งานมาตรฐานอุตสาหกรรม รวดเร็ว - โปร่งใส เพื่อผู้บริโภค

05 ก.ค. 2559 | 09:00 น.
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.)หนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทคุ้มครองผู้บริโภคโดยการกำหนดมาตรฐานอตุ สาหกรรม กำลังถูกจับตามองโดยเฉพาะในยุคที่ธวัช ผลความดี นั่งบริหารงานในตำแหน่งเลขาธิการสมอ. มาตั้งแต่1ตุลาคม 2558 ก็เจอแต่เรื่องร้อนๆโดยเฉพาะปัญหาของอุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ใกล้ตัวผู้บริโภคที่ไม่ได้คุณภาพ

ล่าสุดเลขาธิการธวัช เปิดใจกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วง 10 เดือนที่เข้ามาปรับการทำงานใหม่ และเร่งรัดงานสำคัญให้เร็วขึ้นว่า ปัจจุบันการแข่งขันทางการค้า นับวันจะยิ่งรุนแรง ด้วยกลยุทธ์ เล่ห์เหลี่ยม และรูปแบบที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ขณะที่การคุ้มครองยังไปได้ไม่ทั่วถึง บทบาทภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็ออกมาตรการรับมือล่าช้า ไม่ทันกาล ส่วนหนึ่งก็ติดขัดที่ตัวกฎหมายล้าสมัย กฎหมายบางส่วนก็อยู่ระหว่างปรับปรุง แก้ไขใหม่ ทำให้กระบวนการทำงานไม่รวดเร็วทันใจ

วันนี้เมื่อต้องเข้ามาดูแลงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยอมรับว่าเริ่มแรกที่เข้ามา มีความกังวลมาก เพราะมีแต่ข่าวสินค้าไม่ได้มาตรฐานระบาดเยอะ โดยเฉพาะเหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ผลิตภัณฑ์พลาสติกและยาง สินค้าเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัวผู้บริโภคในชีวิตประจำวัน

 เร่งอนุมัติมอก.

พอเข้ามารับตำแหน่งก็เร่งงานอนุมัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือมอก.ให้เร็วขึ้น โดยเปลี่ยนบทบาทเลขาธิการสมอ.จากที่เป็นผู้นั่งเซ็นใบอนุญาตมอก. ก็มอบอำนาจให้ระดับรองเลขาธิการสมอ.เซ็นอนุญาตมอก. แทน ซึ่งในส่วนของผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ เดิมกฎหมายให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรี พอแก้พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปี 2511ใหม่ ก็ให้โอนอำนาจรัฐมนตรีมาเป็นอำนาจเลขาธิการสมอ. ส่วนที่เป็นอำนาจเลขาธิการนั้นก็มอบให้ท่านรองเลขาธิการสมอ.ไปทั้งหมด แต่ตำแหน่งเลขาธิการสมอ.ก็กำกับข้างบนอีกที ไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่มีเวลาทำงานพัฒนาด้านอื่น เพราะทุกวันนี้ใบอนุญาตมอก.จากผู้ผลิตและผู้นำเข้ามีเป็นจำนวนมาก ปี2558 มีมากกว่า 6,000 ใบ และคาดว่าปี2559 จะมีมากกว่า 7,000ใบ

งานกำหนดมาตรฐาน ส่วนหนึ่งมีพ.ร.บ.อำนวยความสะดวก ทำให้การออกใบอนุญาตมอก.ทำได้เร็วขึ้น คำนึงถึงผู้ประกอบการให้มากที่สุด ซึ่งในส่วนนี้สมอ. รับนโยบายจากดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมา ก็นำมาทำทันที โดยเฉพาะประเด็นร้อน เรื่องมาตรฐานเหล็กเส้นกลม และเหล็กข้ออ้อย ที่ติดอยู่ที่คณะกรรมการวิชาการคณะที่ 9 (กว.9) คาราคาซังมานาน ตรงนี้ท่านรัฐมนตรีก็มีคำสั่งให้ตั้งคณะดูแลการกำหนดมาตรฐาน โดยเข้ามาปรับปรุงมาตรฐานมอก.20 เหล็กเส้นกลม และมอก.24 เหล็กข้ออ้อย ซึ่งเป็นเหล็กที่ใช้กันมากในวงการก่อสร้าง โดยการปรับปรุงมาตรฐานไม่กำหนดกรรมวิธีการผลิตจากเดิมผลิตด้วย เตาบลาสต์เฟอร์เนซ (Blast Furnace) เพราะการผลิตเหล็กในปัจจุบันมีหลายวิธีผลิต ซึ่งในส่วนนี้ยังอยู่ในกระบวนการของกฎหมายอยู่

ปัจจุบันสมอ.มีเหล็กที่มีมอก.แล้วไม่ต่ำกว่า 50 มาตรฐาน เป็นมาตรฐานบังคับมี 19 มาตรฐาน และจะกำหนดมาตรฐานใหม่และปรับปรุงมาตรฐานเก่ารวม 25 มาตรฐาน โดยจะให้แล้วเสร็จราว 16 มาตรฐานภายในเดือนกันยายนนี้ ตรงนี้จำเป็นต้องปรับปรุงตัวมาตรฐานใหม่ เพราะพอเวลาเปลี่ยนไปตัวมาตรฐาน เทคโนโลยี เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอด โดยเดินตามแผนแม่บท และเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการ

ปี 59 กำหนด 490 มาตรฐาน

อย่างไรก็ตามการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนั้นตามแผนแม่บทกำหนดมาตรฐานที่ทำถึงปี2564 จะมีประมาณ 1,400 มาตรฐาน แต่เฉพาะในปี2559 จะกำหนดมาตรฐานประมาณ 490 มาตรฐาน ซึ่งคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จประมาณ 307 มาตรฐานใน 37 สาขาผลิตภัณฑ์ ที่ณ วันนี้เฉพาะมาตรฐานผลิตภัณฑ์เสร็จไปแล้ว 98 มาตรฐาน ยังค้างท่ออยู่อีกกว่า 200 มาตรฐาน

ทั้งนี้ใน 307 มาตรฐานนี้จะรวม 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่หรือ New S-curve เข้าไปด้วยแล้ว เช่น ยานยนต์ การแพทย์ ดิจิตอล ฯลฯ จากเดิมที่การกำหนดมาตรฐานทำได้ช้ามาก ซึ่งตรงนี้จะเชื่อมโยงกับผู้บริโภคตรงๆ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ถ้าออกมาตรฐานแล้ว สินค้านำเข้า หรือที่ผลิตในประเทศ จะต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ต้องชกมวยรุ่นเดียวกัน เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน และต้องทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจว่ามีความปลอดภัยมากขึ้น

จะเห็นว่างานกำหนดมาตรฐานบางอย่างต้องรวดเร็ว เราต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานมากขึ้น โดยในช่วงที่เข้ามาบริหารสมอ.ก็ทำงานร่วมกับภาคเอกชนกลุ่มเหล็ก ร่วมกันกำหนดมาตรฐาน มีการประชุมทุกเดือน ซึ่งต่อไปในผลิตภัณฑ์ตัวอื่น สมอ.ก็จะใช้โมเดลเดียวกันกับที่ทำกับเหล็ก อย่างอุตสาหกรรมในสาขาไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เต้ารับ เต้าเสียบ พาวเวอร์แบงก์ เหล่านี้ที่ผ่านมายังไม่มีมาตรฐานกำหนด ตอนนี้มีมาตรฐานออกมาแล้ว แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งเต้ารับ เต้าเสียบเราผ่านกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์ไปแล้ว จากนี้ไปก็เข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาในคณะรัฐมนตรี(ครม.) ผ่านกฤษฎีกา จากนั้นก็ประกาศใช้

 MOU กับ 30 สถาบัน

เลขาธิการสมอ. กล่าวอีกว่า นอกจากความร่วมมือกับภาคเอกชนแล้ว ขณะนี้สมอ.ยังเซ็นเอ็มโอยูกับหน่วยงานอื่นๆ อีก 30 แห่ง เช่น สถาบันก่อสร้าง,สถาบันไฟฟ้าฯ,สถาบันสิ่งทอ,สวทช., สถาบันการศึกษาและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เป็นต้น เพื่อมาทำงานร่วมกันด้านงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยให้หน่วยงานเหล่านี้ยกร่างกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์มาให้สมอ.ก่อน แล้วถึงจะมาเข้าสู่กระบวนการของสมอ.ในด้านกฎหมาย พอเซ็นเอ็มโอยูเสร็จ ก็มาตั้งคณะทำงานย่อยเป็นสาขาอุตสาหกรรมไป

