เปิดประวัติ "โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์”

19 ส.ค. 2563 | 19:05 น.

ทำความรู้จัก โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์

การตั้งโต๊ะแถลงข่าวใหญ่กรณีพบคนไทยติดโควิด-19 เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมาของคณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ระบุว่า พบผู้ป่วยมาจากคลินิกเออาร์ไอ (ARI) ซึ่งเป็นคลินิกโรคระบบทางเดินทางหายใจ ทำการตรวจรักษาอยู่ รพ.รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ นั้น เป็นการส่งสัญญาณเตือนให้คนไทยต้องตระหนักและพร้อมรับมือ ไม่ประมาทกับโรคโควิด-19 ที่อาจกลับมาระบาดระลอก 2 ได้ทุกเมื่อ หลังจากที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเป็นศูนย์มาอย่างต่อเนื่อง   

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

สธ.รับพบ 2 หญิงไทยติดเชื้อโควิดหลังกักตัว14วัน

“หมอรามา"เตือนอย่าแตกตื่นไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด

ยอดโควิด 19 ส.ค.63 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 ราย มาจาก“อินเดีย”

ร.พ.รามา เผย 7 วิธีต้านโควิด-19

 

สำหรับ โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ นั้นตั้งอยู่ใน สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ที่ ถนนคลองส่งน้ำสุวรรณภูมิ ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ 

 

จากข้อมูลในห้องนิทรรศการที่ชื่อว่า “9 (ปี) สู่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์” ขนาดพื้นที่ 27 ตารางเมตรซึ่งจัดแสดงนิทรรศการในรูปแบบ Timeline บอกเล่าเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 9 ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551 - 2560 ของ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ไว้ มีรายละเอียด ดังนี้ 

 

จุดเริ่มต้น “สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์”

 

เมื่อปี พ.ศ. 2551 สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ถือกำเนิดจากพระราชปรารภและพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาทบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีพระราชประสงค์ให้มีสถานพยาบาลของรัฐขนาดใหญ่ ระดับโรงเรียนแพทย์ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้น้อยให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้น รวมถึงเพื่อขยาย Campus จากพญาไท มาที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ด้วยพื้นที่ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มีพื้นที่แค่ 40 ไร่ จึงไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่มาใช้บริการในแต่ละวันได้อย่างเพียงพอ

 

ทางคณะกรรมการประจำคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (ผู้บริหารสูงสุด) จึงได้มีมติเห็นชอบในการสนองพระราชดำริดังกล่าว โดยเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในนาม โครงการพัฒนารามาธิบดีสู่คณะแพทยศาสตร์ชั้นนำในเอเชีย (Ramathibodi Toward Leading Medical School in Asia)

 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 ได้มีการเขียน “แผนผังความคิดอันเยี่ยมยอดของอาจารย์ยอดเยี่ยม” ซึ่งอาจารย์ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ สถาปนิกผู้ออกแบบการก่อสร้าง “โครงการพัฒนารามาธิบดีสู่คณะแพทยศาสตร์ชั้นนำในเอเชีย (Ramathibodi Toward Leading Medical School in Asia)” ได้เขียนแผนผังความคิด (Mind Map) ซึ่งแสดงให้เห็นมโนภาพที่สัมพันธ์กัน เพื่ออธิบายเรื่องราวและความต้องการของโครงการอย่างครอบคลุมในทุกด้าน

 

ในปีพ.ศ. 2553 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นผู้แทนในการรับมอบหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินราชพัสดุ จำนวน 5 แปลง ณ ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่รวม 291 ไร่ 3 งาน 81 ตารางวา จากนายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ณ ห้องประชุมศาลากลาง จังหวัดสมุทรปราการ       

 

สำหรับการออกแบบพื้นที่ “โครงการพัฒนารามาธิบดีสู่คณะแพทยศาสตร์ชั้นนำในเอเชีย" แรกเริ่มนั้น แนวคิดหลักในการออกแบบ คือ Green Campus – Community Linkage (ใกล้ชิดธรรมชาติ ใกล้ชิดชุมชน) โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 ส่วน คือ

