เอดีสกัด‘เหล็กลวดจีน’ไม่อยู่ ปริมาณทะลักต่อเนื่อง/ผู้ผลิตหันไปเจือโบรอนหลบเลี่ยงพิกัด

19 ส.ค. 2559 | 08:00 น.
ทาทา สตีล โวยมาตรการเอดีเหล็กลวด สกัดการนำเข้าจากจีนไม่อยู่ ชี้ 6 เดือนทะลัก 6.68 แสนตัน เผยผู้ผลิตหันไปเจือโบรอนหลบเลี่ยงพิกัดนำเข้าแทน ส่งผลให้ราคาต่างกันถึง 70 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน กระทบรายได้หาย จี้กระทรวงพาณิชย์หามาตรการอุดช่องโหว่ พร้อมหันส่งออกเพิ่ม แต่ยังมั่นใจก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐส่งผลการใช้เหล็กในประเทศพุ่ง

นายวันเลิศ การวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่-การผลิต บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากที่ภาครัฐได้ออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(เอดี) สำหรับเหล็กลวดคาร์บอนสูง โดยจัดเก็บภาษีขาเข้าในอัตรา 18-35 % ตามแหล่งการผลิต ซึ่งมีผลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา และเหล็กลวดคาร์บอนต่ำ จัดเก็บภาษีขาเข้าในอัตรา 5-14 % มีผลตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 เป็นต้นมา เพื่อสกัดเหล็กลวดจากจีนเข้ามาดัมพ์ราคาในประเทศนั้น

ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์การนำเข้าเหล็กลวดดังกล่าว พบว่ามาตรการเอดีที่ภาครัฐนำมาใช้ในการปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศนั้น ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งการนำเข้าเหล็กลวดจากจีนได้ ทั้งนี้ เห็นได้จากในช่วง 6 เดือนของปีนี้ ได้มีการนำเข้ามาแล้วกว่า 6.68 แสนตัน เพิ่มขึ้น 3 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่นำเข้ามา 6.5 แสนตัน จากความต้องการใช้อยู่ประมาณ 1 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็นเหล็กลวดคาร์บอนสูงประมาณ 4 แสนตันต่อปี และเหล็กลวดคาร์บอนต่ำ 6 แสนตันต่อปี ส่งผลให้ผู้ผลิตภายในประเทศตกอยู่ในภาวะที่ลำบาก เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันราคาเหล็กลวดที่นำเข้ามาได้

โดยราคาเหล็กลวดคาร์บอนสูงที่นำเข้ามาจะอยู่ที่ประมาณ 370 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ราคาต้นทุนผลิตในประเทศอยู่ที่ประมาณ 440 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และเหล็กลวดคาร์บอนต่ำนำเข้ามาอยู่ที่ประมาณ 360 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ส่วนราคาต้นทุนในประเทศอยู่ที่ 430 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งถือเป็นราคาที่แตกต่างกันมากถึง 70 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน แม้ว่าจะมีมาตรการเอดีเข้ามาปกป้องการนำเข้าแล้วก็ตาม

สำหรับการนำเข้าเหล็กลวดที่ยังคงสูงต่อเนื่องนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากกำลังการผลิตเหล็กในจีนยังล้นตลาดอยู่ และรัฐบาลได้มีการสนับสนุนการส่งออกในรูปการคืนภาษีส่งออกได้ 9-13 % จึงทำให้เหล็กลวดที่นำเข้ามามีราคาถูก และเมื่อภาครัฐออกมาตรการเอดีออกมาปกป้อง ทางผู้ผลิตเหล็กจากจีนจึงหันไปผลิตเหล็กลวดใหม่ โดยการเจือธาตุโครเมียมหรือโบรอน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตรงกับพิกัดเหล็กลวดที่ออกมาตรการเอดีไว้ ทำให้เหล็กลวดที่นำเข้ามาได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า และมาจำหน่ายในราคาต่ำกว่าที่ผลิตในประเทศได้ค่อนข้างมาก

นายวันเลิศ กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้บริษัท ที่มีกำลังการผลิตเหล็กลวดถึง 6 แสนตันต่อปี ได้รับผลกระทบอย่างมาก จากที่เคยจำหน่ายเหล็กลวดคาร์บอนสูงอยูที่ประมาณ 1.2 หมื่นตันต่อเดือน ปัจจุบันลงมาเหลือแค่ 2,000-4,000 ตันต่อเดือนเท่านั้น ขณะที่เหล็กลวดคาร์บอนต่ำ จากที่มาตรการเอดีเคยใช้ได้ผลในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2559 ปริมาณการขายของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 1.3 หมื่นตันต่อเดือน ปัจจุบันปรับลดลงมาเหลือ 6,000-7,000 ตันต่อเดือนเท่านั้น

ทั้งนี้ ผลกระทบดังกล่าวบริษัทได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้ช่วยเหลือผู้ผลิตภายในประเทศแล้วว่าจะมีมาตรการใดออกมาปิดช่องโว่ที่เกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าในช่วง 2-3 เดือนนี้นาจะมีความชัดเจนออกมา

นายราจีฟ มังกัลป์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การที่เหล็กลวดจากจีนเข้ามาดัมพ์ราคาภายในประเทศเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้รายได้ของบริษัทปรับตัวลดลง การแก้ปัญหาส่วนหนึ่งต้องหันไปส่งออกเหล็กไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น 10 % มาอยู่ที่ 1.2 แสนตันต่อปี โดยบริษัทตั้งเป้าหมายปริมาณการจำหน่ายเหล็กโดยรวมอยู่ที่ 1.2 ล้านตันต่อปี หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 1.14 ล้านตันต่อปี ซึ่งมีปัจจัยมาจากความต้องการใช้เหล็กเส้นในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และจะส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กของประเทศโดยรวมทั้งปีเพิ่มขึ้นเป็น 17.4 ล้านตัน จากปีก่อนอยู่ที่ 16.7 ล้านตัน

ส่วนผลประกอบการในช่วงไตรมาสแรกของปีงบ 2560 (เมษายน-มิถุนายน) บริษัทมียอดขายสุทธิอยู่ที่ 4,596 ล้านบาท จากปริมาณการขาย 3.01 แสนตัน เพิ่มขึ้น 4 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรก่อนหักภาษีที่ 345 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,184 วันที่ 18 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2559