คลังปรับจีดีพีปี 64 ลดลงเหลือ 2.3%

29 เม.ย. 2564 | 05:05 น.

คลังปรับลดจีดีพปี 64 เหลือ 2.3% จากประมาณการเดิม 2.8% จากผลกระทบของโควิดรอบใหม่

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการ(สศค.)เปิดเผยว่า สศค.ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย(จีดีพี)ปี 2564 ลดลงเหลือการขยายตัวเพียง 2.3% (ช่วงของการประมาณการ 1.8-2.8%) จากประมาณการครั้งก่อน ณ เดือนมกราคม 2564 ที่ 2.8% จากผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโรค COVID-19  ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย การเดินทางระหว่างประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย

กุลยา ตันติเตมิท ผอ.สศค.

 

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากมาตรการทางการคลังและการเงินที่ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการ เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยจะขยายตัวที่ 11.0% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 10.5-11.5% )

 

นอกจากนี้ การดำเนินมาตรการทางการคลังของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการ คนละครึ่ง โครงการ เราชนะ โครงการ ม33เรารักกัน และมาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อโควิด-19 ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประกอบกับการใช้จ่ายเงินกู้จากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ที่คาดว่า จะสามารถเบิกจ่ายในส่วนที่เหลือได้อย่างต่อเนื่อง จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภค ประคับประคองภาคธุรกิจ และรักษาระดับการจ้างงานให้สูงขึ้น 

ประมาณการจีดีพีปี64

 

ทั้งนี้คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 2.3%  ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 1.8-2.8%  และ 4.8 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 4.3-5.3%) ตามลำดับ ขณะที่การบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่  5.0% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 4.5-5.5%) และ 10.1 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 9.6-10.6%) ตามลำดับ

 

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยภายในประเทศ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 จะอยู่ที่ 1.4%  (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่0.9-1.9% ) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.2 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่   -0.3 ถึง 0.7%ของ GDP) ปรับลดลงจากปีก่อน จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และมูลค่าสินค้านำเข้าที่ปรับตัวสูงขึ้น

 

ทั้งนี้ ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1) การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในหลายประเทศที่ยังมีความรุนแรงและยืดเยื้อ 2) ข้อจำกัดในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3) ราคาน้ำมันดิบที่อาจปรับเพิ่มขึ้นได้ หากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศรุนแรงขึ้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงาน และ 4) ความผันผวนของระบบการเงินโลกและเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ

 

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีฐานะการคลังที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ ทำให้กระทรวงการคลังมีความพร้อมในการดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ประกอบกับนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการลงทุนด้านดิจิทัล และนโยบายการยกระดับปรับทักษะแรงงาน จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป