ชมสด "สุริยุปราคา" 21 มิถุนายน 2563 คลิก www.narit.or.th

21 มิ.ย. 2563 | 06:05 น.

ปักหมุดชมสด "สุริยุปราคา"เหนือท้องฟ้าเมืองไทย 21 มิถุนายน 2563จาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ www.narit.or.th หรือเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ คลิก

วันที่  21 มิถุนายน 2563 ตั้งแต่ช่วงเวลา 13:00 - 16:10 น. จะเกิดปรากฏการณ์ สุริยุปราคาบางส่วน เหนือท้องฟ้าเมืองไทย โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT (องค์การมหาชน) www.narit.or.th ได้ปักหลักไลฟ์สดปรากฏการณ์นี้ ผู้ที่สนใจสามารถรับชมได้ที่เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  หรือคลิกที่นี่

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT (องค์การมหาชน)กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว)เปิดเผยว่า ในวันที่ 21 มิถุนายน 2563 ปรากฏการณ์ "สุริยุปราคาวงแหวน" แนวคราสวงแหวนพาดผ่าน สาธารณรัฐอัฟริกากลาง คองโก เอธิโอเปีย ตอนใต้ของปากีสถาน ตอนเหนือของอินเดีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนประเทศไทย จะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน

แล้วการเกิดปรากฎการณ์ "สุริยุปราคาวงแหวน"  และ “สุริยุปราคาบางส่วน” จะบอกอะไรกับประเทศบ้าง
 

สุริยุปราคาวงแหวน คือสุริยุปราคาที่ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกมากในขณะเกิดสุริยุปราคา ทำให้ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ไม่เต็มดวง คนบนโลกจะมองเห็นพื้นผิวของดวงอาทิตย์ปรากฏออกมาให้เห็นโดยรอบ ลักษณะคล้ายวงแหวน 

สุริยุปราคาบางส่วน เกิดจากโลก ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ไม่ได้เรียงอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันพอดี ทำให้คนบนโลกมองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งเพียงบางส่วน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ย้อนตำนาน “สุริยุปราคา” ประวัติศาสตร์ทั้งไทยและเทศ

อุปกรณ์ ดู “สุริยุปราคา” 21 มิถุนายน 2563 อย่าดูด้วยตาเปล่า

"สุริยุปราคา" 21 มิ.ย.2563 ห้ามพลาด กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี

-แล้วจะศึกษาอะไรจากสุริยุปราคาทั้งสองชนิดนี้ได้บ้าง 
คำตอบก็คือบรรยากาศโลกในช่วงเกิดสุริยุปราคา โดยสุริยุปราคาเป็นปรากฏการณ์ที่ความเข้มแสงของดวงอาทิตย์ลดลงแล้วกลับมาสว่างขึ้นในเวลาค่อนข้างเร็ว นั่นทำให้นักวิทยาศาสตร์สนใจศึกษาว่าความเข้มแสงของดวงอาทิตย์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันจะมีผลต่อบรรยากาศของโลกหรือไม่ อาทิ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงระหว่างเกิดสุริยุปราคา (เช่น อุณหภูมิ) ความเปลี่ยนแปลงของสภาพการนำไฟฟ้าในบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์ หรือการเกิดโอโซนจากการเปลี่ยนแปลงของรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงอาทิตย์

-แล้วความเข้มแสงอาทิตย์ที่เปลี่ยนแปลงตามอัตราการบังของดวงจันทร์ 
โดยการศึกษานี้สามารถทำได้เมื่อใช้อุปกรณ์วัดความเข้มแสง เพียงแต่อาจมีปัจจัยรบกวนอื่น ๆ จากชั้นบรรยากาศโลก เช่น เมฆที่เคลื่อนเข้ามาบัง หรือมุมเงยของดวงอาทิตย์ อย่างกรณีเมื่อดวงอาทิตย์อยู่ใกล้กับขอบฟ้า แสงอาทิตย์จะส่องเป็นมุมเฉียงมากขึ้นและมีระยะเดินทางผ่านบรรยากาศโลกยาวขึ้น แสงจึงถูกกรองออกไปมากขึ้นด้วย ทำให้สามารถมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าได้ในช่วงที่ดวงอาทิตย์กำลังขึ้นและกำลังตก
 

-พื้นผิวของดวงจันทร์ 
หากขนาดปรากฏของดวงจันทร์ขณะเกิดสุริยุปราคาวงแหวนใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์มาก ๆ จนมองเห็นสุริยุปราคาวงแหวนมีวงแหวนที่ขาดช่วงไป นั่นคือปรากฏการณ์ “ลูกปัดเบลีย์” เกิดจากแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านหุบเหว ร่องหรือหลุมอุกกาบาตบริเวณขอบของดวงจันทร์ จนเห็นแสงอาทิตย์สว่างเป็นหย่อม ๆ บนวงแหวนบาง ลักษณะปรากฏของ “วงแหวนขาดช่วง” ทำให้สามารถประเมินคร่าว ๆ ว่าบริเวณใดเป็นภูเขาหรือหุบเหวบนดวงจันทร์ แล้วจึงนำไปเทียบกับแผนที่ดวงจันทร์ต่อได้

-การโคจรของดวงจันทร์
เราสามารถคำนวณหาอัตราเร็วในการโคจรของดวงจันทร์จากการถ่ายภาพในช่วงเวลาต่าง ๆ ระหว่างเกิดสุริยุปราคาได้ ซึ่งในการเกิดสุริยุปราคาแต่ละครั้ง ระยะห่างระหว่างดวงจันทร์และโลกจะแตกต่างกัน อัตราเร็วก็จะไม่เท่ากันตามไปด้วย หรือทำได้จากการถ่ายภาพสุริยุปราคาบางส่วนด้วยผู้สังเกตการณ์ 2 คน ที่อยู่ห่างกันในเวลาเดียวกัน แล้วนำมาหาระยะห่างของดวงจันทร์โดยใช้หลักการพารัลแลกซ์

-พฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตระหว่างเกิดสุริยุปราคา
.แม้ว่าระหว่างเกิดสุริยุปราคาวงแหวนหรือสุริยุปราคาบางส่วน ดวงอาทิตย์จะไม่ได้สว่างน้อยลงเท่ากับการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง แต่สามารถสังเกตการณ์ว่าเมื่อความเข้มแสงอาทิตย์เปลี่ยนไปจากสุริยุปราคา จะส่งผลต่อพฤติกรรมสิ่งมีชีวิต อย่างไร เช่น นกพากันบินกลับรังเพราะคิดว่าเป็นเวลาเย็น

-สุริยุปราคาทางดาราศาสตร์เชิงวัฒนธรรม
สามารถศึกษาเรื่องของสุริยุปราคาในบริบทดาราศาสตร์เชิงวัฒนธรรมได้หลายประเด็น เช่น ด้วยองค์ความรู้ทางดาราศาสตร์ในยุคกลางที่คิดว่าโลกเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ จะสามารถคำนวณสุริยุปราคาวงแหวนได้อย่างไร ,การตรวจหาบันทึกเกี่ยวกับปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนและวงแหวนในเอกสารทางประวัติศาสตร์ 
การสำรวจความเชื่อดั้งเดิมหรือนิทานดาวในวัฒนธรรมหรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ว่ามีความแตกต่างกันระหว่างสุริยุปราคาเต็มดวงกับสุริยุปราคาวงแหวนหรือไม่อย่างไร?

ขอบคุณข้อมูล สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT (องค์การมหาชน)