เร่งกำหนดมาตรฐานเหล็ก ยาง

ส่วนยางพาราที่ผ่านมามีมอก.แล้ว ทั้งตัวโปรดักต์และวิธีการทดสอบ จำนวน 139 มาตรฐาน และอยู่ระหว่างจัดทำประกาศมาตรฐานอีก 10 มาตรฐาน ใน10มาตรฐานนี้มี 4 มาตรฐานที่เน้นคือ 1. มาตรฐานแอสฟัลต์ซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพาราธรรมชาติ (ที่อยู่ระหว่างจัดทำมาตรฐาน) 2.มาตรฐานผ้าเคลือบน้ำยางสำหรับปูบ่อน้ำ(อยู่ระหว่างการพิจารณาของกวงคาดว่าจะเสนอกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(กมอ.) เดือนกันยายนนี้ 3.แผ่นพื้นสนามฟุตซอลที่ทำจากยางธรรมชาติ (ร่างเสร็จแล้วเตรียมเสนอกมอ.เดือนกรกฎาคมนี้ 4.มาตรฐานหมอนและที่นอนยาง (ร่างเสร็จเตรียมเสนอกมอ.เดือนก.ค.นี้)

นอกจากนี้ยังกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ที่จะมีเรื่องของบัญชีนวัตกรรม ตรงนี้เป็นเรื่องใหม่ที่แฝงอยู่ในเรื่องเก่า แต่จะเน้นเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นโดยคนไทย ไปขึ้นทะเบียนโดยคนไทย บริโภคในประเทศ

1ส.ค.ผ่องถ่ายงานให้14บริษัท

โดยจะเห็นว่าต่อไปนี้ภาพว่าการทำงานของสมอ.จะรวดเร็วขึ้น หลังจากผ่องถ่ายงานให้กับเอกชน ให้กับหน่วยตรวจสอบภายนอกมากขึ้น ลดขั้นตอนการทำงานให้เร็ว โปร่งใส ซึ่งเวลานี้ผ่องถ่ายงานให้กับบริษัทเอาต์ซอร์ซ 14 บริษัทที่ขึ้นทะเบียนกับสมอ.แล้ว เช่น สถาบันรองรับมาตรฐานไอเอสโอ,สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์,สถาบันยานยนต์,บริษัท เอสจีเอส(ประเทศไทย)จำกัด,บริษัท ทูฟนอร์ด(ประเทศไทย) จำกัด,บริษัท ทูฟ ซูด (ประเทศไทย) จำกัด,สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย,บริษัท โกบอล เซอร์ติฟิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด เป็นต้น มาทำการตรวจสอบ หรือมีแล็บทดสอบ ที่จะมีผลวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ที่สมอ.จะส่งมอบงานส่วนนี้ให้บริษัท เอาต์ซอร์ซ ดำเนินการ100% ใน 43 มาตรฐานบังคับจาก 170 มอก. โดยผู้ประกอบการเป็นผู้จ่ายค่าตรวจ ค่าแล็บ ส่วนสมอ.จะเป็นผู้กำหนดราคาในการทดสอบ ตรวจว่าผ่านมาตรฐานหรือไม่ พอส่งผลมีผลการตรวจสอบครบถ้วน ก็จะใช้เวลา 15 วัน ในการออกใบอนุญาตให้ ตรงนี้ก็จะลดภาระงานของสมอ.ลง พอต้นทางกำหนดมาตรฐานเร็วงานก็จะไวขึ้น

เลขาธิการสมอ.ทิ้งท้ายว่าการปรับปรุงระบบการออกมาตรฐานให้เป็นผลในทางปฏิบัติได้ชัดเจนภายในปี2559-2560 หรือในขั้นของกฎหมาย สมอ.เสนอแก้กฎหมายพ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรม 2511และพ.ร.บ.การมาตรฐานแห่งชาติ 2551ที่เดิมต้องผ่านครม. และผ่านกฤษฎีกา ก็แก้ขั้นตอนตรงนี้เป็นรัฐมนตรีประกาศ ซึ่งเรากำลังจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณา เพื่อชงเข้าครม.อีกที ให้ทันต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน อีกทั้งเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคปลายทางได้เร็วขึ้นด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,171 วันที่ 3 - 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559