ก.ย.นี้!! จ่อชงครม.เคาะ "แผนฟื้นฟู ขสมก."

29 ส.ค. 2563 | 23:47 น.

คมนาคม ถก ขสมก. เร่งทำแผนฟื้นฟูกิจการ จ่อชง ครม.ไฟเขียวภายในเดือน ก.ย.นี้ ลุยจ้างเอกชนร่วมเดินรถ 1,500 คัน สั่งขบ.เตรียมกำหนดเส้นทางเดินรถใหม่ 108 เส้นทาง

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมพิจารณารายละเอียดแผนฟื้นฟูกิจการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่า การประชุมครั้งนี้มีประเด็นคำถามจากกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานภายนอก ส่งผลให้แผนฟื้นฟูดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ที่จะรายงานไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ ทั้งนี้ได้เร่งรัดให้ ขสมก.ตอบรายละเอียดในทุกประเด็นคำถามให้แล้วเสร็จ เพื่อเสนอ ครม.ภายในเดือน ก.ย.นี้ ก่อนที่ตนจะเกษียณอายุราชการ

 

“เราอยากให้แผนฟื้นฟู ขสมก.เป็นแผนที่สามารถตอบได้ในทุกประเด็นคำถาม ไม่เป็นผลกระทบกับกลุ่มใด เมื่อเสนอไปยัง ครม.แล้วต้องไม่เกิดคำถามตามมา ซึ่งขณะนี้ในส่วนของการเชิญชวนเอกชนเข้ามาเดินรถในเส้นทางด้วยความสมัครใจนั้น ตอนนี้ไม่มีปัญหาติดขัด แต่ยังมีข้อสงสัยในประเด็นอื่นๆ ที่ค่อนข้างเปราะบาง และอาจเป็นผลกระทบต่อแผนฟื้นฟู จึงได้มอบให้ ขสมก.กลับไปทำการบ้าน”

 

รายงานข่าวจาก ขสมก.ระบุว่า ประเด็นคำถามของกระทรวงฯ เกี่ยวกับการจัดทำแผนฟื้นฟูที่ยังเหลืออยู่นั้น คือเรื่องของการจัดสรรรถโดยสารในแต่ละเส้นทาง ซึ่งต้องการให้ ขสมก.ระบุอย่างชัดเจนว่าต้องจัดสรรจำนวนกี่คันต่อเส้นทาง ตามจำนวน 108 เส้นทางใหม่ที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ทำแผนไว้ โดยขณะนี้ทราบว่าเรื่องดังกล่าวทาง ขบ.ได้จัดทำรายละเอียดดังกล่าวในเบื้องต้นแล้ว เตรียมรายงานในการประชุมครั้งต่อไป

ขณะเดียวกันแผนฟื้นฟูไม่ได้ติดปัญหาในเรื่องของเส้นทางการเดินรถ หรือเรื่องของเอกชนที่จะเข้ามาร่วมเดินรถแล้ว แต่การหารือในที่ประชุมครั้งนี้ ปลัดกระทรวงคมนาคมเล็งเห็นความสำคัญของการเตรียมพร้อมบรรจุรถโดยสารลงเส้นทางที่ ขบ.กำหนด โดยต้องการให้กำหนดแผนอย่างชัดเจนว่าแต่ละเส้นทางจะมีรถโดยสารกี่คัน เพื่อเตรียมรายงานใน ครม. เพราะหาก ครม.มีคำถามเรื่องนี้แต่ไม่สามารถตอบได้ชัดเจนก็เกรงว่าจะเป็นปัญหาติดขัด

 

นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ตามแผนฟื้นฟูกิจการองค์การ จะมีการจ้างเอกชนร่วมเดินรถ ประมาณ 1,500 คัน เพื่อวิ่งในเส้นทางเดินรถของเอกชน ที่ได้รับใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก ประมาณ 54 เส้นทาง ด้วยความสมัครใจ โดย ขสมก.จะจ่ายค่าจ้างตามกิโลเมตรที่วิ่งให้บริการจริง ในอัตราที่ ขสมก.กำหนดไว้เบื้องต้น (ราคากลาง) ก่อนมีการประกวดราคา คือ 34.27 บาทต่อกิโลเมตร ซึ่งเอกชนจะต้องนำรถโดยสารออกวิ่ง เฉลี่ย 240 กิโลเมตรต่อคันต่อวัน

สำหรับประเด็นของโครงสร้างต้นทุน ขสมก.ได้อ้างอิงข้อมูลราคากลาง 34.27 บาทต่อกิโลเมตร จากผลการศึกษาโครงสร้างต้นทุนการประกอบการของผู้ประกอบการ รถเอกชนร่วมบริการปรับอากาศ ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) ซึ่งตัวเลขดังกล่าว เป็นเพียงราคากลาง สำหรับใช้ในการประกวดราคา (e - bidding) เท่านั้น ผู้ประกอบการรถเอกชน จะต้องเสนออัตราค่าจ้างวิ่งในราคาต่ำสุด (ต่ำกว่าราคากลาง) เพื่อเป็นผู้ชนะการประกวดราคา และได้รับสิทธิร่วมเดินรถกับ ขสมก. รวมทั้ง รถโดยสารที่ ขสมก.จะให้เอกชนร่วมเดินรถ ประมาณ 1,500 คัน ต้องเป็นรถโดยสารแบบชานต่ำ EV, NGV หรือ รถที่ใช้พลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่มีการติดตั้งระบบ E-Ticket, GPS, WiFi มาพร้อมกับตัวรถ และจะต้องเป็นรถใหม่ หรือ รถที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 2 ปี นับตั้งแต่วันจดทะเบียน เท่านั้น ส่วนรถโดยสาร EV ที่ ขสมก.จะเช่าตามกิโลเมตรที่วิ่งให้บริการจริงจากผู้ประกอบการ เพื่อนำมาวิ่งในเส้นทางเดินรถของ ขสมก. (108 เส้นทาง) มีจำนวน 2,511 คัน

 

อย่าไรก็ตามเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ขสมก.จึงต้องจ้างผู้ประกอบการรถเอกชน ที่ได้รับใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น ในการเข้าร่วมเดินรถกับ ขสมก.ตามความสมัครใจ เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างรถโดยสารของ ขสมก.และรถโดยสารเอกชนได้อย่างไร้รอยต่อ โดยจัดเก็บค่าโดยสารในระบบเดียวกัน และเป็นโครงข่ายเดียวกัน ส่วนผู้ประกอบการรถเอกชน ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มที่ยังไม่ได้ข้อยุติ เพื่อให้เหลือผู้ประกอบการเพียงรายเดียว ในการยื่นขอรับใบอนุญาต และ 2.กลุ่มที่มีหนี้สินค้างชำระจำนวนมาก และไม่มาดำเนินการรับสภาพหนี้