมื่อโควิดยืดเยื้อมาขนาดนี้ สุดท้ายก็ต้องปล่อยให้รถถูกยึดไป” 

 

นางสุนทรีเล่าว่า วันแรงงานนี้ครบรอบ 1 ปีพอดีที่เคยยื่นข้อเสนอไปให้รัฐบาล ให้ช่วยสนับสนุนเงินทุนให้แก่เครือข่ายภาคประชาสังคมได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูแรงงานจากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งมีองค์กรที่เข้ามาเสนอโครงการมากพอควร อาทิ การจัดอบรมแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง การพัฒนาทักษะทางการตลาดสำหรับค้าขายออนไลน์ การช่วยจัดพื้นที่สาธารณะสำหรับหาบเร่แผงลอย เป็นต้น กลุ่มผู้ใช้แรงงานที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศและมีสายป่านสั้นที่สุด 

จึงต้องการเงินช่วยเหลือจากภาครัฐมาตั้งต้นให้สามารถกลับมายืนได้อีกครั้งหนึ่ง จากเงินกู้ 4 แสนล้านบาทที่รัฐบาลมีวัตถุประสงค์นำออกมาใช้เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดอยู่แล้ว โดยเรื่องนี้ทางเครือข่ายแรงงานหลายแห่งร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมอื่น ๆ ได้รวมตัวกันเสนอมาตั้งแต่พฤษภาคมปี 2563 เมื่อเกิดโควิดระบาดระลอกแรก ได้รับการตอบกลับมาว่าอยู่ระหว่างพิจารณาช่วงเกิดการระบาดรอบสองในช่วงปลายปี 2563 จนกระทั่งปัจจุบันเกิดการระบาดรอบสามยังไม่สามารถเกิดการสนับสนุนได้จริง ก็หวังว่ามาตรการเยียวยาและฟื้นฟูจากผลกระทบของโควิดจะรวดเร็วและทันท่วงทีกว่านี้