ข้อควรรู้รับเงินเยียวยา“ประกันสังคม”จากพิษโควิด-19

14 เม.ย. 2563 | 05:17 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

หลังจากรัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยา ให้เงินชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด 19 ทั้งผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมและนอกระบบประกันสังคม แต่ยังมีคำถามมาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับเงื่อนไขและการขอรับสิทธิ โดยเฉพาะผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม แม้ว่าได้ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือไปแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา

อัพเดท ประกันสังคมยอมจ่าย ชี้“โควิด”เหตุสุดวิสัย

อ่านประกอบ “ประกันสังคม”ตอบ25คำถามไขข้อสงสัยรับเงินเยียวยาโควิด

จากการตรวจสอบเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม ของ"ฐานเศรษฐกิจ"พบว่า สำนักงานประกันสังคมได้จัดทำแบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ ขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงาน (e-form for unemployment benefit) ให้ผู้ประกันตนที่อยู่ในมาตรา 33 กรอกข้อมูลตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563

แบบฟอร์มที่จัดทำขึ้นนี้สำนักงานประกันสังคมระบุชัดเจนว่า สำหรับกรณีที่ท่านหยุดงานเนื่องจาก หน่วยงานภาครัฐ/นายจ้างสั่งปิดกิจการชั่วคราว หรือหยุดเนื่องจากต้องกักตัวอันเกิดจากโรคระบาด  ซึ่งท่านสามารถกรอกข้อมูลได้ที่นี่

สิ่งสำคัญที่สำนักงานประกันสังคมย้ำคือ สำนักงานประกันสังคมจะต้องรอเอกสารยืนยันจากนายจ้างเพื่อยืนยันความถูกต้องด้วย จึงอาจจะส่งผลให้การส่งเงินให้ผู้ประกันตน ล่าช้า ได้

“ในกรณีที่ท่านหยุดงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ทางสำนักงานประกันสังคมจะต้องรอเอกสารยืนยันการหยุดงานจากนายจ้างของท่านก่อน จึงจะสามารถดำเนินการอนุมัติเงินว่างงานได้ ซึ่งตามปกติแล้ว นายจ้างจะส่งเอกสารหลังจากเปิดกิจการตามปกติ เพื่อให้รู้ช่วงเวลาที่หยุดงานจริง”สำนักงานประกันสังคมระบุ

ดังนั้นผู้ประกันตนควรที่ต้องติดต่อกับนายจ้างให้เร่งทำเอกสารยืนยัน ส่งให้สำนักงานประกันสังคม เพื่อที่จะได้รับเงินเยียวยาเร็วขึ้น

ส่วนแบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ ขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคม กรณีว่างงานที่สำนักงานประกันสังคม จัดทำให้ผู้ประกันตนกรองนั้นระบุอย่างชัดเจนว่าจะต้องเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 เท่านั้น

“แบบฟอร์มนี้ สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีสิทธิกรณีว่างงานเท่านั้น (ในกรณีที่ท่านเป็นมาตรา 39 หรือ 40 ขอให้ท่านไปลงทะเบียนที่เว็บไซต์ "https://www.xn--12cl1ck0bl6hdu9iyb9bp.com/")”หมายเหตุในเว็บไซต์ประกันสังคมที่เปิดให้ลงทะบียนระบุ

สำหรับข้อมูลที่ผู้ประกันตนจะต้องกรอกในแบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งสำคัญที่สำนักงานประกันสังคมย้ำคือข้อมูลติดต่อที่เป็นปัจจุบัน เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้สามารถติดต่อกลับได้ ส่วนข้อมูลที่จะต้องเตรียมให้พร้อมเพื่อกรอกแบบฟอร์มมีดังนี้

ชื่อและนามสกุล/ Name & Surname *

เลขบัตรประจำตัวประชาชน/ Personal ID (13 digits) *

บ้านเลขที่/ House No *

หมู่ที่/ Moo

ชื่ออาคาร-หมู่บ้าน/ Name of building or village

ซอย/ Soi

ถนน/ Road

ตำบล-แขวง/ Tambol *

อำเภอ-เขต/ Amphur *

จังหวัด/ Province *

รหัสไปรษณีย์/ Zip Code *

เบอร์มือถือ/ Mobile Number *

อีเมล/ Email Address

ชื่อของสถานประกอบการสุดท้ายที่ทำงาน/ Name of the last company that you have worked with *

วันที่ออกหรือหยุดจากงาน/ Date of leaving *

เลือกปี เป็น ปี ค.ศ. เช่น 2020

วันที่

สาเหตุการออกจากงาน/ Reason of leaving *

ในกรณีที่เลือกสาเหตุที่ 1 หรือ 2 ท่านยังคงต้องลงทะเบียนที่เว็บไซต์กรมจัดหางาน https://empui.doe.go.th/auth/index ด้วย

1-ลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง/ Resigned or contract expired

