ไขข้อข้องใจแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ ขสมก.

02 ก.ย. 2563 | 08:33 น.

ตอบข้อสงสัย แผนฟื้นฟูกิจการฉบับใหม่ขสมก.ประชาชนผู้ใช้บริการได้ประโยชน์อะไร และรายละเอียดแผนงานต่างๆที่จะเปลี่ยนแปลงไปมีอะไรบ้าง

หลังจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ได้ประกาศแผนฟื้นฟูกิจการองค์การฉบับใหม่ขึ้นมา ทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการเกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆของแผนฟื้นฟูฯซึ่งทาง ขสมก.ก็ได้รวบรวมคำถามต่างๆออกมา และสรุปเป็นถาม -  ตอบจำนวน 9 ข้อเพื่อมาคลายความข้องใจ ว่าหากแผนฟื้นฟูฯนี้ได้รับความเห็นจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และเริ่มดำเนินงาน  ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร 

 

ไขข้อข้องใจแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ ขสมก.

ถาม : ทำไมต้อง 30 บาท
ตอบ  : ปัจจุบัน อัตราค่าโดยสารรถปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) (สีฟ้า) ต่อเที่ยว คือ 15, 20, 25 บาท หากประชาชนใช้บริการรถโดยสาร 2 เที่ยว จะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง คือ 30, 40, 50 บาท ดังนั้น ขสมก.จึงนำอัตราค่าโดยสารราคาต่ำสุด ที่ประชาชนใช้บริการจำนวน 2 เที่ยว คือ 30 บาท มาใช้เป็นราคาค่าโดยสาร


แบบเหมาจ่ายรายวัน ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์ คือ สามารถใช้บริการรถโดยสารได้ทั้งวัน ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว และไม่จำกัดจำนวนเส้นทาง ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อย่างไรก็ตาม กรณีประชาชนใช้บริการเพียงวันละ 1 เที่ยว ขสมก.ก็มีการจัดเก็บค่าโดยสารแบบรายเที่ยว เพื่อรองรับกรณีดังกล่าวด้วย คือ จัดเก็บค่าโดยสารเที่ยวละ 15 บาท ซึ่งราคาดังกล่าว เป็นอัตราค่าโดยสารขั้นต่ำของรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV)

 

ไขข้อข้องใจแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ ขสมก.

ถาม : ลดสายวิ่งเหลือ 162 เส้นทาง จะส่งคนได้เร็วขึ้นอย่างไร
ตอบ: เส้นทางเดินรถในปัจจุบัน มีระยะทางค่อนข้างยาว และมีความทับซ้อนกับเส้นทางเดินรถโดยสารสายอื่น ๆ คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง จึงมีแนวคิดที่จะปฏิรูปเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทาง


ทั้งรถโดยสารของ ขสมก.และรถโดยสารเอกชน เหลือ 162 เส้นทาง เพื่อลดความทับซ้อนของเส้นทาง และเพื่อเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ เช่น รถไฟฟ้า BTS MRT ยกตัวอย่าง สมมุติว่า มีรถโดยสารจำนวน 3 สาย วิ่งจากท่าต้นทาง 3 แห่งไปยังจุดหมายปลายทางเดียวกัน คือ รังสิต และรถโดยสารทั้ง 3 สาย มีช่วงเส้นทางที่ทับซ้อนกัน ตั้งแต่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึงรังสิต 


ดังนั้น ในการปฏิรูปเส้นทาง จะมีการปรับเปลี่ยนให้รถโดยสารทั้ง 3 สาย วิ่งจากท่าต้นทาง 3 แห่งไปสิ้นสุดที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แล้วให้ประชาชนที่จะเดินทางไปรังสิต ต่อรถที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่อย่างใด


เพราะใช้ระบบอัตราค่าโดยสารแบบเหมาจ่ายรายวัน 30 บาท ซึ่งจากการที่รถโดยสารมีระยะทางวิ่งสั้นลง และไม่มีความทับซ้อนของเส้นทาง จะทำให้รถโดยสารแต่ละคัน สามารถเพิ่มรอบในการให้บริการประชาชนได้มากขึ้น ประชาชนใช้เวลารอรถโดยสารน้อยลง ประมาณ 5 - 10 นาที อีกทั้งยังช่วยลดความแออัดของรถโดยสารบนท้องถนน จึงช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดได้อีก


 

 

ไขข้อข้องใจแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ ขสมก.

