“คนละครึ่ง” กับใช้ “ช้อปดีมีคืน” ใช้สิทธิ์แบบไหนดี เช็กที่นี่

16 ต.ค. 2563 | 01:30 น.

เปรียบเทียบสิทธิ์โครงการ "คนละครึ่ง" รัฐร่วมจ่าย 3,000 บาท กับ "ช้อปดีมีคืน” ซื้อสินค้าและบริการ ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท แบบไหนคุ้มค่ากว่า

หลายคนสงสัยว่าการใช้สิทธิ์โครงการ “คนละครึ่ง” กับมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” มาตรการไหนคุ้มค่ามากกว่า "ฐานเศรษฐกิจ" จึงเปรียบเทียบให้เข้าใจแบบง่ายๆ ดังนี้

 

โครงการ "คนละครึ่ง" ภาครัฐร่วมจ่าย 50 % ไม่เกิน 150 บาท/คน/วัน หรือ ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ระยะเวลาดำเนินโครงการ 23 ต.ค. – 31 ธ.ค.63 กลุ่มเป้าหมาย 10 ล้านคน

มาตรการ "ช้อปดีมีคืน" ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2563 สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการ ไม่เกิน 30,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 23 ต.ค. – 31 ธ.ค.6

อย่างไรก็ตามมาตรการช้อปดีมีคืน หลายคนเข้าใจว่าเมื่อซื้อสินค้า 30,000 ตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดแล้วจะได้คืนภาษี 30,000 บาท ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะเงินภาษีจะได้คืนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเงินได้และอัตราภาษีที่แต่ละคนจะต้องจ่ายด้วย โดยข้อเท็จจริงการให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2563 ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท

 

เมื่อคำนวณจากเงินได้สุทธิต่อปี อัตราภาษีที่ผู้เสียภาษีแต่ละคนต้องจ่าย พบว่าผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่ละกลุ่มจะมีสิทธิ์ได้คืนภาษีจากมาตรการช้อปดีมีคืน สูงสุดดังนี้

  • เงินได้สุทธิต่อปี 0-150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี ไม่ได้สิทธิ์คืนภาษี
  • เงินได้สุทธิต่อปี 150,001-300,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 5% สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 1,500 บาท
  • เงินได้สุทธิต่อปี 300,001-500,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 10% สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 3,000 บาท
  • เงินได้สุทธิต่อปี 500,001-750,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 15% สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 4,500 บาท
  • เงินได้สุทธิต่อปี 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 20% สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 6,000 บาท
  • เงินได้สุทธิต่อปี 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 25% สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 7,500 บาท
  • เงินได้สุทธิต่อปี 2,000,001-5,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 30%สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 9,000 บาท
  • เงินได้สุทธิต่อปี 5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราภาษีเงินได้ 35% สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 10,500 บาท

ถึงตรงนี้พอจะเห็นภาพกันแล้วว่า กลุ่มผู้ที่มีเงินได้สุทธิต่อปีตั้งแต่ 500,001 บาทขึ้นไปจะได้รับสิทธิ์คืนภาษีจากมาตรการช้อปดีมีคืน มากกว่า การได้รับสิทธิ์สนับสนุนโครงการ "คนละครึ่ง" ที่ภาครัฐร่วมจ่าย 50 % ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือ ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน

“คนละครึ่ง” กับใช้ “ช้อปดีมีคืน” ใช้สิทธิ์แบบไหนดี เช็กที่นี่

อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่กลุ่มผู้ที่มีเงินได้สุทธิต่อปีตั้งแต่ 500,001 บาทขึ้นไปที่คิดจะใช้สิทธิ์ลดหย่อนเพื่อขอคืนภาษีจากมาตรการช้อปดีมีคืน ต้องดูเงินในกระเป๋าตัวเองด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่าการที่ได้คืนเงินภาษีสูงสุด 4,500 บาทนั้นจะต้องควักเงินกระเป๋าซื้อสินค้า หรือบริการ จำนวน 30,000 บาท

 

ส่วนกลุ่มผู้มีเงินได้สุทธิต่อปีไม่เกิน 300,000 บาท หากดูจากตัวเลขที่คำนวณค่าลดหย่อนสูงสุดกับภาษีที่จะได้คืนจากรัฐจะพบว่า การลงทะเบียนรับสิทธิ์โครงการ "คนละครึ่ง" จะคุ้มค่ามากกว่าการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีจากมาตรการช้อปดีมีคืน

 

ขณะที่กลุ่มผู้มีเงินได้สุทธิต่อปี 300,001-500,000 บาท จะได้รับสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 3,000 บาท พอๆกับการได้สิทธิ์ในโครงการ "คนละครึ่ง"

 

16 ตุลาคม 2563 นายพรชัย  ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าของการลงทะเบียนรับสิทธิโครงการคนละครึ่งของประชาชน ที่เปิดให้ลงทะเบียนวันนี้เป็นวันแรก ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ณ เวลา 13.00 น. มีประชาชนลงทะเบียนแล้วจำนวน 3,800,803 คน โดยประชาชนที่สนใจยังสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ต่อเนื่องทุกวันในช่วงเวลา 06.00 - 23.00 น. จนกว่าจะครบ 10 ล้านคน 

ผู้ที่ลงทะเบียนและยืนยันตัวตนสำเร็จแล้วจะเริ่มใช้จ่ายกับร้านค้าที่ติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563 ระหว่างเวลา 06.00 น. – 23.00 น. โดยต้องเริ่มใช้จ่ายภายใน 14 วัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ตนได้รับ SMS แจ้งรับสิทธิ หรือวันที่เปิดให้เริ่มใช้จ่ายตามโครงการ มิเช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิและไม่สามารถลงทะเบียนได้อีก เช่น ได้รับ SMS ระหว่างวันที่ 16 - 23 ตุลาคม 2563 ต้องใช้สิทธิภายในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้น


สำหรับวิธีการใช้จ่ายกับร้านค้า ท่านสามารถเติมเงินโดยการโอนเงินของท่านไปยังแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้ตามต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องโอนครั้งเดียว 3,000 บาท เช่น หากท่านต้องการจ่ายค่าอาหาร 200 บาท ท่านต้องมีเงินใน “เป๋าตัง” อย่างน้อย 100 บาท เพื่อสแกนจ่ายเงินกับร้านค้า “ถุงเงิน” 


โดยรัฐจะช่วยจ่ายให้ร้านค้าอีก 100 บาท หรือหากท่านจะใช้จ่ายค่าสินค้าจำนวน 400 บาท รัฐจะร่วมจ่ายให้ร้านค้า 150 บาท และท่านต้องมีเงินใน “เป๋าตัง” เพื่อสแกนจ่ายเงินอีกอย่างน้อย 250 บาท ทั้งนี้ ภาครัฐจะร่วมจ่ายไม่เกิน 3,000 บาท ตลอดระยะเวลาโครงการ