2-ถูกเลิกจ้าง/ Laid-off

3-รัฐบาลสั่งปิดกิจการชั่วคราว/ Company temporarily closed due to government announcement

4-กักตัวเองเนื่องจาก สัมผัส ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงติดโรคระบาด/ Self-Quarantine at Home or Hospital

5-นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ เนื่องจาก สภาวะเศรษฐกิจ/ Closed due to economic situation

6-นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ เนื่องจาก มีลูกจ้างสุ่มเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19/ Company closed because some employee have a chance to be Covid-19

ชื่อธนาคารเพื่อใช้สำหรับขอรับเงิน/ Name of bank for receiving benefit

*ปัจจุบันระบบจ่ายเงินรองรับ 9 ธนาคารในการขอรับประโยชน์ทดแทน

เลขบัญชีธนาคารเพื่อใช้สำหรับขอรับเงิน/ Bank Account Number for receiving benefit *

ประสงค์ยื่นเรื่องกับสำนักงานประกันสังคมที่ใด/ Prefered SSO branch for claim filing *

หากไม่ทราบสาขา ให้เลือกตามจังหวัดแทน/ In case you don't know SSO branch, please choose by province name.ใ

การกรอกแบบฟอร์มสำนักงานประกันสังคมจะให้ผู้ประกันตนที่ขอรับเงินเยียวยารับรองความถูกต้องทั้งหมด

“ข้าพเจ้าขอรับรองว่าข้อความข้างต้นถูกต้องตามความจริงทุกประการ และข้าฯ เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล หากปรากฎภายหลังว่าข้าฯ ไม่ได้เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล หรือรับเงินโดยไม่มีสิทธิ หรือมีเงินประโยชน์ทดแทนที่รับไปเกินสิทธิ

ข้าฯ ยินยอมชดใช้เงินที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิดังกล่าวตลอดจนค่าเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้แก่สำนักงานประกันสังคม และข้าฯ ยินยอมให้สำนักงานฯ แจ้งให้ธนาคารตามที่ข้าฯ ขอให้สำนักงานฯ โอนเงินประโยชน์ทดแทนเข้าบัญชีเงินฝาก หักเงินในบัญชีของข้าฯ เพื่อส่งคืนแก่สำนักงานฯ และยินยอมให้สำนักงานดำเนินการตามกฎหมาย”

ล่าสุดวันที่ 14 เมษายน 2563 นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด) เรียกประชุมคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) ครั้งที่ 7/2563 หารือการเยียวยาให้กับลูกจ้างผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าโควิด-19 เพื่อเตรียมนำข้อสรุปเสนอขอความเห็นชอบต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 15 เมษายนนี้ 

นายสุทธิ เผยว่า ในที่ประชุมได้เห็นชอบให้โควิด-19 ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ที่ทำให้ลูกจ้างผู้ประกันตนเกิดการว่างงานเป็นจำนวนมาก และกองทุนประกันสังคมจะต้องจ่ายเงินกรณีว่างงาน เพื่อเยียวยาผลกระทบที่ 62% ของค่าจ้างรายวัน ในระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณเดือนละ 7,080 -8,000 บาท ซึ่งขณะนี้กองทุนประกันว่างงานมีเงินรวม 1.6 แสนล้านบาท

โดยหลังจากนี้ จะนำรายละเอียดเสนอต่อ ครม.เพื่อเห็นชอบ และออกประกาศกฎกระทรวงตามรายละเอียดข้างต้น หลังจากนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป  หากรายละเอียดทั้งหมด ดำเนินการได้ตามขั้นตอน ประกันสังคมจะสามารถจ่ายเงินอย่างเร็วที่สุดในสัปดาห์หน้าได้แน่นอน

เพราะในระบบของกระทรวงแรงงานมีข้อมูลของลูกจ้างและผู้ประกันตัวอยู่แล้ว เบื้องต้นมีอยู่ที่ประมาณ 7แสนคน ที่ว่างงานในระบบ และพบว่ามีการลาออก-เลิกจ้าง ประมาณ 1 ล้านคน และที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตรงๆ อยู่ที่ 3.5 แสนคน รวมถึงรัฐสั่งปิดอยู่ที่ 8 แสนคน (ล็อตเก่า) ผู้ประกันตนมีทั่งหมด 11 ล้านคน ที่จะดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร็วที่สุด

อย่างไรก็ดีก่อนหน้านั้น ผู้ประกอบการและลูกจ้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 13 สาขาอาชีพทั้งระบบ  ได้มีการร้องเรียนไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อให้พิจารณาจ่ายชดเชยประกันสังคมให้แก่ลูกจ้างทีี่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการชั่วคราวแต่ไม่สามารถดำเนินการเพราะ ประกันสังคมตีความว่าไม่เข้าข่ายเหตุสุดวิสัย จึงมีการเรียกร้องกันมาตลอด โดยคาดว่าจะลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบถึง 4 ล้านราย