ถาม: จำนวนรถในแผนฟื้นฟูฉบับเดิม และแผนฟื้นฟูฉบับปรับปรุงใหม่ มีความแตกต่างกันอย่างไร
ตอบ : ตามแผนฟื้นฟูฉบับเดิม กำหนดให้ ขสมก.จัดหารถโดยสารใหม่ จำนวน 3,183 คัน เพื่อวิ่งในเส้นทางเดินรถ 137 เส้นทาง ทำให้มีรถโดยสารวิ่งให้บริการ เฉลี่ยเส้นทางละ 23 คัน ส่วนแผนฟื้นฟูฉบับปรับปรุงใหม่ กำหนดให้ ขสมก.จัดหารถโดยสารใหม่ 2,511 คัน + รถโดยสาร NGV เดิม 489 คัน รวมเป็น 3,000 คัน เพื่อวิ่งในเส้นทางเดินรถ 108 เส้นทาง ทำให้ ขสมก.มีรถโดยสารวิ่งให้บริการ เฉลี่ยเส้นทางละ 28 คัน มากกว่าแผนฟื้นฟูฉบับเดิม 5 คัน

 

ไขข้อข้องใจแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ ขสมก.

ถาม: รายละเอียดของรถใหม่ที่จะนำมาวิ่งในแผนฟื้นฟู มีอะไรบ้าง
ตอบ : รถโดยสารที่ ขสมก.จะนำมาวิ่งให้บริการในเส้นทางเดินรถของ ขสมก.จำนวน 108 เส้นทาง แบ่งเป็นรถโดยสารปรับอากาศ NGV ที่ ขสมก.วิ่งให้บริการอยู่ในปัจจุบัน จำนวน 489 คัน และ ขสมก.จะเช่ารถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้ามาวิ่งให้บริการประชาชนอีก 2,511 คัน รวมเป็น 3,000 คัน 


ซึ่งรถโดยสารทั้ง 2 ประเภท จะเป็นรถชานต่ำมีการออกแบบในลักษณะUniversal Design เพื่อรองรับการใช้บริการของเด็ก ผู้สูงอายุและคนพิการ มีการติดตั้งระบบ E-ticket เพื่อรองรับการชำระค่าโดยสารแบบไร้เงินสด ติดตั้งระบบ GPS เพื่อรองรับการใช้ Application ในการติดตามตำแหน่งพิกัดของรถโดยสาร


 นอกจากนี้ ขสมก.จะจ้างเอกชนเดินรถในเส้นทางของเอกชน จำนวน 54 เส้นทาง รวม 1,500 คัน ซึ่งรถที่เอกชนจะนำมาวิ่ง จะต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับรถโดยสารของ ขสมก.

 

ไขข้อข้องใจแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ ขสมก.

ถาม: จะมีการพัฒนาคุณภาพบริการอย่างไรบ้าง
ตอบ: ด้านรถโดยสาร : 1. ให้บริการด้วยรถโดยสารปรับอากาศใช้พลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (NGV, EV)ซึ่งเป็นรถแบบชานต่ำ และมีการออกแบบในลักษณะ Universal Design เพื่อรองรับผู้ใช้บริการทุกประเภททั้งเด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ


2. ติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในรถ อาทิ อินเตอร์เน็ตไวไฟ, GPS, จอภาพแสดงป้ายหยุดรถโดยสารถัดไป, กล้อง CCTV, E - Ticket


3. จัดเก็บค่าโดยสารแบบไร้เงินสด ผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ประเภทต่าง ๆ อาทิบัตรโดยสาร ขสมก., บัตร EMV, บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และบัตรแมงมุมของกระทรวงคมนาคม (ในอนาคต)


ด้านพนักงานประจำรถ : จัดอบรมพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารอย่างต่อเนื่อง อาทิการให้บริการประชาชนด้วยความมีจิตสำนึกรักบริการ, การให้ความช่วยเหลือผู้ใช้บริการเบื้องต้นกรณีประสบอุบัติเหตุ รวมทั้ง การกำกับดูแลพนักงานให้ปฏิบัติตามคู่มือคุณภาพ ISO : 9001 2015 อย่างเคร่งครัด

 

 

ไขข้อข้องใจแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ ขสมก.