  1. พื้นที่บริการทางการแพทย์
  2. พื้นที่การศึกษา
  3. พื้นที่ที่พักอาศัย
  4. พื้นที่สาธารณูปโภค
  5. พื้นที่รองรับการขยายตัวในอนาคต

 

ภายใต้กรอบแนวคิด "4E" คือ

  1. Education reform : การสร้างโอกาสในการปฏิรูประบบการศึกษาและหลักสูตรใหม่
  2. Environmental friendly : คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของบุคลากร นักศึกษา และผู้ป่วย
  3. Energy saving : ภูมิสถาปัตยกรรมที่ “เน้นความเป็นมิตรและกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม”
  4. Excellent living and working condition : คำนึงถึงการประหยัดพลังงาน โดย “มุ่งอาศัยการใช้พลังงานทางเลือกให้มากที่สุด"

 

ในระหว่างปี พ.ศ. 2554 จนถึงปี พ.ศ. 2556 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ออกสลากการกุศลงวดพิเศษเพื่อสนับสนุนการก่อสร้าง “โครงการพัฒนารามาธิบดีสู่คณะแพทยศาสตร์ชั้นนำในเอเชีย (Ramathibodi Toward Leading Medical School in Asia) รวมมูลค่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งในการก่อสร้างโครงการดังกล่าวได้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA – Environmental Impact แสดงให้เห็นถึง “ความห่วงใยและใส่ใจพื้นที่โดยรอบโครงการอย่างแท้จริง”

 

กระทั่ง ในวันที่ 14 กันยายน 2555 เวลา 15.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรี สิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธี “วางศิลาฤกษ์” สถาบันการแพทย์แห่งใหม่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ณ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเป็นขวัญกำลังใจของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เมื่อปีพ.ศ.2556 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ สถาบันการแพทย์แห่งใหม่ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลว่า สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ (Chakri Naruebodindra Medical Institute) นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เชิญตราสัญลักษณ์ งานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554 ประดิษฐานที่อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ด้วย

สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์กับงานอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม

 

จังหวัดสมุทรปราการ เป็นจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กและใหญ่มากกว่า 8,000 แห่ง จากที่ตั้งของ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ จึงถือเป็นความรับผิดชอบโดยตรงในการขับเคลื่อนงานด้านอาชีวเวชศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมของประเทศ ซึ่งการดูแลประชาชนในภาคอุตสาหกรรมมิใช่เฉพาะในจังหวัดสมุทรปราการ แต่ขยายผลไปจังหวัดด้านอุตสาหกรรมใกล้เคียงแถบชายฝั่งทะเลตะวันออกและจะขยายครอบคลุมไปทั่วประเทศ

 

การพัฒนางานอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ภายใต้สาขาวิชาอาชีวเวชศาสตร์และพิษวิทยา ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชนนั้น เป็นโครงการร่วมระหว่าง 3 ภาควิชาของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คือ อายุรศาสตร์ เวชศาสตร์ครอบครัว และเวชศาสตร์ชุมชน โดยพัฒนาอย่างรอบด้านเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ทั้งด้านการศึกษา การบริการ การวิจัย และการสร้างเครือข่ายกับสถาบันอื่นๆทั้งในและต่างประเทศ

 

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ 2557 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อโรงพยาบาลของสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ว่า “โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์” และชื่อภาษาอังกฤษว่า “RAMADHIBODI CHAKRI NARUEBODINDRA HOSPITAL” ในปีเดียวกันนี้ คุณหญิงกานดา เตชะไพบูลย์ และครอบครัว ทูลเกล้าฯ ถวายโฉนดที่ดิน บริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เนื้อที่ 27 ไร่ 2 งาน แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรี สิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการก่อสร้างสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ทำให้สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์มีพื้นที่ก่อสร้างรวม 319 ไร่ 1 งาน 81 ตารางวา

