ราคาน้ำมันดิบ ปรับเพิ่ม หลังดัชนีภาคการผลิตสหรัฐและจีนปรับตัวดีขึ้น

02 ก.ย. 2563 | 01:24 น.

ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม หลังดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ และจีนปรับตัวดีขึ้น

สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์ รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมัน  2 กันยายน 2563

ราคาน้ำมันดิบ ปรับเพิ่ม หลังดัชนีภาคการผลิตสหรัฐและจีนปรับตัวดีขึ้น

+ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เท็กซัสปรับตัวเพิ่มขึ้น หลัง Institute of Supply Management (ISM) รายงานดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ ในเดือนส.ค. 63 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 56.0 ซึ่งสูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 54.2  และเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน พ.ย. 61

+ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของจีนในเดือน ส.ค. 63 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 53.1 จากเดือนก่อนหน้าที่ 52.8 โดยเป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ประกอบกับปริมาณการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นหลังประเทศต่างๆ ผ่อนคลายนโยบายปิดเมือง

+ ภายหลังตลาดปิด ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุน หลังสถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ส.ค. 63 ปรับตัวลดลง 6.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 501.2 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิง โอกลาโฮมา ปรับลดลง 237,000 บาร์เรล

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับปัจจัยกดดันจากการส่งออกน้ำมันเบนซินจากจีนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันเบนซินที่อ่อนตัวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังการส่งออกน้ำมันดีเซลจากเกาหลีใต้ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง จากมาตรการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เข้มงวด

ที่มา : บมจ.ไทยออยล์

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (1 ก.ย.) ขานรับดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐและจีนที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในเดือนส.ค. นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐจะปรับตัวลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 5

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 15 เซนต์ หรือ 0.4% ปิดที่ 42.76 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 30 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 45.58 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปิดในแดนบวกเป็นวันแรกในรอบ 4 วันทำการ โดยได้แรงหนุนจากข้อมูลภาคการผลิตที่แข็งแกร่งของสหรัฐและจีน โดยผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 56.0 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.ปีที่แล้ว จากระดับ 54.2 ในเดือนก.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 54.5

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ราคาทอง เพิ่ม 30 เซนต์ ดอลลาร์แข็งกดดันตลาด

ดาวโจนส์ ปิดพุ่ง 215.61 จุด ขณะที่ Nasdaq และ S&P500 ทำนิวไฮ

ต่างชาติถือหุ้นไทย ตํ่าสุดในประวัติศาสตร์