ถาม : แผนฟื้นฟูนี้จะเริ่มเมื่อไหร่
ตอบ : ขสมก.จะเริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการได้ก็ต่อเมื่อ ได้รับความเห็นชอบแผนฯ จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

 

ไขข้อข้องใจแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ ขสมก.

ถาม : ขั้นตอนการดำเนินการเป็นอย่างไร ระยะสั้น ระยะยาว
ตอบ: เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการองค์การ ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว ขสมก.จะมีการดำเนินการตามแผนฯ ตามลำดับ ดังนี้


1. การเช่ารถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้า จำนวน 2,511 คัน มาวิ่งให้บริการประชาชน รวมทั้งการจ้างเอกชนมาร่วมเดินรถในเส้นทางเดินรถเอกชน (54 เส้นทาง) จำนวน 1,500 คัน


2. การปรับลดจำนวนพนักงานเก็บค่าโดยสาร การเออร์ลี่รีไทร์พนักงานเก็บค่าโดยสารภาคสมัครใจ การลดขนาดองค์กร และการจัดหาเงินเพื่อใช้ในโครงการเออร์ลี่รีไทร์


3. การให้รัฐบาลยกหนี้ให้กับ ขสมก.


4. การให้รัฐบาลจ่ายเงิน PSO ให้กับ ขสมก.(รถโดยสารปรับอากาศ) เป็นรายปี


5. การพัฒนาอู่เชิงธุรกิจ ได้แก่ อู่บางเขน และอู่มีนบุรี


6. การพัฒนาบัสเลน (BUS LANE)

 

 

ไขข้อข้องใจแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ ขสมก.

ถาม: รถโดยสารเอกชน อยู่ในแผนนี้ด้วยหรือไม่
ตอบ : ในเส้นทางเดินรถใหม่ 162 เส้นทาง จะเป็นรถของ ขสมก. 108 เส้นทาง และรถเอกชน 54 เส้นทางซึ่ง ขสมก.จะจ้างเอกชนเดินรถ ในเส้นทางของเอกชน จำนวน 54 เส้นทาง รวม 1,500 คัน โดยรถที่เอกชนจะนำมาวิ่ง จะต้องมีคุณสมบัติและมาตรฐานเช่นเดียวกับรถโดยสารของ ขสมก. รวมทั้งใช้อัตราค่าโดยสารในระบบเดียวกับรถโดยสาร ขสมก.

 

ไขข้อข้องใจแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ ขสมก.

ถาม: มั่นใจได้ยังไงว่าการเช่ารถมาวิ่ง จะดีกว่าการซื้อรถมาบริหารเอง
ตอบ : หาก ขสมก.จัดซื้อรถโดยสาร จะต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก อีกทั้ง ยังมีต้นทุนในการซ่อมบำรุงรักษารถโดยสารดังกล่าว ส่งผลให้มีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นวิธีการเช่ารถจากเอกชนมาวิ่งให้บริการ โดยจ่ายค่าเช่าตามกิโลเมตรที่วิ่งให้บริการจริง จะทำให้ ขสมก.ไม่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากในการซื้อรถ


อีกทั้ง ยังไม่ต้องมีต้นทุนในการซ่อมบำรุงรักษารถโดยสาร โดยเอกชนมีหน้าที่ในการจัดหารถโดยสาร เพื่อให้ ขสมก.นำมาวิ่งให้บริการในแต่ละวันตามสัญญา หากไม่สามารถดำเนินการได้ เอกชนก็จะถูกปรับตามสัญญาที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ การเช่ารถโดยสารยังมีข้อดี คือ มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนคุณลักษณะของรถโดยสาร เช่น ขนาดรถ, พลังงาน หรือ จำนวนรถโดยสาร เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

 

ที่่มา : องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง