เลขาศาลแจงการทำคดี"ภาษีโตโยต้า" ยันศาลฎีกายังไม่ได้พิจารณา-พิพากษา

04 มิ.ย. 2564 | 06:45 น.

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงขั้นตอนการพิจารณา "คดีภาษีโตโยต้า" ที่โตโยต้าเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรมศุลกากร จนถึงขั้นฎีกา

วันนี้ (4 มิ.ย.) นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เเถลงข่าวกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวการสอบสวนเกี่ยวกับ คดีภาษีบริษัท ในเครือโตโยต้า ในประเทศสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งมีการกล่าวอ้างถึงชื่อข้าราชการ และอดีตข้าราชการตุลาการผู้ใหญ่ว่า อาจมีส่วนพัวพันธ์กับเรื่องนี้

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ขอเรียนว่าคดีที่มีการอ้างถึงเป็นคดีที่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่จัดเก็บภาษีเป็นจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษามีคำขอให้เพิกถอนการประเมิน และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของหน่วยงานที่จัดเก็บภาษี ฟ้องคดีแรกวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ซึ่งศาลภาษีอากรกลางพิจารณาคำฟ้องแล้วมีคำสั่งให้แยกฟ้องโจทก์จึงยื่นฟ้องคดีเข้ามาใหม่อีก 9 คดีในวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 และวันที่ 10 มิถุนายน 2559 มีการสืบพยานต่อสู้คดีกันเป็นระยะเวลาปีเศษ ศาลภาษีอากรกลางจึงมีคำพิพากษาทุกคดีในวันที่ 29 กันยายน 2560 พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นผลให้โจทก์ไม่มีความรับผิดทางภาษีอากร

ต่อมาจำเลยได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางศาลอุทธรณ์ คดีชำนัญพิเศษรับคดีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561 และต่อมาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์โดยอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวันที่ 10 มิถุนายน 2562 เป็นผลให้โจทก์ต้องรับผิดชำระภาษีอากรตามการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของหน่วยงานรัฐโจทก์จึงยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ฎีกาและรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาโดยศาลภาษีอากรกลางได้อ่านคำสั่งคดีขออนุญาตฎีกาไปเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564

ขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างศาลภาษีอากรกลางดำเนินการให้ฝ่ายจำเลยยื่นคำแก้ฎีกา ซึ่งจำเลยขออนุญาตขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกาถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 หากยื่นคำแก้ฎีกาแล้วศาลภาษีอากรกลางจะรวบรวมสำนวนส่งคืนศาลฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไป

ดังนั้น ในคดีนี้ศาลฎีกาจึงยังไม่ได้พิจารณาพิพากษาคดี เพียงพิจารณาคำร้องขออนุญาตฎีกาเท่านั้น ซึ่งการอนุญาตให้ฎีกาเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ. มาตรา 249 ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 26 ที่กำหนดให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกา เมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย

เมื่อคดีนี้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น และชั้นอุทธรณ์ขัดแย้งกันในสาระสำคัญ ทั้งเกี่ยวพันกับความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันกับประเทศไทยและยังเป็นกรณีที่ไม่มีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกามาก่อน

ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ฎีกาได้ โดยพิจารณาเพียงว่าปัญหาที่ ยื่นฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาสมควรอนุญาตให้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาหรือไม่ ยังไม่ได้มีการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี แต่อย่างใด เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีภาษีอากรซึ่งเป็นคดีชำนัญพิเศษ ในการพิจารณาพิพากษาจะมีผู้พิพากษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษีอากรตลอดทั้งสาย ตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนกระทั่งถึงศาลฎีกา

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ประธานศาลฎีกา ได้ลงนามแต่งตั้ง 4 ผู้พิพากษาชั้นฎีกา-อุทธรณ์ เป็นคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงปมกรณี ภาษีโตโยต้า ผิด-ไม่ผิดวินัย โฆษกศาลยุติธรรม  

สำหรับ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง 4 คน ประกอบด้วยผู้พิพากษาชั้นฎีกาและชั้นอุทธรณ์ ซึ่งมีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการฯ และมีผู้พิพากษาชั้นศาลฎีกาและชั้นศาลอุทธรณ์ เป็นกรรมการ โดยให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการสอบสวนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้น กรณีข้าราชการตุลาการถูกกล่าวหาหรือเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย พ.ศ.2544 ออกตามความในมาตรา 68 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมฯ ให้เสร็จโดยเร็ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง สินบนโตโยต้าพริอุส ใครโค่น...ศาลฎีกา