ติง!ดึงเงินออมกระตุ้นศก. ต้องดูจังหวะ

04 พ.ค. 2564 | 19:10 น.

นักเศรษฐศาสตร์มอง บรรยากาศยังไม่เอื้อ ให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดึงเงินออมออกมาใช้ เหตุสถานการณ์โควิดยังไม่นิ่ง ต้องมุ่งเยียวยาก่อน รอยอดผู้ติดเชื้อตํ่า 100 รายแล้ว จึงออกมาตรการ ดึงเงินคนระดับบน-กลาง ออกมาใช้จ่าย ช่วยเข็นจีดีพีอีกแรง

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ทำให้รัฐบาลกำลังพิจารณาแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ  ด้วยการดึงเงินออมของประชาชน โดยเฉพาะบัญชีเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ระดับบนและกลางออกมาใช้จ่าย กระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม
(จีดีพี) ของในปี 2564 ให้ขยายตัวได้ 4.00%  แม้ว่าล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะปรับลดประมาณการทั้งปีจากเดิม 2.8% เหลือ 2.3%

ทั้งนี้ยอดเงินรับฝากคงค้าง แยกตามขนาดและอายุของเงินฝากของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศตามรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)พบว่า มีจำนวน 15.55 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.85% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 14.15 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากก้อนใหญ่ นำโดยตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไปเพิ่มขึ้น 18.99% วงเงินเกินกว่า 10 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 25 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 10.68% วงเงินเกินกว่า 25 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 50 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 10.23% วงเงินเกินกว่า 200 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 500 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 9.77% และวงเงินเกินกว่า 1 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 10 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 9.51%เ 

นางสาวกาญจนา  โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ข้อมูลเงินฝากของสถาบันรับฝากเงินรวมตั๋วแลกเงิน ณ กุมภาพันธ์ 2564 เพิ่มขึ้น 9.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 19.32 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 21.15 ล้านล้านบาท และหากเทียบยอดคงค้างเงินฝากของสถาบันรับฝากเงินในปี 2562-2563 พบว่า ช่วง 2ปี เงินฝากเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเมื่อเทียบอัตราเงินฝากหรือเงินออมต่อจีดีพีอยู่ที่ระดับ 134.7% ในไตรมาส 4ปีก่อน สะท้อนมูลค่าเงินออมในมือประชาชนและสถาบันมีปริมาณสูงกว่ามูลค่าของจีดีพีประเทศ 

เงินรับฝาก

นายพชรพจน์ นันทรามาศผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคาร กรุงไทยให้ข้อสังเกตุจากจากต่างประเทศว่า สัญญาณการใช้จ่ายในสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เห็นได้จากการส่งออกของไทยที่ฟื้นตัวเพิ่มในแต่ละเดือน สะท้อนว่า ผู้บริโภคที่มีความมั่นใจว่า รัฐบาลสหรัฐจะสามารถควบคุมสถานการณ์ของโควิดและการติดเยื้อได้ หรือกรณียุโรปแนวโน้มเศรษฐกิจจะเริ่มพลิกฟื้น ถ้าสามารถฉีดวัคซีนได้ตามแผนหรือเร็วกว่าแผน ส่วนไทยถ้ากระจายฉีดวัคซีนได้ตามแผน 50% ภายในสิ้นปี จะทำให้ประชาชนหรือผู้บริโภคเริ่มมีความมั่นใจ ทำให้เงินออมที่ฝากไว้จะถูกนำออกมาใช้จ่ายเองโดยธรรมชาติ 

สำหรับรูปแบบมาตรการที่จะดึงเงินออมในมือประชาชนออกมาใช้จ่ายนั้น หลักการที่ผ่านมา ภาครัฐมักจะใช้มาตรการหรือแนวทางลดหย่อนภาษีเป็นส่วนใหญ่ เพื่อกระตุ้นหรือ
จูงใจให้คนนำเงินออมออกมาใช้จ่าย เช่น กระตุ้นคนมีรายได้สูงใช้จ่าย ผ่านมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” หรือช้อปช่วยชาติ เหล่านี้ก็อยู่ในข่ายมาตรการจูงใจให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งมีกลุ่มผู้มีรายได้สูง เป็นกลุ่มเป้าหมายชัดเจนด้วยการลดหย่อนภาษี ที่สำคัญขึ้นกับการออกแบบมาตรการให้เหมาะสม เพื่อไม่กระทบความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว 

นอกจากนี้ ถ้าต้องการให้ทุกการใช้จ่ายเกิดประโยชน์ต่อประเทศ รัฐบาลอาจมีแนวคิดให้ใช้จ่ายบนสินค้าที่ผลิตในประเทศเป็นมาตรการเฉพาะ เช่น สินค้าที่ผลิตโดยเอสเอ็มอีไทย หรือสินค้าที่ผลิตในประเทศ เพราะถ้ามองในมิติสมการ ทุก 1 ล้านบาท ที่นำออกมาใช้จ่าย ถ้าเป็นสินค้าผลิตในประเทศจะเพิ่มจีดีพีได้ 1 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นสินค้านำเข้าอาจจะไม่ช่วยจีดีพีมากนัก ขณะเดียวกันอยากให้มองถึงฝั่งของผู้ประกอบการด้วย เพราะเงินฝากในระบบส่วนหนึ่งเป็นเงินฝากจากกิจการที่ชะลอการลงทุน หรือการประคองผลประกอบการได้ในช่วง 1-2 ปีนี้ 

 

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ตัวแปรหลักตอนนี้อยู่ที่วัคซีนและหยุดการติดเชื้อหรือแพร่ระบาดของโควิดระลอก3 ซึ่งในทางปฎิบัติ อยากเห็นวัคซีนและหยุดโควิดก่อน ส่วนการกระตุ้นควรจะเป็นบทบาทจากกระทรวงการคลังหรือทางรัฐบาล หรือไม่แน่ใจว่ามีข้อจำกัดเรื่องการขยายเพดานหนี้สาธารณะ 

“ถ้าเห็นจุดจบของโควิดในอีก 3-6 เดือน และการฉีดวัคซีนเป็นรูปธรรม คนจะกล้าเอาเงินออมมาใช้จ่าย ช่วงนี้รัฐบาลควรจะเยียวยาไปก่อน”นายทิมกล่าว 

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า ช่วงนี้รัฐบาลน่าจะเยียวยา หรือประคองเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้ภาคธุรกิจหยุดกิจการ หยุดการจ้างงาน เมื่อเห็นความเชื่อมั่นดีขึ้น หรือพ้น 2 เดือนนี้ไปก่อน แล้วค่อยดึงเงินออมในระบบเงินฝากออกมาช่วยหมุน การกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะเริ่มเห็นในไตรมาส 3 และ 4  น่าจะเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อตํ่า 100 ราย และกิจกรรมเศรษฐกิน่าจะเริ่มฟื้นตัว ค่อยดันการหมุนของเศรษฐกิจให้ฟื้นเร็วขึ้น

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยกล่าวว่า จุดประสงค์รัฐบาลคงมองในกลุ่มระดับบนและกลาง ถ้าสามารถควบคุมการติดเชื้อแค่หลัก 100 คนต่อวันและเริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบ กิจกรรมเศรษฐกิจจะตามมา เมื่อถึงตอนนั้น รัฐบาลจะออกมาตรการจูงใจให้ผู้มีรายได้ระดับบนระดับกลางออกมาใช้ก็เป็นจังหวะเหมาะ  

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,675 วันที่ 2 - 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564