 

จากนั้นในปี พ.ศ. 2558 ได้มีการจัดเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่การเป็นสถาบันการแพทย์ชั้นนำในเอเชียอย่างสมบูรณ์ที่สุด ในระยะแรกมีบุคลากรฝ่ายวิชาการ (อาจารย์) จำนวน 20 คน ฝ่ายสนับสนุน จำนวน 12 คน และสายวิชาชีพ จำนวน 346 คน รวมทั้งหมด 378 คน รวมทั้งการเตรียมการในด้านต่างๆ เช่น อาคารสถานที่ โครงสร้างของสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ การวางแผนอัตรากำลัง นอกจากนี้ยังได้พัฒนาแผนกลยุทธ์และนำมาปรับใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์

 

ต่อมาในปีพ.ศ. 2559 คณะผู้บริหารเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรี สิรินธร สยามบรมราชกุมารี เพื่อกราบบังคมทูลถวายรายงานความก้าวหน้าของโครงการสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ และปีพ.ศ. 2560 นับว่า เป็นปีที่มีความสำคัญยิ่งของ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ หลายประการ คือ

 

1.สภามหาวิทยาลัยมหิดล ให้มีมติอนุมัติให้ประกาศใช้ “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยการบริหารสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์และโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์” ภายใต้สังกัดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพในการบริหารสถาบันฯ และโรงพยาบาลฯ โดยมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป

 

2.วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2560  ได้เริ่มย้ายสำนักงาน อุปกรณ์โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ จากที่พญาไท มายังสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ และในระหว่างนี้ได้มีการฝึกอบรมบุคลากรและติดตั้งเครื่องมือแพทย์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการทางการแพทย์ที่สมบูรณ์ในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560

 

3.วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2560 จัดตั้งโครงสร้างองค์กรของสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ (เป็นการภายใน) เพื่อให้การบริหารงานภายในสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์และโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นไปอย่างเหมาะสมและคล่องตัวยิ่งขึ้น

 

4.วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2560 จัดงานเดิน – วิ่ง รามาธิบดี มินิ-ฮาล์ฟมาราธอน เพื่อสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เป็นการประชาสัมพันธ์การก่อสร้างสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ รวมทั้ง ยังช่วยกระตุ้นให้ประชาชนที่สนใจและรักในการดูแลสุขภาพตนเองได้มีเวทีในการออกกำลังกายผ่านรูปแบบการวิ่งและเดิน เพื่อสุขภาพ

 

5.วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2560 โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ได้เปิดให้บริการประชาชนเป็นวันแรก และมีคนไข้เป็นรายแรกที่เข้ามารักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ด้วย

 

6.วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2560 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสมุทรปราการ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดลและอุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล

 

คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ผู้อำนวยการก่อสร้างสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ และคณะผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เฝ้าฯ รับเสด็จทรงกดปุ่มเปิดป้ายชื่อ “สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์” และป้ายชื่อ “โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์” ทรงทอดพระเนตรการดำเนินงานของห้องรังสีวินิจฉัยและห้องตรวจเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging : MRI) ทรงลงพระนามาภิไธยในแผ่นศิลา และทรงปลูกต้นราชพฤกษ์ จำนวน 1 ต้น บริเวณด้านหน้าคลินิกพิเศษ (Premium Clinic) อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ทั้งนี้ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ จึงถือว่า วันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันครบรอบของสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ด้วย

 

พร้อมกันนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล และศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมทำพิธีเปิดห้องนิทรรศการ "สายธารพระเมตตาจากรามาธิบดีสู่จักรีนฤบดินทร์" เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2560 ภายในห้องดังกล่าว ประกอบด้วย พระบรมฉายาลักษณ์ พระบรมสาทิสลักษณ์ และหนังสือภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์